Skip to main content

“ชาวบ้านฝั่งเราบอกว่า บ้านท่าตาฝั่งนี่เหมือนกับเครื่องบินรบบินผ่านหัวเขา...ชาวบ้านแม่สามแลบก็เล่าว่ามีระเบิดมาตกอยู่ที่ปากลำห้วย ซึ่งเขาสามารถชี้จุดได้ว่ามันเป็นฝั่งไทย สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านก็เกิดคำถามว่าทำไมกองทัพอากาศหรือกองทัพไทยถึงยอมให้มาบินเฉียดเฟี้ยวฟ้าวๆ ขนาดนี้” 

“แต่ว่าเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ทางจังหวัด (แม่ฮ่องสอน) เขาก็แถลงว่าทำจดหมายไปถึงฝั่งพม่าแล้วว่าให้ระมัดระวัง เพราะไม่งั้นจะกระทบความสัมพันธ์ แต่เราก็ไม่รู้ว่าได้รับการตอบสนองแค่ไหนยังไง”

ภาสกร จำลองราช

‘ภาสกร จำลองราช’ นักข่าวผู้คร่ำหวอดในแวดวงสื่อสารมวลชนไทยมานาน และเป็นผู้ก่อตั้ง ‘สำนักข่าวชายขอบ’ ซึ่งติดตามรายงานสถานการณ์ริมชายแดนไทยและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยนานนับสิบปี บอกกับ The Opener ว่าชาวบ้านริมแม่น้ำสาละวินฝั่งไทยกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะกองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินโจมตีทางอากาศประชิดใกล้แนวชายแดนฝั่งไทยอย่างมาก แต่สังคมไทยอาจยังมองไม่เห็นภาพรวมความตึงเครียดที่กำลังก่อตัวริมชายแดน 

“ถ้าเป็นสมัยก่อนนะ อย่างน้อยคณะกรรมาธิการทหาร คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทน วุฒิสภาต้องลงไปดูพื้นที่แล้ว ซึ่งมันก็จะทำให้ข้อเท็จจริงต่างๆ ปรากฏขึ้นในอีกแง่มุมหนึ่ง ภาพกว้าง-ภาพใหญ่ก็จะเกิดขึ้นได้อีกมุมหนึ่ง แต่จนถึงวันนี้ เวลาผ่านมาแล้วตั้งแต่มีนาฯ เมษาฯ สองเดือนแล้ว มันยังไม่เห็นภาพอย่างนั้นเลย”

“นอกจากผู้อพยพกลุ่มนี้แล้วก็จะมีผู้หนีภัยจากการต่อต้านรัฐบาลพม่าเข้ามาอีก สิ่งเหล่านี้มันถูกกลบไปหมด เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะประคับประคองกระแสข่าวพวกนี้ไปได้แค่ไหน และก็ไม่รู้ว่าทำยังไงมันถึงจะกลายเป็นภาพใหญ่ได้”

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 1 ก.พ.2564 และมีการลุกฮือต่อสู้ของประชาชนเพื่อต่อต้านกองทัพซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง ลามสู่การต่อสู้ในรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมาซึ่งมีชายแดนติดกับหลายจังหวัดของไทย เพราะกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนหนึ่งต่อต้านรัฐประหารเช่นกัน แต่การปะทะต่อสู้ที่รัฐกะเหรี่ยงส่งผลกระทบต่อประชาชนตามแนวชายแดนเมียนมา ทำให้มีผู้หนีภัยการต่อสู้ข้ามมาฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก

ในฐานะสำนักข่าวอิสระที่เลือกนำเสนอประเด็นชายขอบ ทำให้สำนักข่าวชายขอบ หรือ Transborder News กระจายข้อมูลไปถึงคนอ่านไม่กว้างเท่ากับสื่อกระแสหลักที่มีฐานคนดูกว้างขวาง แต่สำนักข่าวแห่งนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่เข้าถึงแหล่งข่าวที่เป็นกองกำลังระดับสูงของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งตรึงกำลังอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐกะเหรี่ยง ทำให้เขามีข้อมูลอีกฝั่งนอกเหนือจากสิ่งที่เผยแพร่จากภาครัฐในฝั่งไทย

“เราสามารถต่อสาย ประสานไปยังผู้นำกะเหรี่ยง KNU ไปยังทหารคนโน้นคนนี้ของเคเอ็นยูได้ง่ายกว่าต่อสายมาที่ทหารไทยอีก เป็นเรื่องตลกมาก ทหารไทยไม่ยอมให้สัมภาษณ์เราหลายกรณี ซึ่งพี่ก็พยายามใช้หลายวิธีนะ พยายามใช้ทั้งการโทรคุยเอง หรือว่าให้เพื่อนๆ นักข่าวสายทหารช่วยถามให้หน่อย แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องแบบนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องตลก”

“ในอดีตเราจะเห็นทหารไทยไม่ไว้ใจทหารพม่า แล้วก็เอากลุ่มกองกำลังพวกนี้เป็นบัฟเฟอร์ เป็นรัฐกันชนซะ แต่สถานการณ์ ณ วันนี้ พอความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพพม่าเป็นไปในทางที่ดี เพราะว่ามีผู้นำที่สนิทสนมกัน...ทำให้ตัวพี่ๆ น้องๆ ที่อยู่กับเรามานาน คือกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลาย กะเหรี่ยง ไทใหญ่ อะไรพวกนี้ไม่แน่ใจว่านโยบายของรัฐไทยตอนนี้มองเขายังไง” 

“แต่ว่าคนในชายแดนน่ะ คนในสาละวิน กะเหรี่ยงสองฝั่งสาละวินคือกะเหรี่ยงเดียวกัน แต่เขาถูกแบ่งแยก ถูกผ่ากลางเพราะว่าเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่าในยุคหลัง ในรัฐสมัยใหม่ แต่ความสัมพันธ์ดั้งเดิมของเขามันคือบ้านพี่เมืองน้อง คนกลุ่มเดียวกัน ประเทศเดียวกัน เพราะฉะนั้นอยู่ๆ พอผ่าด้วยเส้นแบ่งแดนแล้วก็ไปบอกว่าไอ้นั่นเป็นคนพม่า ไอ้นี่เป็นคนไทยโดยมีบัตรประชาชนเป็นตัวกำหนด มันเป็นการแบ่งความสัมพันธ์ที่ง่ายไป หยาบเกินไป” 

“ความเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันมาเป็นร้อยๆ พันๆ ปีของพวกเขามันมีอยู่ เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ที่มันต่อเนื่องมาถึงคนไทย ประวัติศาสตร์ไทย อะไรอีกเยอะแยะมากมาย เราควรมีวิธีการในการจัดการนโยบายแบบนี้ให้มันละเอียดละออ รอบคอบกว่านี้”

Paskorn Jamlongrach/ Facebook

แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ซับซ้อนตั้งแต่ข้าว 700 กระสอบ

ภาสกรสะท้อนว่า สังคมชายขอบกำลังได้รับผลกระทบจากความอ่อนแอของสื่อมวลชนในประเทศไทย และสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณฝั่งแม่น้ำสาละวินก็เช่นกัน เพราะอยู่ไกลถึงชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน และต้องพึ่งพานักข่าวที่เป็นคนในพื้นที่ (สตริงเกอร์) เพราะสื่อใหญ่ๆ ในปัจจุบันแทบจะไม่มีงบประมาณหรือทุนสำหรับสื่อส่วนกลางลงไปเจาะข้อมูลสืบสวนสอบสวนเหมือนในยุคก่อน แต่การพึ่งพาสตริงเกอร์ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน

“นักข่าวต่างจังหวัดที่เขาอยู่ในพื้นที่ ต้องอยู่กับระบบราชการ เพราะฉะนั้นถ้าเขานำเสนออะไรที่มันล่อแหลม มันก็จะส่งผลกระทบกับตัวเขา ในพื้นที่ที่สาละวินก็เช่นกัน มันมีความสลับซับซ้อนในหลายๆ เรื่อง เพราะว่า หนึ่ง เป็นพื้นที่ชายแดน สอง มันมีอำนาจซ้อนอำนาจอยู่ในหลายมิติ มีทั้งทหารไทย มีทั้งทหารกะเหรี่ยง มีทั้งทหารพม่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันสลับซับซ้อนมาก ยากต่อการที่จะเจาะเข้าถึง”

“จริงๆ แล้วต้องเท้าความ...เรื่องสาละวินมันต้องเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องข้าว ที่เป็นข้าวปริศนาที่ไปกองอยู่ที่ท่าเรือแม่สามแลบ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม แต่พอข่าวหลุดออกมา มี The Reporter กับสำนักข่าวชายขอบที่รายงานว่าข้าวที่กองเนี่ย เป็นข้าวที่จะส่งให้กับทหารพม่า โดยผ่านดินแดนไทย... แล้วเราก็มีภาพมีหลักฐานว่าทหารไทยก็ตรวจทหารพม่าคนที่เอาข้าวลงไป มีการตรวจโควิด แต่พอข่าวเรื่องข้าวมันหลุดออกมา แม่ทัพภาค 3 นายกฯ ก็ออกมาปฏิเสธ ในที่สุดข้าวก็ไปไม่ถึงทหารพม่า ก็ต้องกลับไป แต่ก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน แล้วก็กลายเป็นข้าวปริศนาอีกเช่นเดิม คือหายแว้บไปภายใน 7 วัน”

“ปัญหาคือเมื่อข้าวไปแล้ว ทหารพม่าที่ตั้งฐานอยู่นี่ อยู่ในความอดอยาก เพราะว่าถูกกะเหรี่ยง KNU ปิดล้อมทั้งหมด เมื่อทหารกะเหรี่ยงโจมตีฐานของพม่า แล้วก็เกิดการสู้รบครั้งใหญ่ เกิดผู้อพยพจำนวนมาก อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ท้าทายนักข่าวขึ้นมาอีก เพราะว่าชาวบ้านจำนวนนับพันๆ คนอพยพมาอยู่ริมชายแดนสาละวิน แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ออก เพราะมันกลายเป็นว่ากระทรวงต่างประเทศไปเอาข้อมูลจากทหาร แล้วก็มาป่าวประกาศว่ามีชาวบ้านอยู่ไม่กี่ร้อย ข้ามมาอยู่ริมแม่น้ำสาละวินฝั่งไทย”

“แต่ภาพที่เราได้มา คนนับพัน หนีภัยสงครามมาจากเดปูหนุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการถูกโจมตี เด็ก คนแก่ อยู่ในสภาพที่ยากลำบาก พอฝนตกก็ยิ่งหนักใหญ่ สิ่งเหล่านี้มันเกิดคำถามเรื่องของมนุษยธรรม แต่รัฐไทยพยายามกดตัวเลขให้มันเล็กลงๆ เพราะเขากลัวว่าคนเหล่านี้จะมาเป็นภาระในระยะยาว วิธีการของหน่วยงานด้านความมั่นคงแล้วก็ทหารก็เลยพยายามผลักออกไป ไม่พูดถึงเรื่องนี้สักเท่าไหร่...” 

Paskorn Jamlongrach/ Facebook

เพื่อสังคมที่ส่องสว่าง: อย่าเอาอำนาจไปใส่มือใครคนใดคนหนึ่ง

ภาสกรมองย้อนถึงสภาพการทำงานของสื่อมวลชนไทยในอดีต โดยระบุว่า การกดหรือปิดบังตัวเลขผู้อพยพไม่สามารถทำได้โดยง่ายนัก เพราะฝ่ายค้านหรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะต้องลงไปดูพื้นที่และเก็บรวบรวมข้อเท็จจริง แต่สังคมไทยปัจจุบันอยู่ในสภาพอ่อนแอ และสื่อเองก็อ่อนแอ ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับความทุกข์ยากถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร และข้อเท็จจริงต่างๆ ถูกเบี่ยงเบน เหลือเพียงสื่ออิสระไม่กี่สำนักที่เกาะติดประเด็นนี้ เขาจึงมีข้อเรียกร้องถึงองค์กรสื่อให้ปรับวิธีคิดและช่วยกันเปิดเผยข้อเท็จจริงให้สังคมเกิดความกระจ่าง

“ทุนใหญ่ที่สุดที่สนับสนุนสื่ออยู่ตอนนี้ก็คือทุนจากภาครัฐที่ซื้อสปอนเซอร์ในรูปแบบต่างๆ เพราะฉะนั้นการที่จะไปหักดิบกับเจ้าของทุนมันจึงเป็นเรื่องยาก แต่จิตวิญญาณสื่อจำนวนมากยังอยู่ นักข่าวหลายคน แม้กระทั่งกอง บก.ไม่ได้สั่ง แต่เขาก็อยากดู อยากไปเห็น อยากไปสะท้อนข้อเท็จจริง น้องๆ หลายคนโทรมาปรึกษา เราก็สนับสนุน ไปเลยๆ อยากให้ไปเห็น แต่ว่ามันเป็นพื้นที่อันตราย ทุกคนก็ต้องหาทางรอดด้วยตัวเองให้ได้ รู้สึกเสียดายว่าโอกาสนี้มันควรจะเป็นโอกาสของสื่อและสังคมไทยที่จะทำให้มันเป็นผลงานเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยธรรม ในการดูแลผู้อพยพ” 

“เท่าที่พี่เห็นมา สำนักข่าวใหญ่ๆ บีบีซี เอเอฟพี รอยเตอร์ส อะไรต่างๆ พวกนี้ ลงไปหมดเลย ลงไปกันเยอะแยะ เขาเจาะถึงบ้างไม่ถึงบ้างก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่เขาลงไปแล้วก็พยายามหาข้อเท็จจริง สถานการณ์ที่สาละวินมันซับซ้อนขึ้นก็เพราะว่าการที่รัฐบาลมอบอำนาจให้กับทหารหน่วยงานเดียว คือ ทหารพราน เป็นผู้ดูพื้นที่ ทหารพรานก็ใช้วิธีสกัดกั้นสื่อมวลชน แล้วก็เอ็นจีโอหรือคนอื่นๆ ที่จะเข้าไปดูข้อเท็จจริง ดูผู้อพยพริมชายแดน เขากั้นไว้หมดเลย เขาสั่งห้าม เพราะฉะนั้น พื้นที่ตรงนั้นมันเป็นพื้นที่ที่ยาวเหยียด ริมแม่น้ำสาละวิน ผ่านประเทศไทย 118 กิโลเมตร”

“แต่ท้ายที่สุดเรากลับถอยหลังเข้าคลอง ใช้วิธีโบราณมาก ปิดกั้นสื่อ ปิดกั้นความช่วยเหลือ คิดว่าพื้นที่ร้อยกว่ากิโลฯ นั้นเป็นค่ายทหาร คิดว่าจะปกปิดข้อเท็จจริงได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ข่าวต่างๆ ภาพต่างๆ มันออกมาชุดใหญ่เลย ออกมาเพราะว่าทุกคนเป็นสื่อหมด ทุกคนมีโทรศัพท์ ผู้ลี้ภัยก็มีโทรศัพท์ มันก็เล็ดลอดเข้าไปได้  สามารถซอกแซกไปทางไหน ทหารไม่สามารถที่จะไปเป็นรั้วจับมือกันป้องกัน ไม่ได้หรอก แล้ววิธีการเดี๋ยวนี้มันเชย ด้วยวิธีการบล็อกแบบนี้ เพราะฉะนั้นข่าวมันก็เลยออกมาเยอะแยะมากมาย”

“เรื่องนี้จริงๆ แล้วมันเกิดในบ้านเรา มันเกิดในชายแดนบ้านเรา แล้วการที่อยู่ๆ เราไปลอกไปโคว้ทให้เครดิตเนื้อหาต่างๆ มาจากสำนักข่าวต่างประเทศ รอยเตอร์ส เอพี เอเอฟพี ถ้าเป็นพี่ พี่จะรู้สึกอายๆ เอ๊ย ไอ้ห่า เรื่องมันเกิดแค่ตรงนี้ บ้านกูแท้ๆ ดันจะต้องไปลอกสำนักข่าวต่างประเทศที่มาทำข่าวในไทย เพราะฉะนั้นต้องตั้งหลักให้ดี เหมือนครั้งหนึ่งที่เกิดข่าวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วสื่อไม่กล้าลงไป เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งหลักให้ดี เพราะว่าอันนั้นคือพื้นที่ของประเทศไทยที่ไม่พ้นความสามารถของนักข่าวหรอกที่จะลงไปหาข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นองค์กรสื่อควรที่จะมีการรณรงค์ เพราะยิ่งทำให้เกิดความส่องสว่างในพื้นที่มากเท่าไหร่ ข้อเท็จจริงออกมาเท่าไหร่ พี่เชื่อว่ามันจะไปทางเดียว ทำให้เกิดความชอบธรรม เกิดสิทธิมนุษยชน เกิดสิทธิมนุษยธรรมอะไรต่างๆ ขึ้นได้ในแผ่นดิน” 

“เราไม่ควรที่จะเอาอำนาจไปใส่มือใครคนใดคนหนึ่ง แล้วบอกว่าเชื่อใจคุณให้คุณบริหารจัดการพื้นที่ เพราะคุณเคยมีประสบการณ์ด้านนี้อะไรอย่างนี้ มันเชย วิธีการนี้เราเคยผิดพลาดมายาวนานแล้ว เพราะฉะนั้นมันควรจะมีวิธีจัดการมากกว่านี้ อันนี้คือองค์กรสื่อ ก็คือต้องเริ่มต้นร่วมกันเองก่อน”

“ส่วนภาครัฐเอง ข้อเสนอของหลายคนเขาก็บอกมาแล้วว่า มันไม่ควรเอาอำนาจไปไว้ในมือทหารอย่างเดียว...ในเมื่อทหารดูแลในเหตุการณ์เฉพาะหน้าแล้ว ระยะต่อไป มันก็ควรเอามาไว้ที่มหาดไทย เพราะว่ามหาดไทยก็คือจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดควรเข้ามาอย่างเต็มตัว แล้วก็เอาหน่วยงานอื่นๆ ที่ผู้ว่าดูแลในจังหวัดทั้งหลาย เข้ามาช่วยกัน ซึ่งมันก็จะได้ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา เรื่องโน้นเรื่องนี้ อะไรอีกเยอะแยะ มันเป็นภาพที่ละเมียดละไมกว่ากันเยอะมาก แล้วตรงนั้นมันก็จะทำให้เราได้รับการสรรเสริญ เพราะว่ามหาดไทยเองก็เคยมีประสบการณ์ในการดูแลค่ายต่างๆ เมื่อ 27 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น ให้มหาดไทยทำเถอะ ทหารก็เป็นผู้ให้การสนับสนุนแค่นั้นก็พอ”

Paskorn Jamlongrach/ Facebook

ทำความเข้าใจผู้อพยพหนีภัยชายแดน แตกต่างจากยุค 1988

ภาสกรระบุว่า สถานการณ์ผู้อพยพหนีภัยชายแดนไทยในช่วงหลังรัฐประหารเมียนมาเมื่อเดือน ก.พ. แตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยพม่าเมื่อปี 1988 (พ.ศ.2531) เพราะผู้อพยพในปัจจุบันไม่ได้ต้องการจะปักหลักอยู่ยาว เพราะคนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบ้านและเรือกสวนไร่นาให้ต้องกลับไปดูแล

“สมัยปี 1988 ที่ชาวบ้านจากพม่าเข้ามาแล้วไม่มีทางไป กลับที่เดิมไม่ได้เพราะพม่ายึดที่ไปหมดแล้ว แต่ครั้งนี้เขาอยู่ริมชายแดนไทย เขาข้ามมาเพราะว่าหนีภัยเครื่องบินพม่า จริงๆ เขาอยากจะกลับไปเพาะปลูก เพราะว่าหน้านี้ชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงถึงฤดทำนาปลูกข้าวกันแล้ว เขาอยากจะกลับบ้านใจจะขาดอยู่แล้ว แต่เครื่องบินรบของพม่ามันยังบินเฟี้ยวฟ้าวๆ โดรนยังลอยคอยที่จะสอดส่องอยู่ เพราะงั้นเขาก็กลับไม่ได้ เขาขอแค่มาอยู่ชั่วคราว แต่ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยกลับไปประเมิน กลัวว่าเขาจะอยู่นาน ก็เลยหาทางสกัดกั้นแล้วก็ผลักดันทุกครั้งที่มีโอกาส ทั้งๆ ที่มันยังไม่ถึงเวลาว่าเขาปลอดภัยแล้วจะให้เขากลับ คือผลักดันกลับไปแล้วหนึ่งรอบ ตอนนี้เขาก็ต้องมาใหม่อีกเพราะมันมีสงครามครั้งใหม่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงอีก”

นอกเหนือจากความพยายามผลักดันผู้อพยพหนีภัยสงครามกลับทั้งที่ยังไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย ภาสกรยังพูดถึงประเด็นโรคโควิด-19 ที่หน่วยงานความมั่นคงใช้เป็น ‘เหตุผล’ ในการปิดกั้นสื่อมวลชนและองค์กรเอ็นจีโอไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ว่าเป็นเรื่อง ‘ย้อนแย้ง’ เพราะผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ห่างไกลในป่า ไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคแต่อย่างใด

“ขอชี้แจงนิดหนึ่งนะว่าคนกะเหรี่ยงที่อยู่ฝั่งนู้น เขาอยู่ในป่าสาละวินรอบชุมชนเดปูหนุ ซึ่งอยู่ลึกมาก เปอร์เซ็นต์น้อยมากที่คนกลุ่มนี้จะมีเชื้อโควิด เพราะเขาอยู่ห่างไกลเมืองพม่ามาก เพราะฉะนั้นการที่กองกำลังทหารพราน หรือว่าสาธารณสุขเอายาพ่นไปฉีดอยู่แถวโขดหินริมสาละวินอะไรแบบนี้ พี่ว่าเป็นเรื่องตลกว่ะ ตลกมากๆ คุณน่ะควรจะฉีดตัวเองก่อนเข้าไปพบใครต่อใครที่เข้าไป ไม่ใช่ฉีดเขา แล้วไปฉีดมันได้ผลรึเปล่า ฉีดตามโขดหิน”

“มันย้อนแย้ง เขาอ้างเรื่องโควิด ไม่ให้นักข่าวเข้าไป และพยายามไม่ให้มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้อพยพกับคนข้างนอก แต่เขาไม่ได้คิดบ้างเหรอ... ถ้าสมมติคนมันหนีตาย กลัวตาย แล้วมันกระจายกันขึ้นไปในเมือง ไปไหนต่อไหนเยอะแยะ เพราะว่าแถวนั้นมันก็กะเหรี่ยงหมด...เป็นพี่เป็นน้องกันหมด ไปหาบ้านญาติที่แม่สะเรียงที่แม่ฮ่องสอน...อย่างนั้นมันไม่ยิ่งน่ากลัวกว่าเหรอ การบริหารจัดการคน แทนที่จะอยู่ในพื้นที่ อยู่ในกลุ่ม คุณกลับกดดันให้เขาต้องหนีภัย หนีตายไปเป็นแรงงานข้ามชาติ ไปเป็นผู้อพยพในพื้นที่ต่างๆ ถ้าเขามีโควิดจริงๆ มันก็ยิ่งกระจายเข้าไปใหญ่”

อีกปัจจัยหนึ่งที่ภาสกรมองว่า ‘หายไป’ จากสถานการณ์ผู้อพยพหนีภัยชายแดนไทย-เมียนมา ณ ปัจจุบัน ก็คือบทบาทของ ‘สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ’ (UNHCR) ซึ่งตามหลักแล้วมีหน้าที่รณรงค์ดูแลประเด็นที่เกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัยโดยตรง 

“ก็พยายามเขียนไปถึง UNHCR แล้วก็พยายามใช้วิธีทางการสื่อ ก็ตัดต่อ ทำคลิปวิดีโอให้เห็นภาพชาวบ้าน ให้เห็นภาพผู้ลี้ภัยที่หนีภัยที่อยู่อย่างลำบาก เพื่อจะให้ UNHCR เห็น อุตส่าห์แท็กไปอะไรไป แต่ทุกอย่างก็เงียบจ้อย แล้วก็ยังเห็น UNHCR ไทยยังมุ่งมั่นอยู่กับการรับบริจาคอยู่เหมือนเดิม อยู่หน้าเฟซ ออกมารับบริจาค ยังเห็นภาพโน้นภาพนี้ที่ไหน แต่ว่าในพื้นที่ตรงนี้กลับไม่มีการเข้าไป ไม่เข้าใจอยู่เหมือนกัน ไม่เห็นปฏิกิริยาตอบรับ ก็พยายามส่งข่าวส่งข้อมูลเข้าไปกับน้องๆ ที่เขาทำงานอยู่ UNHCR นะ แต่ว่า ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบรับสักเท่าไหร่ เข้าใจว่าคงเกรงใจรัฐบาล”

ทาง The Opener ได้ติดต่อขอสอบถามข้อมูลกับทาง UNHCR ประเทศไทย แต่ยังไม่ได้การติดต่อกลับเช่นกัน