วิริญจน์ หุตะสังกาศ
ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส มีบริเวณที่เรียกว่า ‘สลัมกาเลส์’ (Calais Jungle) ซึ่งเป็น ‘จุดพัก‘ สำหรับผู้อพยพจากแอฟริกาหรือตะวันออกกลางที่ต้องการข้ามช่องแคบอังกฤษ เพื่อไปตั้งรกรากอยู่ในสหราชอาณาจักร
สลัมแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตการปกครองปา-เดอ-กาเลส์ (Pas-de-Calais) ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในเขตนี้ก็มีสลัมลักษณะดังกล่าวตั้งอยู่หลายแห่ง เป็นปัญหารบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ทั้งปัญหาทรัพย์สินสาธารณะ ปัญหาอาชญากรรม ความเสื่อมโทรมของที่ดิน ฯลฯ จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการมาโดยตลอด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง ‘เจ้าชายน้อยแห่งกาเลส์‘ (Le Petit Prince de Calais) เขียนโดย ปาสกาล เตอลาด (Pascal Teulade) อาสาสมัครผู้เข้าไปช่วยเหลือผู้อพยพในสลัมกาเลส์ โดยเตอลาดแต่งเรื่องนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านมองปัญหาของสลัมกาเลส์ในอีกมุมหนึ่งผ่านสายตาของโจนาส เด็กชายชาวเอริเทรียอายุ 15 ปี ซึ่งต้องหนีจากการเกณฑ์ทหารร่วมสงครามที่บ้านเกิดของตนไปอาศัยอยู่บ้านญาติห่างๆ ที่ประเทศอังกฤษ
ทว่าการเดินทางข้ามทวีปตามลำพังยากลำบากนัก เพราะโจนาสพูดภาษาอื่นนอกจากภาษาติกรินยาไม่ได้เลย จึงต้องพึ่งพาผู้พาลักลอบข้ามแดน ซึ่งได้โกงเงินค่าเดินทางข้ามช่องแคบอังกฤษของเขาไป และทิ้งโจนาสไว้ที่สลัมกาเลส์ซึ่งอากาศทั้งหนาวและชื้นเพราะฝนตกหนัก ต่างจากประเทศบ้านเกิดของเขาลิบลับ
ถึงกระนั้น โจนาสก็พยายามเอาชีวิตรอด เขาเก็บขยะจากแถวนั้นมาสร้างเพิงริมหาด ไปต่อแถวขออาหารจากองค์กรการกุศลมาประทังชีวิต ซึ่งบ่อยครั้งที่เขาต้องหิวโซกว่าจะได้อาหารปริมาณเพียงน้อยนิด จนในที่สุดเขาก็ได้พบกลุ่มเด็กที่อายุน้อยกว่าตนเองเล็กน้อย ซึ่งมักแวะมาสอนคำศัพท์ต่างๆ นำขนมมาให้ และชวนเขาเล่น
แต่เด็กกลุ่มนี้ไม่เข้าใจปัญหาของโจนาส ทราบเพียงว่าเขาเป็นคนไร้บ้าน และการนำอาหารมาให้เขากินบ้างก็เพียงพอ จนวันที่เด็กกลุ่มนี้ปิดเทอมฤดูหนาวและไปเที่ยวกับครอบครัวเป็นเวลาสองสัปดาห์ พวกเขาลืมเรื่องโจนาสไปเสียสนิท และเมื่อกลับมาก็ตั้งใจว่าจะนำของขวัญคริสต์มาสไปให้โจนาส แต่พบว่าโจนาสหายไปแล้ว จึงคิดว่าเขาคงย้ายไปอยู่ที่อื่น
หากแต่ในความเป็นจริง ในช่วงวันหยุดฤดูหนาวที่ผ่านมา กระท่อมของโจนาสถูกผู้อพยพคนอื่นมารื้อขโมยเอาของที่เขานำติดตัวมาไปหมด คลื่นก็ซัดมาถึงกระท่อมจนเปียก และอากาศก็หนาวจัดจนกระทั่งโจนาสล้มป่วย ขณะที่ป่วยนั้นเขาก็คิดถึงบ้าน โดยเฉพาะน้องสาวที่กำลังอยู่ในวัยน่ารัก เขาอยากนำช็อคโกแลตกลับไปให้น้อง และในตอนท้าย วิญญาณของเขาก็ได้กลับบ้านสมใจ
จากเรื่องราวของโจนาส เราจะเห็นว่า เด็กมักมีใจเอื้อเฟื้อโดยไม่แบ่งแยกชนชั้นหรือเชื้อชาติ แต่ความโอบอ้อมอารีนั้นไม่เพียงพอ เด็กต้องเข้าใจปัญหาด้วย
หนังสือเล่มนี้จึงทำให้ผู้อ่านวัยเยาว์ตระหนักว่า ปัญหาผู้อพยพวัยเยาว์นั้นต้องการความช่วยเหลือทั้งของเด็กและของผู้ใหญ่ เนื่องจากผู้ใหญ่อาจทราบวิธีจัดการปัญหาในระดับความเป็นอยู่ของผู้อพยพได้ดีกว่า นอกจากนี้ ยังถ่ายทอดความลำบากของผู้อพยพและความจำเป้นที่ต้องมาอาศัยอยู่บนแผ่นดินฝรั่งเศสชั่วคราว เพื่อให้ผู้อ่านเห็นใจและเข้าใจผู้อพยพเหล่านี้ ไม่กีดกันหรือรังเกียจว่าเป็นปัญหาสังคมดังที่สื่อส่วนใหญ่ได้กล่าวไว้
- the Opener
- วิริญจน์ หุตะสังกาศ
- LePetitPrincedeCalais
- เจ้าชายน้อยแห่งกาเลส์
- หนังสือเด็ก
- นิทาน
- หนังสือภาพ
- ภาพประกอบ
- วรรณกรรมเด็ก
- วรรณกรรมเยาวชน
- ผู้อพยพ
- ผู้ลี้ภัย
- สลัม
- สลัมกาเลส์
- ฝรั่งเศส
- ชนชั้น
- เชื้อชาติ
- ไม่แบ่งแยก
- ธรรมชาติ
- ความเอื้อเฟื้อ
- ความโอบอ้อมอารี
- คุณภาพชีวิต
- คนจน
- ปัญหาสังคม
- อาสาสมัคร
- ความเป็นอยู่
- ความยากจน