Skip to main content

หลังการรัฐประหารเดือน ก.ย.2549 พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งในการเลือกตั้งปลายปี 2554 ด้วยคะแนน 15.7 ล้านเสียง จำนวน ส.ส. 265 คน ภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

พ.ย.2556 เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน หลังรัฐบาลออก ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย’ หรือ 'นิรโทษกรรมเหมาเข่ง' ซึ่งมีเนื้อหานิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมือง โดยยกเว้นความผิดตามมาตรา 112

ขบวนการเคลื่อนไหวประท้วงที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ 'ลุงกำนัน' อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มออกมาชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.สุดซอยดังกล่าว โดยชี้ว่าเพื่อต่อต้านการนำ 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีและพี่ชายของยิ่งลักษณ์ที่ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 กลับประเทศ รวมถึงต้องการขจัด 'ระบอบทักษิณ' ให้หมดสิ้นไป

ขบวนการดังกล่าวเปลี่ยนมาใช้ชื่อ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.ในเวลาต่อมา โดยมีธงชาติและนกหวีดเป็นสัญลักษณ์สำคัญของผู้ชุมนุมและผู้สนับสนุน

 

ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง Shutdown Bangkok และสงครามครั้งสุดท้าย 

การกดดันอย่างหนักจาก กปปส. ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตัดสินใจยุบสภาในวันที่ 9 ธ.ค.2556 และประกาศวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 ก.พ.2557 โดยรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ต่อในฐานะรัฐบาลรักษาการณ์ แต่กลับมีข้อเรียกร้องจาก กปปส.และกลุ่ม 40 ส.ว.ที่นำโดยสมชาย แสวงการ ไพบูลย์ นิติตะวัน และรสนา โตสิตระกูล ให้ยิ่งลักษณ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที

ขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์โดดเข้าร่วมกับ กปปส. โดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงเลือกตั้งในทุกเขต ขณะที่ กปปส.ประกาศว่า จะต้องไม่มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. มีการปิดล้อมศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เพื่อขัดขวางการรับสมัคร ส.ส. และเริ่มมีการเรียกร้องกองทัพให้ทำรัฐประหาร

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น สุเทพ ประกาศคำขวัญ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ และจัดตั้งสภาประชาชนขึ้นมาเพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยวลีดังกล่าวถูกใช้ในการเคลื่อนไหวตลอดการชุมนุมอันยาวนาน 204 วันของ กปปส.

13 ม.ค.2557 กลุ่มผู้ชุมนุม กกปส.เคลื่อนขบวนกระจายตัวไปทั่วกรุงเทพฯ ภายใต้ปฏิบัติการ 'Shutdown Bangkok' มีการปิดถนนตั้งเวทีปราศรัยบริเวณ 7 แยกสำคัญ ได้แก่ แจ้งวัฒนะ ห้าแยกลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกปทุมวัน สวนลุมพินี แยกอโศก และแยกราชประสงค์ รวมถึงบุกยึดสถานที่ราชการต่างๆ รวมถึงศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเพื่อไม่ให้ข้าราชการปฏิบัติงานได้

ผลจากการปักหลักชุมนุมยืดเยื้อตามแยกสำคัญสำคัญของกรุงเทพฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรอบ หลายประเทศประกาศเตือนพลเมืองที่จะมาท่องเที่ยวประเทศไทยให้คำนึงถึงความปลอดภัย โรงแรมย่านราชประสงค์และพื้นที่โดยรอบไม่มีแขกเข้าพัก พนักงานของโรงแรมจำนวนมากตกงาน นอกจากนั้น ยังเกิดการใช้ความรุนแรง การทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินโดยกลุ่มผู้ชุมนุม เกิดขึ้นเป็นข่าวประจำเกือบทุกวัน

ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า 26 ม.ค.2557 กปปส.ใช้กลยุทธ์ดาวกระจายปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งและสถานที่ลงคะแนนต่างๆ ขณะที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิพยายามฝ่ากลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในคูหา มีการใช้ทั้งสันติวิธีและกำลังในการขัดขวาง ดังที่มีภาพ 'ป้าไฟฉาย' ที่ถือไฟฉายขนาดใหญ่พยายามลุยฝ่าผู้ชุมนุมเข้าไปใช้สิทธิลงคะแนน นับเป็นการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ยากลำบากและทุลักทุเลที่สุด

ก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน เกิดการปะทะกันที่บริเวณแยกหลักสี่ในกรุงเทพฯ กลุ่มชายจากฝั่ง กปปส.ซึ่งสวมเสื้อเกราะเบาถืออาวุธปืนยาวยิงเข้าใส่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมาชุมนุม มีผู้ถูกลูกหลง เช่น อะแกว แซ่ลิ้ว ถูกยิงเสียชีวิตที่บริเวณห้างไอทีสแควร์ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน เหตุการณ์นี้เกิดวีรบุรุษ กปปส.คือ 'มือปืนป๊อปคอร์น' ซึ่งต่อมาถูกจับกุมดำเนินคดี

คืนก่อนการเลือกตั้ง ที่ภาคใต้มีบัตรและหีบเลือกตั้งจำนวนหนึ่งถูกปล้นและนำไปทิ้งน้ำ และในวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. มีการขัดขวางจากผู้ชุมนุมตามหน่วยเลือกตั้งในหลายเขตของกรุงเทพฯ จนเกิดความโกลาหลทั่วไป

ผลการเลือกตั้ง 2 ก.พ.มีจำนวนหน่วยเลือกตั้งที่สามารถเปิดให้ลงคะแนนได้ 83,813 หน่วย จากทั้งหมด 93,952 หน่วย คิดเป็น 89.2 เปอร์เซ็นต์ แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะ

 

ถึงเวลาทำรัฐประหาร

ในการชุมนุมการยืดเยื้อของ กปปส. มีการพยายามสร้างความรุนแรง สร้างเหตุการณ์ปะทะหลายครั้ง เพื่อเปิดทางให้ให้กองทัพเข้ามาทำการรัฐประหาร

20 พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) มีการควบคุมสื่อ รวมทั้งเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต

21-22 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ เรียกประชุมผู้แทนรัฐบาล, วุฒิสภา, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, นปช. และ กปปส. ที่สโมสรทหารบก เพื่อหาข้อสรุปความขัดแย้งทางการเมือง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้

ในเวลา 16.30 น.ของวันที่ 22 พ.ค.2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจกลางที่ประชุม และควบคุมตัวผู้เข้าร่วมประชุม ไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เข้าควบคุมประเทศ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้ระบอบ คสช. และประกาศ 'ขอเวลาไม่นาน' - 'ขอคืนความสุขให้ประชาชน' รวมเป็นเวลากว่า 5 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์นั่งเก้าอี้หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งประกาศให้เลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นมรดก คสช.รวมถึงวุฒิสภา 250 คน

หลังการเลือกตั้ง 2562 พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการโหวตของ 250 ส.ว.และพรรคร่วมรัฐบาล และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจากปี 2557 มาจนกระทั่งปี 2566 รวมเวลา 9 ปี ก่อนจะพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนมากกว่า 15 ล้านเสียงเทให้กับพรรคก้าวไกล ขึ้นเป็นอันดับ 1 และเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล

หลังประเทศอยู่ภายใต้เสียงนกหวีด ความรุนแรง การรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจ เมือการเลือกตั้ง 14 พ.ค.ผ่านไป ขณะนี้หลายคนบอกว่า เริ่ม 'ได้กลิ่นของความเจริญ' แล้ว