Skip to main content

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม กลายเป็นเรื่องที่ผิดคาดทั้งกระดานการเมืองไทย เมื่อพรรคก้าวไกล ผงาดชนะเลือกตั้ง เหนือกระแส “แลนด์สไลด์” อย่าง พรรคเพื่อไทย กระแส “รักลุง” ทั้ง พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ รวมไปถึกระแส “ดูด” อย่างพรรคภูมิใจไทย

ก่อนหน้านี้ พรรคภูมิใจไทย แสดงความพร้อมอย่างแรงกล้าในการเป็นพรรครัฐบาล ด้วยการดูดอดีตผู้สมัคร/อดีต ส.ส. เข้ามาร่วมพรรคกว่า 30 กว่าคนi จนพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ค่อนคอดว่า “ตกปลาในบ่อเพื่อน” ซึ่งผลออกมา กลายเป็นว่า พรรคภูมิใจไทยที่พยายามตั้งเป้าให้ได้ 100 ที่นั่งขึ้นไป กลับได้เพียง 70 ที่นั่ง ซึ่งถึงแม้จะมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในส่วนของ ส.ส. เขต อิทธิพลบ้านใหญ่ยังคงมีผลให้พรรคสีน้ำเงินพรรคนี้ ยังมีชีวิตอยู่ในทางการเมือง อาทิ บุรีรัมย์ เมืองหลวงของพรรค, พิจิตร, อุทัยธานี, อ่างทอง, กระบี่, สตูล เป็นต้น และหากไม่ผิดพลาด อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค อาจจะต้องเป็น “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” อย่างเสียไม่ได้ ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน

หากดูพงศาวดารการเมืองไทย พรรคภูมิใจไทย ก่อตั้งมาด้วยสถานการณ์ที่ขัดแย้งของการเมืองไทย โดยมาจากการแยกตัวหลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบของกลุ่มอีสานพัฒนา-เพื่อนเนวิน โดยมีเนวิน ชิดชอบ เป็น “Dealmaker” ในการประสานงานกับพรรคประชาธิปัตย์ในการร่วมรัฐบาล ซึ่งหลายคนมองว่า เป็นการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และถูกกลุ่มคนเสื้อแดง ตราหน้าว่า “ทรยศ” จนกลายเป็นชนวนเหตุของการชุมนุมในปี 2553 ที่ทำให้มีผู้สูญเสียเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ในแง่ผลงานการได้ ได้กระทรวงเกรด เอ ชนิดที่พรรคแกนนำถึงกับมองค้อน ทั้งกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์ กลายเป็นเป้าหนึ่งที่ทำให้ รัฐบาลถูกฝ่ายค้านโจมตีจากกรณีการทุจริตต่อเนื่องในกระทรวงดังกล่าว และส่งผลกระทบร้ายแรงต่ออนาคตของพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้ง 2554 ที่ถูกกระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทยโจมตีและแพ้อย่างย่อยยับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หากมองด้วยบทบาทหน้าที่ พรรคภูมิใจไทย ในรัฐสภาเวลานั้น แทบไม่ได้สร้างบทบาทอะไรมากนัก แต่มีบทบาทในเชิงการดีลทางการเมือง โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจปี 2555 พรรคประกาศไม่ร่วมอภิปรายฯ และพร้อมยกมือโหวต "ไว้วางใจ" ซึ่งไม่ปกตินักสำหรับการทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้าน ในกรณีที่จะไปไว้วางใจรัฐบาล จนมีข่าวคราวว่า จะไป “เสียบ” แทนพรรคใดพรรคหนึ่งหรือไม่?

กระทั่งหลังการพ้นโทษแบนของสมาชิกบ้าน 111 ทำให้โครงสร้างพรรคมีการเปลี่ยนแปลง โดยอนุทิน ชาญวีรกูล ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค และศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชายเนวิน ชิดชอบ เป็นเลขาธิการพรรค โดยต่างรู้กันดีว่า เนวิน ถือเป็น "ครูใหญ่" และมีบทบาทการตัดสินใจของพรรคไม่น้อย

การเลือกตั้งเมื่อ 22 พฤษภาคม 2562 พรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนเสียงกว่า 3,734,459 คะแนน คิดเป็น 51 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร โดยก่อนหน้านี้ อนุทินเคยประกาศว่าจะสนับสนุนพรรคที่ได้เสียงข้างมาก เป็นพรรครัฐบาล แต่ทว่าเจ้าตัวจะนำพาพรรค เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ที่เวลานั้น ยังรวมได้ไม่ถึง 250 ก่อนจะอ้างเหตุผลในเวลาต่อมาว่า “ปิดสวิช คสช.”

ผลการเลือกตั้งที่ออกมา พรรคก้าวไกล ยืนยันชัดเจนในการรวมเสียง 313 เสียงจาก 8 พรรคการเมือง ขณะที่พรรคภูมิใจไทยที่มีท่าที “ตามมารยาท” และ “สงวนท่าที” แต่ด้วยกระแสความไม่พอใจของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีต ส.ส. เกี่ยวกับนโยบายกัญชา ทำให้พรรคก้าวไกลเมื่อประกาศยืนยันชัดเจน พรรคภูมิใจไทย ที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล จึงออกแถลงการณ์แก้เกี้ยว โดยใช้ประเด็นการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นข้ออ้างในการไม่ร่วมรัฐบาล

หากมองในมิติการเมือง การมี “งูเห่า” (ส.ส.ที่ย้ายไปสังกัดขั้วตรงข้าม) ไม่ได้มีเป็นครั้งแรกในยุคนี้ หากแต่ด้วยเป็นสิ่งที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสืบเนื่องมากจากสถานการณ์การเมืองไทยที่ ไม่อาจเรียกได้ว่า มีความเป็น “ประชาธิปไตย” ที่ยั่งยืนได้ มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง จนมีคำศัพท์ที่เรียกกันว่า “ธนาธิปไตย”

จนกระทั่งการกำเนิดของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีส่วนร่วมในการสร้างพรรคการเมือง ให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง ซึ่งมองในมุมหนึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี ที่จะเอื้อให้บรรยากาศทางการเมืองได้เติบโตอย่างแข็งแรง โดยที่พรรคไทยรักไทย ในระยะแรก ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น แต่ในเวลาต่อมาเมื่อพรรคไทยรักไทย ได้ควบรวมกับพรรคการเมือง และกลุ่มก้อนต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นปึกแผ่น แต่รัฐบาล 4 ปีหลังของรัฐบาลไทยรักไทย มีปัญหาทั้งศึกนอกและ ศึกใน จนสุดท้ายเกิดความ “เว้นวรรคทางการเมือง” ก่อนจะถูกยุบ ตั้งพรรคใหม่ และแตกหน่อเป็นพรรคนั้นพรรคนี้เต็มไปหมด

สำหรับพรรคภูมิใจไทยเอง พูดถึง คือในแง่ของการดึง ส.ส. มาจากพรรคการเมืองอื่นๆ ในสภา โดยเฉพาะการดึง ส.ส.จากฝ่ายค้าน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “งูเห่า” เข้ามาร่วมมุ้ง โดยมีการแฉว่า มีการ “ซื้อตัว” ส.ส.ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ จนเป็นข่าวครึกโครม ซึ่งเรื่องนี้ อนุทิน ในฐานะหัวหน้าพรรค บอกกับสื่อว่า "ภูมิใจไทยมีดีด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องไปหยิบยื่นข้อเสนอ“ ซึ่งต่อมาก่อนการเลือกตั้งในปี 2566 มี ส.ส. จากพรรคอื่นกว่า 30 ราย เข้ามาร่วมงานกับพรรค ในแง่หนึ่ง คือ การสะท้อนปัญหาในการเมืองไทย ยังวนเวียนไม่พ้นในการใช้เงินซื้อสิทธิ ซื้อเสียงโหวตในสภา รวมไปถึง การซื้อตัว ส.ส. เพื่อหวังจะใช้คะแนนเสียง ส.ส. เขตสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่เอาเข้าจริงแผนของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ กลับไม่สามารถปูทางสู่ชัยชนะการเลือกตั้ง แม้จะชนะที่นั่งในเขตภาคใต้และภาคอีสานมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีข้อกังขาประเด็นของการซื้อเสียงจน มีรายงานข่าวว่า กกต. ชะลอการรับรอง ส.ส. ซึ่งพรรคภูมิใจไทย มีจำนวนมากถึง 21 เขต

จากสรุปทั้งหมด แนวทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทยที่ ยังไงก็ไม่เข้ากัน โดยเฉพาะกระแสกัญชา และผลงานการบริหาร ที่พรรคก้าวไกล โจมตีต่อเนื่อง ความกินแหนงแคลงใจจากกรณี “งูเห่า” โดยรวมทั้งหมด อาจจะมองได้ว่า ชาตินี้ พรรคภูมิใจไทยกับพรรคก้าวไกล ยังไงโอกาสก็คงจะไม่มีทางเข้ากัน ไม่ทางรวมกัน

บางที เรื่องของ “มีลุงไม่มีเรา” อาจจะต้อง “มีเราต้องไม่มีลุง(และหนู)” ด้วย

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ชาติ ดุริยะ นักเขียนประจำกอง บก. ดิโอเพนเนอร์ นักขุดข้อมูลการเมืองและพรรคการเมือง