Skip to main content

นักวิชาการรัฐศาสตร์เตือนจับตาปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารช่วงเลือกตั้ง 2566 จะมุ่งไปที่เป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง และอาจชักจูงให้บางกลุ่มให้มีความคิดสุดโต่ง เตือนจับตาการดำเนินคดีกับคนโพสต์-แชร์ข้อมูลตรวจสอบการเลือกตั้งที่มาจากภาคประชาชน

ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการอภิปรายเวทีเสวนา 'เจาะ (อิทธิพล) ปฏิบัติการข้อมูลบนโลกออนไลน์กับผลการเลือกตั้ง: บทเรียนจากฟิลิปปินส์สู่ไทย' ซึ่งจัดโดยโคแฟค เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงความกังวลของภาคส่วนต่างๆ ต่อปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในช่วงการเลือกตั้งของไทยที่กำลังจะมาถึงเร็วๆ นี้

ผศ.จันจิรากล่าวว่า ไทยมีทั้งการควบคุมเนื้อหาและใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ทั้งยังมีสภาพแวดล้อมทางข้อมูลข่าวสารที่ปิดและแคบ ขณะที่ฟิลิปปินส์บริบททางการเมืองและข้อมูลข่าวสารเปิดกว้างมากกว่า ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารจึงมีลักษณะค่อนข้างกระจาย ไม่มีลักษณะที่เป็นสถาบันเหมือนของไทย

ผศ.จันจิรากล่าวว่า ท่ามกลางบริบทที่อำนาจและทรัพยากรในการจ้าง ในการผลิต และการสนับสนุนข้อมูลข่าวสารของฝ่ายการเมืองแต่ละฝั่งไม่เท่าเทียมกัน คำถามที่น่าสนใจคือ ใครจะมีอำนาจในการทำสิ่งเหล่านี้ได้มากกว่า และอำนาจรัฐในการทำสิ่งเหล่านี้อยู่ที่ไหน โดยทั้งนี้ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารและการใช้ข้อมูลข่าวสารบิดเบือนประเด็นทางการเมืองในสังคมไทย มีการทำงานร่วมกับกลไกควบคุมแบบอื่นๆ

ขณะที่การควบคุมและใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อปล่อยข่าวปลอม หรือเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของตัวละครทางการเมือง นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษากล่าวว่า เป็นปฏิบัติการเพื่อรักษาอำนาจการเมืองของกลุ่มที่มีอำนาจมากกว่า ซึ่งปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในการควบคุมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีกลไกการเซ็นเซอร์ ทำงานร่วมกับการปิดกั้นเนื้อหา โดยรัฐขอให้แพลทฟอร์มนำเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบางอย่างออกจากระบบ ร่วมกับการใช้กฎหมายจับกุมดำเนินคดีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และการใช้สปายแวร์เพื่อติดตามสอดส่องตัวละครทางการเมือง มีทั้งนักกิจกรรมทางการเมืองและนักการเมือง

สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ผศ.จันจิรากล่าวว่า หากนำมาพิจารณาในบริบทที่มีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร และการควบคุมการเลือกตั้ง สิ่งที่จะได้เห็นคือ หนึ่ง การดำเนินคดีกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่โพสต์ข้อความหรือแชร์ข้อมูลที่ไม่ตรงกับ กกต.ซึ่งหลายครั้งเป็นการแชร์ข้อมูลจากกลไกตรวจสอบการเลือกตั้งที่ไม่ได้มาจากหน่วยงานของรัฐ คำถามคือ การดำเนินคดีในลักษณะนี้จะส่งผลต่อกลไกตรวจสอบการเลือกตั้งโดยภาคประชาสังคมหรือไม่

สอง การตรวจตราสอดส่องจะทำให้ผู้สอดส่องตัวละครทางการเมืองมีข้อมูลมากพอ ซึ่งนอกจากจะนำไปใช้เพื่อชี้ว่าใครทำผิดกฎหมายใด ข้อมูลที่ได้มายังสามารถนำไปออกแบบและผลิตเป็นข้อความเพื่อโจมตีตัวละครทางการเมืองนั้นๆ ได้ด้วย

ผศ.จันจิรากล่าวว่า ในสังคมที่มีความขัดแย้ง การใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องปรกติของการเมืองโดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้ง แต่คำถามคือ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารแบบไหนที่เป็นอันตราย ซึ่งหมายถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่า และมักใช้วิธีกระจายข้อมูลที่ทำลายชื่อเสียงฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งตั้งคำถามเชิงศีลธรรมที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือและทำให้บุคคลนั้นๆ เป็นที่รังเกียจของสังคม

ผศ.จันจิรากล่าวด้วยว่า สิ่งที่พบจากงานวิจัย คือ การสร้างกระแสสังคมในลักษณะนี้ไม่ได้เพื่อมุ่งสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลนั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังควบคู่ไปกับการดำเนินคดีด้วย ซึ่งต้องจับตาว่ากลไกในการควบคุมข่าวสารและปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในสังคมไทยจะมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร

นอกจากนี้ ผศ.จันจิรา ยังแสดงความกังวล โดยขอให้ช่วยกันจับตาปฏิบัติการข่าวสารที่เจาะไปยังกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เนื่องจากที่ผ่านมาปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในสังคมไทยไม่ส่งผลต่อการชักจูงคนทั่วไป แต่จะเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากๆ และส่งผลในการเปลี่ยนความคิดอย่างถึงรากกับคนบางกลุ่ม ทำให้ความคิดที่มีอยู่เดิมสุดโต่งมากขึ้น บางครั้งแสดงออกมาเป็นการบังคับไม่ให้คนอื่นคิดต่างจากตนเอง

นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวทิ้งท้ายว่า การเลือกตั้งที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจของประเทศเป็นไปโดยสงบสุข ต้องเป็นการรณรงรงค์ที่ทุกคนเห็นต่างกันได้ แต่ให้การเคารพต่อความเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้จะต้องไม่มีการบังคับขู่เข็ญด้วยกำลังหรือวาจา