เพชรบุรี เป็นแหล่งรวบรวมช่างฝีมือศิลปะโบราณ หรือสกุลช่างฝีมือ 'เมืองเพชร' ไว้หลากหลายประเภท อาทิ งานปูนปั้น ช่างทอง สลักไม้ แทงหยวก เขียนลายผ้าโบราณ งานเขียนลายรดน้ำ และงานจำหลักหนังใหญ่ และมีการสืบทอดมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ช่วงเวลาที่ผ่านมา งานช่างฝีมือเหล่านี้ขาดคนรุ่นใหม่มาสานต่อ เพราะการศึกษาปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ มากกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นทรงคุณค่า ทำให้ถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย
จำลอง บัวสุวรรณ์ ขณะที่ยังรับราชการครูมองเห็นปัญหาว่า ไม่ว่าเด็กๆ จะเรียนเก่งขนาดไหนก็ไม่สามารถตอบคำถามเรื่องราวใกล้ตัวในท้องถิ่นได้ จึงเริ่มต้นโครงการ 'ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น' สืบค้นรวบรวมภูมิปัญญาเมืองเพชร และพบว่าสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้กำลังจะเลือนหายไป จึงก่อตั้ง 'กลุ่มลูกหว้า' ขึ้นในปี 2549 เป็นทางเลือกใหม่ในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการสืบสานภูมิปัญญาศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรให้กับเด็กและเยาวชน
ต่อมาได้เข้าร่วมเป็นเครือข่าย 'เพชรบุรี' ดีจังในปี 2553 เพื่อสื่อสารเรื่องราวของเพชรบุรีให้คนภายนอกได้รับรู้ เพชรบุรีดีจังเป็นหนึ่งในเครือข่ายพื้นที่ดีจังที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์มานานกว่า 10 ปี โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
พื้นที่กุฏิเก่าถูกทิ้งร้างของวัดใหญ่สุวรรณาราม ถูกนำกลับมาเปลี่ยนเป็นหอศิลป์สุวรรณาราม เพื่อเป็นสถานที่ที่เรียนรู้ศิลปะสกุลช่างเมืองเพชร ทั้งการตอกลายฉลุปิดทอง ที่นำต้นแบบจากเสาไม้ของศาลาการเปรียญสมัยกรุงศรีอยุธยามาประยุกต์เป็นภาพพิมพ์ลายกระเป๋าผ้า โดยให้นักท่องเที่ยวร่วมทดลองทำ เป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มลูกหว้า
ครูจำลองเล่าว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกหว้ามีรายได้จากการจากกิจกรรมดินปั้นเซรามิก วาดเพ้นท์พิมพ์ เป๋าผ้าฉลุลาย อีกส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเองและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเครือข่าย รวมไปถึงการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ การเป็นวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับจังหวัดเพชรบุรี โดยมีเด็กและเยาวชนที่เติบโตขึ้นมาจากทำกิจกรรมเป็นแกนนำขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แนวคิด 3 ส. สื่อสาร สร้างสรรค์ และมีส่วนร่วม และยังเป็นนักออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของเครือข่ายต่างๆ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้ในทุกๆ เรื่องด้วยความสนุกและน่าสนใจ
ล่าสุด กลุ่มลูกหว้าและเครือข่ายเพชรบุรีดีจัง ร่วมกับเทศบาลเมืองเพชรบุรี ชุมชน และร้านค้าบนถนนพานิชเจริญ จัดถนนคนเดิน 'ถนนมีชีวิต พานิชเจริญ เปิดหมวก' ทุกวันเสาร์ช่วง 17.00-21.00 น. โดยมีรูปแบบต่างจากที่อื่น คือการเปิดพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่ทางความคิด พื้นที่แสดงออกสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว กิจกรรมรวมแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาเมืองเพชร ชวนคนในชุมชนและร้านค้าสองเปิดบ้านขายของสร้างรายได้ให้กับชุมชน เชื่อมโยงให้ชาวเพชรบุรีเห็นว่าภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และการเรียนรู้ นั้นสามารถขับเคลื่อน ยกระดับ และพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดได้
สุนิสา ประทุมเทือง แกนนำกลุ่มลูกหว้า กล่าวว่า ถนนคนเดินมีกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับคนทุกเพศวัย มีการระบายสีเขียนป้ายผ้าที่มีหัวข้อเกี่ยวกับชุมชนในย่านนั้นๆ มีพื้นที่ Kids Zone ให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างอิสระ มีพื้นที่วาดรูป ระบายสี ทำของเล่น มีการทำพวงมโหตร ภาพพิมพ์ การเพ้นท์ฉลุลายผ้า การทำหุ่นเงาลายฉลุ เปิดโซนตลาดเล็ก-กะ-สิ(Legacy) เพื่อจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นของกินของใช้และหัตกรรมพื้นบ้านจากเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัด และมีโซนเมืองช่างแห่งสยาม มีการแสดงพื้นบ้านอย่างละครชาตรี หนังตะลุง และกิจกรรมต่างๆ จากเครือข่ายเพชรบุรีดีจังหมุนเวียนเข้ามาจัดกิจกรรม
ชมพูนุช ประเสริฐจิตร์ ครูภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านผ้ามัดย้อมไม้โกงกางจากบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม ที่ชักชวนเด็กๆ ในชุมชนมาร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่ไปกับการดูแลรักษาอนุรักษ์ธรรมชาติของผืนป่าชายเลนมานานกว่า 20 ปีเล่าว่า ถนนพานิชเจริญเป็นถนนคนเดินที่ต่างจากทิอื่นๆ เนื่องจากมีสีสันและความสนุกจากกิจกรรมต่างๆ เป็นถนนคนเดินที่มีชีวิต สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้ที่มาเดินได้เป็นอย่างดี ร้านค้าต่างๆ ในชุมชนก็ขายของได้ดีขึ้น และยังช่วยให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเพชรบุรีไปสู่บุคคลภายนอกอีกด้วย
บงกช เศวตามร์ จากศูนย์การเรียนนวัตกรรมเพื่อความสุข ที่ได้นำเครือข่ายที่ออกแบบหลักสูตรและจัดการเรียนรู้โดยครอบครัวมาศึกษาดูงานพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ ของเครือข่ายเพชรบุรีดีจังกล่าวว่า เพชรบุรีนั้นมีความร่ำรวยในทุกๆ เรื่องซึ่งในหลักสูตรของเราเด็กๆ จะเรียนรู้จากสิ่งที่จับต้องได้ใกล้ตัว โดยจะต้องมองให้เห็นรายละเอียด และสามารถเชื่อมโยงย้อนกลับมามองเห็นในภาพใหญ่ได้
สุนิสาแกนนำกลุ่มลูกหว้ากล่าวว่า ต้องการให้พื้นที่ทุกตารางนิ้วเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ โดยกลุ่มลูกหว้าร่วมกับเครือข่ายแหล่งเรียนรู้กว่า 30 แห่ง ออกแบบกิจกรรมเพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่ไม่มีการสอนในโรงเรียน ช่วยเสริมสร้างทักษะ จิตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และช่วยสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัวจากการออกแบบกิจกรรมให้พ่อแม่ลูกได้ช่วยกันทำ ซึ่งถนนมีชีวิต พานิชเจริญฯ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสื่อสารให้คนในชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ได้เห็นความสำคัญของพื้นที่เรียนรู้ เป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้ออกไปสู่ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาและศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและสร้างสรรค์เศรษฐกิจให้กับชุมชนไปพร้อมกัน
เพชรบุรีดีจัง และกลุ่มลูกหว้า นับได้ว่าเป็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่เป็นผลผลิตของการขับเคลื่อนการทำงานพื้นที่เรียนรู้ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน พร้อมกับใช้พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ อันทรงคุณค่าควบคู่ไปกับความสนุก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเมืองเพชรไม่ให้ถูกลบเลือนหาย ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านและศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรบุรี สามารถเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้