กรีนพีซเปิดผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ระบุช่วง 6 ปีที่ผ่านมาผืนป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กลายเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10.6 ล้านไร่ และโยงกับมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดน
กรีนพีซ ประเทศไทยร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยข้อมูลการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมในรายงานฉบับล่าสุด ระบุ ในช่วงปี 2558-2563 พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด โดยการเปลี่ยนแปลงราวครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตตอนบนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
รายงาน 'ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2558-2563' ได้ขยายการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมระบบ MODIS เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และนัยยะสำคัญของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่มีต่อการกระจายตัวและความเข้มข้นของมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในช่วงปี 6 ปีที่ผ่านมา
ข้อค้นพบหลักจากรายงานมีดังนี้
- วิกฤตมลพิษ PM2.5 ยังคงเป็นความท้าทายของการจัดการมลพิษทางอากาศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะระหว่างเดือนธันวาคม และมกราคม-พฤษภาคมของทุกปี ความเข้มข้นของ PM2.5 ในระดับที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพในปี 2562 และปี 2563 ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
- ระหว่างปี 2558-2563 พื้นที่ป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดจำนวน 10.6 ล้านไร่ โดยมีมากที่สุดในเขตตอนบนของสปป.ลาว จำนวน 5,148,398 ไร่ รองลงมา คือ รัฐฉาน (เมียนมา) จำนวน 2,939,312 ไร่ และภาคเหนือตอนบนของไทย จำนวน 2,552,684 ไร่
- โดยเฉลี่ยทั้ง 6 ปี ราว 2 ใน 3 ของจุดความร้อนที่พบในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่ในพื้นที่ป่าและ ราว 1 ใน 3 (ของจุดความร้อน) พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพด เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์แต่ละปี พบว่า ปี 2558-2561 และ 2563 เป็นปีที่พบจุดความร้อนมากที่สุดในพื้นที่ป่าผลัดใบ ส่วนในปี 2562 พบจุดความร้อนมากที่สุดในพื้นที่ปลูกข้าวโพด จุดความร้อนที่พบในแต่ละประเภท การใช้ที่ดิน/สิ่งปกคลุมดินเป็นดัชนี(indicator)สำคัญในการระบุแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 และเชื่อมโยงกับการสูญเสียพื้นที่ป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ข้อมูลวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมระบบ MODIS ในการศึกษานี้สอดคล้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลของระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกโดย Global Forest Watch ที่ระบุว่า สปป. ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการสูญเสียพื้นที่ป่าดั้งเดิม (primary forest loss) มากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี พ.ศ.2563 ระหว่างปี 2544-2563 พื้นที่ป่าใน สปป.ลาว ทั้งหมดลดลง 19% คิดเป็นพื้นที่ 20.625 ล้านไร่ หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.42 ล้านตัน
การปลูกข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นการผลิตเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และเพื่อส่งออกในสัดส่วนที่มากกว่าเพื่อการเลี้ยงประชากรในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ของไทยระบุในปี 2563 ว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี โดยมูลค่าการส่งออกที่สัมพันธ์ตามมาจากการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือการส่งออกสินค้าไก่เป็นอันดับสามของโลก มีมูลค่า 3,116 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 97,903 ล้านบาท) รายงานวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดโดย UNCTAD ระบุว่า ในแขวงไชยบุรีของ สปป.ลาว เกษตรกรราว 77% ของใช้พันธุ์ Advanta’s Pacific จากไทย และอีก 28% เป็นข้าวโพด CP888 โดยส่งออกเพื่อป้อนให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในจีน เวียดนามและไทย
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า ข้อค้นพบหลักในรายงานนี้ คือเสียงย้ำเตือนอีกครั้งถึงเจตจำนงทางการเมืองของผู้กำหนดนโยบายของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการปกป้องสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน และมีมาตรการทางกฏหมายที่ให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีภาระรับผิด (accountability) ต่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดห่วงโซ่อุปทาน การผลิตและระบบอาหาร พร้อมไปกับการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดินซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ
กรีนพีซ ประเทศไทย ยังเรียกร้องให้ประชาคมอาเซียนทบทวนความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควัน (Haze-free ASEAN by 2020) และมีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวปฏิบัติที่มีความเป็นธรรมทางสังคมในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน