สรุป
- ภาคีนักเรียนสื่อ ออกแถลงการณ์เรียกร้องการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการชุมนุมต่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
- แถลงการณ์เรียกร้องสื่อมวลชนยืนยันหลักการ และประณามองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ไม่ยืนหยัดเพื่อสิทธิเสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อมวลชนภาคสนาม
- ตัวแทนสมาคมนักข่าวฯ แจงกรณียิงกระสุนยางในการชุมนุม เห็นไม่ชัดว่าใครยิง เจ้าหน้าที่ตำรวจเจตนายิงผู้สื่อข่าวจริงหรือไม่ แต่กรณีลุงพลเห็นได้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ
- ตัวแทนสหภาพแรงงานผู้สื่อข่าว ชี้แจงต่อ เหตุการณ์สลายการชุมนุม 20 มี.ค. เป็นบรรทัดฐานปฏิบัติสากลอยู่แล้ว ทีมข่าวต้องวางแผนการทำข่าวในสนามล่วงหน้า ประเมินสถานการณ์บริหารความเสี่ยงให้ได้
ภาคีนักเรียนสื่อ ประกอบด้วยตัวแทนนิสิตนักศึกษา จากคณะนิเทศศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เข้ายื่นหนังสือแถลงการณ์ภาคีนักเรียนสื่อ เรื่อง เรียกร้องการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อมวลชน ในการรายงานข่าวการชุมนุม ต่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เบื้องต้นตัวแทนภาคีนักเรียนสื่อได้อ่านแถลงการณ์ตามลำดับ มีสาระสำคัญดังนี้
1. เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงออกอย่างสันติย่อมได้รับการรับรองในสังคมประชาธิปไตย การสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ จึงขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว และยืนยันในหลักการข้างต้นให้ประชาชนรับทราบเสมอ
2. ขอประณามองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อันได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ที่ไม่ยืนหยัดเพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อมวลชนภาคสนาม
3. ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่งเสริมให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการชุมนุมทางการเมืองได้อย่างหลากหลาย ตรงไปตรงมา ทันต่อเหตุการณ์ และโดยปราศจากการครอบงำ
4. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสดงความรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม และพึงปฏิบัติต่อสื่อมวลชนด้วยความเคารพในเสรีภาพในการรายงานข่าว
ภายหลังตัวแทนภาคีอ่านแถลงการณ์เสร็จ ตัวแทนสมาคมนักข่าวฯ กล่าวตอบรับ ชื่นชม และเห็นด้วยกับหลักการในแถลงการณ์บางประการ เช่น การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้สื่อข่าว แต่ในแถลงการณ์ยังมีข้อมูลคลาดเคลื่อนอยู่ ซึ่งตัวแทนสมาคมนักข่าวได้อธิบายดังนี้
ในประเด็นการเปรียบเทียบการเสนอข่าวลุงพลที่องค์กรสื่อได้ออกแถลงการณ์ประณามและกรณีการใช้กระสุนยางเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ใน 'กรณีของลุงพล' สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้กระทำ-ผู้ถูกกระทำ แต่ 'กรณีการยิงกระสุนยางในการชุมนุม' เห็นได้ไม่ชัดว่าใครเป็นคนยิง เจ้าหน้าที่ตำรวจเจตนายิงผู้สื่อข่าวจริงหรือไม่
ส่วนในประเด็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้สื่อข่าวที่สืบเนื่องจากการใช้กระสุนยาง ตัวแทนจากสมาคมนักข่าวฯ ชี้แจงว่าผู้ก่อเหตุฝ่ายตำรวจอาจไม่ได้มาจากฝ่ายนโยบาย แต่อาจมาจากตำรวจบางนาย เช่นเดียวกับผู้ก่อเหตุฝ่ายผู้ชุมนุมก็อาจมาจากผู้ชุมนุมเพียงบางรายหรือมือที่สาม ดังนั้น การนำเสนอข่าวจึงต้องพิจารณาถึงบริบทให้ครบถ้วนรอบด้าน
สำหรับการเสนอข่าวข้อเท็จจริง ตัวแทนจากสมาคมนักข่าวเห็นด้วยว่าสื่อมวลชนควรนำเสนอข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย อาจนำเสนอเท่ากันทั้งสองฝ่าย เพื่อปกป้องผู้ชุมนุมและให้ความเป็นธรรมกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ ตัวแทนสมาคมนักข่าวฯ ก็ได้ให้ข้อสังเกตว่า การชุมนุมควรดำรงอยู่ในรูปแบบอารยะสันติวิธี ซึ่งจะเป็นเกราะกำบังมิให้ฝ่ายรัฐใช้กำลังความรุนแรง คำนึงถึงความปลอดภัย
ต่อมาเลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ และอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ชื่นชมภาคีนักเรียนสื่อในฐานะความหวังขององค์กรวิชาชีพที่มุ่งมั่นตรวจสอบวิชาชีพและสังคม และได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในกรณีการขอพื้นที่ปลอดภัยในการรายงานข่าว สมาคมนักข่าวฯ มีความพยายามหาทางออกกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลว่า แม้ตำรวจจะปฏิบัติหน้าที่ แต่สื่อมวลชนต้องสามารถทำงานได้ทุกสำนักและในทุกพื้นที่ และทางสมาคมจะไม่ขอรับปลอกแขนสื่อที่จัดทำโดยตำรวจให้ผู้สื่อข่าวโดยเฉพาะ
ตัวแทนจากสหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวชี้แจงต่อว่า ในข้อสามของแถลงการณ์องค์กรวิชาชีพสื่อจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. นั้น เป็นบรรทัดฐานปฏิบัติสากลอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไม่ปลอดภัยแล้วจะทำข่าวไม่ได้ แต่ทีมข่าวนั้นจะต้องวางแผนการทำข่าวในสนามนั้นล่วงหน้า ประเมินสถานการณ์ และบริหารความเสี่ยงให้ได้ องค์กรวิชาชีพทำได้แค่ส่งเสียงเตือนและเน้นย้ำมาตรฐานความปลอดภัยเท่านั้น
ในช่วงการพูดคุย ตัวแทนภาคีนักเรียนสื่อสอบถามเกี่ยวกับการใช้เสื้อเกราะป้องกันความปลอดภัย สมาคมนักข่าวฯ ชี้แจงว่า เสื้อเกราะถือเป็นยุทธภัณฑ์ที่ถูกห้ามมิให้ใช้ในราชอาณาจักรเว้นแต่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีความพยายามที่จะต่อรองกับหน่วยงานด้านความมั่นคงให้อนุโลมมาหลายครั้งหลายปี แต่ไม่เคยได้รับอนุญาต อย่างไรก็ดี ในตอนนี้ทางสมาคมก็ยังคงพยายามขออนุญาตอยู่ตลอด
ในตอนท้าย ภาคีนักเรียนสื่อเน้นย้ำว่า อะไรที่ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ต้องเสนอกันอย่างตรงไปตรงมา การออกมาเรียกร้องนี้ไม่ใช่สร้างความเกลียดชัง แต่เพื่อถ่วงดุลเพื่อให้เกิดการแก้ไขพัฒนา และทั้งภาคีนักเรียนสื่อและสมามคมนักข่าวฯ ก็จะติดต่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันต่อไปในอนาคตข้างหน้า พร้อมทั้งยืนยันถึงหลักการความปลอดภัยในความปลอดภัยของสื่อมวลชนร่วมกัน