Skip to main content

ก่อนเปิดศึกชิงชัยเลือกตั้ง 2566 ข่าวการแตกรัง-ย้ายรังของทั้ง ส.ส.และอดีต ส.ส.ภายใต้สังกัดพรรคต่างๆ ภูมิใจไทย เป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่ถูกจับตาในเรื่องของการแย่งชิงตัวผู้สมัครให้มาเข้าสังกัดพรรค Rocket Media Lab ทำการสำรวจข้อมูลผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า มีผู้สมัครหน้าเก่าที่ย้ายมาสวมเสื้อภูมิใจไทยมากถึง 128 คน โดยส่วนใหญ่มากจากพรรคพลังประชารัฐ 46 คน

ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ มี 387 คน จากการรวบรวมข้อมูลโดย Rocket Media Lab ซึ่งเป็นข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า ผู้สมัครหน้าใหม่มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 183 คน หรือคิดเป็น 47.29% รองลงมาเป็นผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 128 คน คิดเป็น 33.07% และตามมาด้วยผู้สมัครหน้าเดิมของพรรคเพียง 76 คน คิดเป็น 19.64%

สำหรับผู้สมัคร ส.ส. เขต 128 คนที่ย้ายค่ายเข้ามาอยู่ภายใต้สังกัดภูมิใจไทย ในการเลือกตั้ง 2566 Rocket Media พบว่า มาจากพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลปัจจุบันเป็นจำนวนมากที่สุด รองลงมา มาจากพรรคเพื่อไทย และก้าวไกล ดังนี้

  1. พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 46 คน คิดเป็น 35.94%
  2. พรรคพลังเพื่อไทย จำนวน 19 คน คิดเป็น 14.84%
  3. พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล จำนวน 17 คน คิดเป็น 13.28%
  4. พรรคพลังประชาธิปัตย์ จำนวน 8 คน คิดเป็น 6.25%
  5. พรรคชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ เพื่อชาติ และเสรีรวมไทย พรรคละ 3 คน คิดเป็น 2.34 %
  6. พรรคประชาธิปไตยใหม่ พลเมืองไทย และพลังชาติไทย พรรคละ 2 คน คิดเป็น 1.56%
  7. พรรคความหวังใหม่ ชาติพัฒนา ไทรักธรรม ประชาภิวัฒน์ ประชาราช พลังไทสร้างชาติ พลังธรรมใหม่ พัฒนาประเทศไทย ภูมิพลังเกษตรกรไทย ราษฎร และพรรคเสรีธรรม พรรคละ 1 คน คิดเป็น 0.78%

ส่วนผู้สมัคร ส.ส.หน้าเดิม 76 คนของพรรคภูมิใจไทยในการลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ Rocket Media พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งเป็น ส.ส.เก่าของพรรคจากการเลือกตั้งปี 2562 ร่วมกับอดีตผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ หน้า ดังนี้

  1.  ส.ส. พรรคภูมิใจไทยเดิมจากปี 2562 จำนวน 35 คน คิดเป็น 46.05%
  2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทยเดิมจากปี 2562 จำนวน 29 คน คิดเป็น 38.15%
  3. อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 1 คน คิดเป็น 1.32%
  4. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 1 คน คิดเป็น 1.32%
  5. อดีต ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 3 คน คิดเป็น 3.95%
  6. อดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 7 คน คิดเป็น 9.21%

ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ในระบบแบ่งเขตที่ลงชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ 183 คน เกือบครึ่งหนึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น รองลงมาคือ นักธุรกิจ และอดีตข้าราชการ

  1. นักการเมืองระดับท้องถิ่น 85 คน คิดเป็น 46.45%
  2. นักธุรกิจ 28 คน คิดเป็น 15.3%
  3. ประกอบอาชีพส่วนตัว 27 คน คิดเป็น 14.75%
  4. ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 25 คน คิดเป็น 13.66%
  5. ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 22 คน คิดเป็น 12.02%
  6. เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ 20 คน คิดเป็น 10.93%
  7. เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น 10 คน คิดเป็น 5.46%
  8. บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม 5 คน คิดเป็น 2.73%
  9. นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม 4 คน คิดเป็น 2.19%
  10. นักวิชาการ/นักวิจัย 3 คน คิดเป็น 1.64%

ส่วนผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย 98 คน Rocket Media พบว่า เป็นผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุดถึง 40 คน ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการประจำ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐมาก่อนมากที่สุด รองลงมาก็คือ นักการเมืองระดับท้องถิ่น และนักธุรกิจ

 

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3/