สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เผยพลังงานทดแทนและพลังงานนิวเคลียร์จะมีอิทธิพลต่อการผลิตไฟฟ้าตลอด 3 ปีจากนี้ ขณะที่เอเชียจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการพลังงานไฟฟ้าของทั้งโลกในปี 2025
สำนักงานพลังงานสากล เผยแพร่รายงานชี้ว่า ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดจะเริ่มมาแทนที่พลังงานฟอสซิล โดยไฟฟ้าจากจากพลังงานทดแทนและพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งถูกนำกลับมาใหม่ จะครอบคลุมความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงปี 2022-2025ขณะที่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะคงที่หรือค่อยๆ ลดลง พร้อมๆ กับความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
สำนักงานพลังงานสากลชี้ว่า ในปี 2023 ความต้องการพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกจะเพิ่มสูงแบบก้าวกระโดด และจะเพิ่มขึ้นอีก 2,500 เทราวัตต์ชั่วโมงในปี 2025 โดยในปี 2025 จีนจะมีความต้องการไฟฟ้าสูงถึง 1 ใน 3 ของความต้องการไฟฟ้าทั้งโลก เมื่อรวมเข้ากับความต้องการไฟฟ้าในส่วนอื่นๆ ของเอเชีย จะทำให้เอเชียมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการพลังงานไฟฟ้าของทั้งโลกในปี 2025
รายงานของสำนักงานพลังงานสากลระบุว่า ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า พลังงานทดแทนจะไล่ตามทันถ่านหิน และกลายเป็นแหล่งพลังงานใหญ่ที่สุดของโลก พลังงานทดแทนเพิ่มส่วนแบ่งการผลิตพลังงานของทั้งโลกจาก 29% เป็น 35% ภายในเวลาเพียง 3 ปี ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลดลงจาก 40% ในปี 2010 มาอยู่ที่ 36% ในปี 2023 และจะลดลงเหลือ 33% ในปี 2025
รายงานของสำนักงานพลังงานสากล ระบุด้วยว่า พลังงานทดแทนและพลังงานนิวเคลียร์จะมีอิทธิพลต่อการจัดหาพลังงานไฟฟ้าตลอด 3 ปีจากนี้ โดยคาดว่าการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นราว 2,500 เทราวัตต์ชั่วโมงในช่วงปี 2022-2025
สำนักงานพลังงานสากล คาดการณ์ว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้น 2,450 เทราวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับ 98% ของความต้องการโดยรวมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และคาดการณ์ว่า เอเชียจะเป็นผู้นำในการนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาใช้ใหม่ โดยมีสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอินเดียและจีน ขณะที่จะมีการเริ่มเปิดเตาปฏิกรณ์ไฟฟ้าปรมาณูในญี่ปุ่นและฝรั่งเศส
สำหรับพลังงานสะอาด สำนักงานพลังงานสากล ย้ำว่า ยังมีความท้าทายในการขยายส่วนแบ่งของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ โดยเฉพาะคลื่นความร้อนอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงพายุ และภัยแล้ง