Skip to main content

สรุป

  • สถานการณ์การกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนในเกาหลีใต้ ปี 2020 อยู่ระหว่าง 20,000-30,000 กรณี ปี 2020 ลดลงเหลือ 8,300 กรณีเนื่องจากการระบาดของโควิด ปี 2021 มีจำนวนความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็น 15,600 กรณี และในภาคเรียนที่ 1 ของปี 2022 มีการรายงานความรุนแรงในโรงเรียน 9,800 กรณี
  • 1 ใน 3 ของเหยื่อการถูกกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนไม่ได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด แม้จะแจ้งเรื่องต่อทางผู้บริหารของโรงเรียนแล้วก็ตาม

 

The Glory ซีซัน 2ที่เพิ่งฉายบนเน็ตฟลิกซ์และกำลังเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากขณะนี้ เป็นเรื่องราวการแก้แค้นของเหยื่อที่เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกเมื่อสมัยเป็นนักเรียนจนชีวิตถูกทำลายย่อยยับ ซีรีย์ยอดนิยมนี้สะท้อนถึงความรุนแรงของสถานการณ์การกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนในเกาหลีใต้ โดยเหยื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือความช่วยเหลือ แม้จะรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นกับครูประจำชั้นแล้วก็ตาม

สิ่งที่น่าเศร้าคือ The Glory สร้างโดยอิงจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนหญิงชั้นมัธยมต้นใน จ.ชุงชองเมื่อปี 2006การถูกกลั่นแกล้งรังแกได้สร้างบาดแผลที่ทำให้เธอทนทุกข์ทรมานตลอด 17 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน

 

เหยื่อการกลั่นแกล้งรังแก 1 ใน 3 ไม่ได้รับความช่วยเหลือ

รายงานประจำปีของสถาบันพัฒนาการศึกษาเกาหลี ปี 2022 ระบุว่า เด็กนักเรียนที่มีประสบการณ์ถูกกระทำรุนแรงในโรงเรียน ร้อยละ 90.8 รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นกับฝ่ายบริหารของโรงเรียน เจ้าหน้าที่ฝ่ายแนะแนว หรือพ่อแม่ ผลสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของเหยื่อการถูกกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนไม่ได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด

กรณีการกลั่นแกล้งรังแกทางวาจา นักเรียนที่เป็นเหยื่อ 39,396 คน มีเพียงร้อยละ 41.1 ที่บอกว่าได้รับการแก้ปัญหา อีกร้อยละ 35.3 บอกว่าไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ ขณะที่ความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ในโรงเรียน พบว่าสถานการณ์ไม่ต่างกันมากนัก กรณีถูกข่มขู่รีดไถเงิน ร้อยละ 33 ของเหยื่อบอกว่าแม้แจ้งให้ทางฝ่ายบริหารของโรงเรียนหรือผู้ใหญ่ทราบแล้ว แต่ปัญหาของพวกเขาก็ไม่ได้รับการแก้ไข ลักษณะเช่นนี้เกิดเช่นเดียวกับกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศในสัดส่วนร้อยละ 32.8 กรณีถูกสะกดรอยตามร้อยละ 32.6 การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ร้อยละ 31.6 การบูลลี่ร้อยละ 29.4 และการทำร้ายร่างกายร้อยละ 28.9

ส่วนระดับการได้รับความช่วยเหลือหลังเหยื่อรายงานการถูกกลั่นแกล้งกับทางโรงเรียน วัดเป็นระดับจาก 1 ถึง 5 พบว่าการช่วยเหลือนักเรียนชั้นประถมอยู่ที่ 3.57 นักเรียนชั้นมัธยมต้นอยู่ที่ 3.59 และนักเรียนมัธยมปลายอยู่ที่ 3.35โดยระดับการช่วยเหลือนักเรียนหญิงต่ำกว่านักเรียนชาย นักเรียนหญิงที่เป็นเหยื่ออยู่ที่ 3.46 ขณะที่ระดับความช่วยเหลือนักเรียนชายอยู่ที่ 3.63

เสียงจากครอบครัวของเหยื่อและนักกิจกรรมที่ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาการรังแกในโรงเรียนดังมากขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องหาแนวทางปกป้องนักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในโรงเรียนซึ่งออกมาร้องขอความช่วยเหลือ

ปี 2004 มีการออกกฎหมายพิเศษเพื่อป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน และนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อเฝ้าระวังการกลั่นแกล้งรังแก แต่พบว่ามีการจัดการปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนเพียงพอเป็นพิธี โดยที่ผู้บริหารโรงเรียนไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหามากนัก

 

สถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนยังคงน่ากังวล

รายงานสถานการณ์การกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนที่ส่งมายังคณะกรรมการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน ก่อนปี 2020 อยู่ระหว่าง 20,000-30,000 กรณี ในปี 2020 ลดลงเหลือ 8,300 กรณีเนื่องจากการระบาดของโควิด ในปี 2021 มีจำนวนความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็น 15,600 กรณี และในภาคเรียนที่ 1 ของปี 2022 มีการรายงานความรุนแรงในโรงเรียน 9,800 กรณี

ส่วนมาตรการลงโทษที่คณะกรรมการฯ เสนอเพื่อนำไปปรับใช้แก้ปัญหา ร้อยละ 79 เสนอให้ห้ามผู้ที่รังแกติดต่อและเข้าใกล้เหยื่อ ร้อยละ 63 เสนอให้ผู้กระทำความรุนแรงเขียนจดหมายขอโทษ ร้อยละ 49 เสนอให้ลงโทษทำงานอาสาสมัครโรงเรียน ร้อยละ 15 เสนอให้ห้ามเข้าห้องเรียนในชั่วโมงโฮมรูม ร้อยละ 5 เสนอให้ย้ายโรงเรียน นอกจากนั้น ยังมีการเสนอมาตรการอื่นๆ เช่น ไล่ออกจากโรงเรียน หรือย้ายไปร่วมชั่วโมงโฮมรูมกับเพื่อนต่างชั้นเรียน

 

คณะกรรมการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน ด้อยสิทธิภาพ-ไร้ประสิทธิผล

หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทำให้คณะกรรมการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียนไร้ประสิทธิภาพ คือ กรรมการส่วนมากไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการมาจากพ่อแม่นักเรียน ครู และเจ้าหน้าท้องถิ่นด้านการศึกษา คณะกรรมการ 10 คน มีเพียง 2-3 คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่มักไม่เข้าร่วมประชุมเนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่มีค่าตอบแทน และมักไม่มีเวลาว่าง ต่อมาจึงไม่ค่อยมีการเสนอนักกฎหมายเข้ามาเป็นกรรมการ

นอกจากนี้ การทำหน้าที่กรรมการฯ ยังดึงเอาเวลาของครูจำนวนมากออกมาจากหน้าที่การสอน โดยต้องคอยแก้ปัญหากรณีการรังแกกันในโรงเรียน ในปี 2021 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการย้ายคณะกรรมการทั้งหมดไปยังสำนักงานการศึกษาท้องถิ่นของเมือง ในโซลมีคณะกรรมการ 11 คณะอยู่ภายใต้สำนักงานการศึกษามหานครโซล ทั่วประเทศมีคณะกรรมการ 176 คณะ มีกรรมการรวมทั้งหมด 5,800 คน

นับจากที่มีการย้ายคณะกรรมการออกไปจากโรงเรียน การกลั่นแกล้งรังแกกลายเป็นเรื่องที่จัดการกันเองภายในโรงเรียน ยกเว้นกรณีที่เกินความสามารถในการรับมือของโรงเรียน จึงจะรายงานไปยังคณะกรรมการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน

ปัญหาอีกประการหนึ่งของคณะกรรมการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน คือ คำตัดสินของคณะกรรมการไม่มีผลทางกฎหมาย ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนให้ผู้ที่รังแกและผู้ปกครองนำไปใช้ประโยชน์ในการฟ้องและสู้คดีในศาล

 

ความดิ้นรนพ้นผิดของผู้กระทำความรุนแรง

การที่นักเรียนมีประวัติการกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นถือเป็นเรื่องเสียหายที่ใหญ่หลวง เนื่องจากโรงเรียนจะไม่รับเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย และปัจจุบันมีกรณีเช่นนี้เพิ่มมากขึ้น

มีกรณีโรงเรียนสั่งลงโทษนักเรียนที่กระทำความรุนแรงต่อเพื่อนร่วมชั้น โดยทางโรงเรียนบังคับให้เขียนจดหมายขอโทษเหยื่อ และสั่งห้ามติดต่อหรือเข้าใกล้เหยื่อ ผู้ปกครองนักเรียนดังกล่าวนำเรื่องขึ้นฟ้องศาลโดยกล่าวหาว่า โรงเรียนออกคำสั่งที่เป็นการละเมิดต่อเจตจำนงเสรีของนักเรียน และแพ้คดีในศาลชั้นต้น จากนั้นได้ยื่นอุทธรณ์และแพ้คดีในศาลอุทธรณ์ ต่อมาจึงยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าบทลงโทษของโรงเรียนขัดต่อเสรีภาพที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีคำวินิจฉัยด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การลงโทษของโรงเรียนอยู่ภายใต้บทบัญญํติของรัฐธรรมนูญ และการสั่งให้เขียนจดหมายขอโทษนั้น ไม่เป็นการบังคับขืนใจหรือละเมิดต่อเจตจำนงเสรีของนักเรียนจนเกินไป

ในการณีที่มีการฟ้องคดีในศาล ระยะเวลาของกระบวนการในศาลยาวนานพอจะปกป้องไม่ให้โรงเรียนลงบันทึกประวัติการกลั่นแกล้งรังแก และระหว่างกระบวนการทางกฎหมายทอดยาวออกไป เหยื่อและผู้ก่อความรุนแรงส่วนใหญ่ยังคงเรียนห้องเรียนเดียวกัน ซึ่งเป็นการสร้างความทุกข์ทรมานให้กับเหยื่อ

ขณะที่ประวัติการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน ไม่มีผลต่อการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้จึงไม่ยากที่จะพบโฆษณาออนไลน์ของนักกฎหมายที่จะช่วยทำคดีให้ยืดเวลาออกไป และช่วยให้คนที่ทำผิดรับโทษขั้นต่ำสุด หรือไม่ก็รอดตัวไป

 

ความดีแต่พูดของรัฐในการแก้ปัญหา

หลังความรุนแรงภายในโรงเรียนกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากสังคม ตำรวจได้รับมอบหมายให้มาดูแลที่โรงเรียน ซึ่งเฉลี่ยตำรวจ 1 คนมีหน้าที่ดูแลโรงเรียนมากกว่า 12 แห่ง ในระหว่างที่ประธานาธิบดียุน ซอกยอล เข้าทำพิธีรับตำแหน่งผู้นำประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่า จะมีการเพิ่มจำนวนตำรวจ 1,000 นายทุกปีในการดูแลโรงเรียนต่างๆ เป็นเวลา 5 ปีนับจากนี้ ในเดือน พ.ค.ปีที่แล้วมีตำรวจที่ไปตรวจตราโรงเรียน 1,122 นาย และลดจำนวน 100 นายเมื่อถึงตอนสิ้นปี โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่าไม่สามารถเพิ่มงบประมาณของปีนี้สำหรับการออกตรวจตราตามโรงเรียนได้

ทางด้านประธานาธิบดียุน ซอกยอล สั่งกระทรวงศึกษาธิการให้แก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนโดยทันที โดยกล่าวว่า “การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนต้องถูกขุดรากถอนโคนให้หมดไปจากทุกโรงเรียน” ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่าจะมีแผนงานตามมาภายในเดือน มี.ค.