Skip to main content

สรุป

  • 'ส่วยวิน' บรรณาธิการบริหาร Myanmar Now สื่อดิจิทัลที่มีบทบาทในการรายงานข่าวการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารและตีแผ่การปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมในเมียนมา ได้รับรางวัลด้านสื่อสารมวลชน Shorenstein จากสถาบันในสหรัฐฯ
  • สถานการณ์ด้านสื่อสารมวลชนในเมียนมาดีขึ้นหลังปี 2555 ซึ่งมีการยกเลิกกฎหมายควบคุมการพิมพ์และการเผยแพร่ข้อมูล ทำให้มีสื่อใหม่เกิดขึ้นในเมียนมาเป็นจำนวนมาก
  • จนกระทั่งปี 2561-2564 มีการคุกคามและปิดกั้นสื่อที่ตั้งคำถามกับทั้งเครือข่ายทหารและรัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยอย่างไม่เป็นธรรม ทำใด้ดัชนีเสรีภาพสื่อในเมียนมาถดถอยลง

สถาบันวิจัยเอเชียแปซิฟิกชอเรนสไตน์ สังกัดมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (APARC) ประกาศมอบรางวัลชอเรนสไตน์ด้านสื่อมวลชน (Shorenstein Journalism Award) ประจำปี 2021 ให้แก่ 'ส่วยวิน' บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Myanmar Now ของเมียนมา อ้างอิงจากการทำข่าวสืบสวนสอบสวนตีแผ่ประเด็นทางสังคมต่างๆ ในเมียนมาอย่างต่อเนื่องช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ผลงานที่สำคัญของส่วยวิน ได้แก่ การเกาะติดรายงานข่าวเกี่ยวกับการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงประชาชนของผู้มีอำนาจในแวดวงต่างๆ รวมถึงความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรม  และการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่ทรงอิทธิพลในสังคมเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามถึงอุดมการณ์สุดโต่งที่อ้างหลักพุทธศาสนาของพระวีระธุ พระสงฆ์ผู้เรียกร้องให้สังหารชาวโรฮิงญา การละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา และล่าสุดคือการรายงานข่าวผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา

การปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนโดยไม่ยอมจำนนต่อรัฐบาลทหาร ทำให้ส่วยวินและผู้สื่อข่าวคนอื่นๆ ของเมียนมานาวตกเป็นเป้าคุกคามจากผู้มีอำนาจรัฐ ทำให้หลายคนต้องลี้ภัยและไม่อาจเปิดเผยที่อยู่ในปัจจุบันได้ แต่ยังคงทำหน้าที่สื่อมวลชนในการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารเมียนมาทำให้ APARC พิจารณามอบรางวัลชอเรนสไตน์ด้านสื่อมวลชนในปีนี้ให้แก่ส่วยวิน

อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของส่วยวิน คือ การเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นนักศึกษา ประมาณปี 2540 เมียนมายังตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร เขาเป็นคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจในทางมิชอบ นำไปสู่การถูกจับกุมและคุมขังอยู่นาน 7 ปีในข้อหาที่เกี่ยวกับ 'ความมั่นคงของชาติ' เมื่อได้รับการปล่อยตัว เขาไปเรียนต่อจนจบปริญญาโทด้านวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง หลังจากนั้นก็ทำหน้าที่สื่อมวลชนในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วยวิน (Swe Win) บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Myanmar Now

 

เมื่อปี 2562 ส่วยวินได้รับรางวัลรามอนแม็กไซไซ สาขาผู้นำที่โดดเด่น และก่อนหน้านั้นในปี 2560 ได้รับรางวัลชูมานด้านสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป และปี 2559 ได้รับประกาศนียบัตรเกียรติยศจากกระทรวงสารสนเทศแห่งเมียนมา จากการรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนการละเมิดสิทธิแรงงานในร้านเสื้อผ้าในนครย่างกุ้ง ทั้งยังมีผลงานเผยแพร่ในสื่อต่างประเทศอีกหลายแห่ง 

ส่วนรางวัลชอเรนสไตน์ด้านสิทธิมนุษยชนมีเงินสนับสนุนการทำงานด้านสื่อ รวม 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 300,000 บาท) ให้แก่ผู้ได้รับรางวัล โดยชื่อรางวัลนี้ตั้งขึ้นตามนามสกุลของ 'วอลเตอร์ เอช. ชอเรนสไตน์' ผู้สนับสนุนการตั้งสถาบัน APARC เพื่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจเอเชีย และ 'กีอุกชิน' ผู้อำนวยการสถาบันคนปัจจุบันระบุว่า ปีนี้เป็นปีที่ 20 ของการมอบรางวัลดังกล่าว

ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศ 'ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน' (RSF) ผู้จัดทำดัชนีเสรีภาพสื่อ (Press Freedom Index) ชี้ว่า 'เอเชียแปซิฟิก' กลายเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วย 'ผู้คุกคามเสรีภาพสื่อ' และการมอบรางวัลสนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชนเป็นสิ่งที่ต้องขอบคุณอย่างยิ่ง

ก่อนหน้านี้ RSF สรุปสถานการณ์ด้านสื่อมวลชนในเมียนมาเอาไว้ในดัชนีเสรีภาพสื่อ 2021 ที่เผยแพร่ตั้งแต่ต้นปี 2564 พบว่าเสรีภาพสื่อในเมียนมามีอันดับดีขึ้นมากช่วงปี 2556 - 2560 ซึ่งได้มีการยกเลิกกฎหมายควบคุมการพิมพ์และเผยแพร่ข้อมูลของสื่อในประเทศเมียนมา และในช่วงเวลาดังกล่าวมีสื่อเกิดใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล

จนะกระทั่งปี 2561 เริ่มมีการจับกุมสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวเชิงวิพากษ์และตีแผ่เครือข่ายทหารและธุรกิจที่มีอิทธิพลในเมียนมา รวมถึงการคุกคามสื่อที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา และในปี 2563-2564 มีการตัดอินเทอร์เน็ตชั่วคราวเพื่อปิดกั้นการเข้าถึงสื่อ รวมถึงจับกุมนักข่าวเพิ่มขึ้น และสถานการณ์ในช่วงหลังรัฐประหาร 1 ก.พ.2564 ทำให้สื่อมวลชนในเมียนมาเสี่ยงต่อการถูกคุกคามมากขึ้น