พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแสดงวิสัยทัศน์นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในหัวข้อ ‘เทรนด์ใหม่ของเศรษฐกิจดิจิทัลและยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน’ ร่วมกับแกนนำพรรคการเมืองใหญ่ 5 พรรค ในงานเสวนา “Next Step Thailand 2023 ทิศทางแห่งอนาคต” ความตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท คาดการณ์การเติบโตอยู่ที่ 15% ต่อปี โดยมีการลงทุนจากภาคเอกชนอยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ดีเมื่อเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระบบ ที่จีดีพีคาดการณ์การเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3% แต่กระนั้นหากเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนด้วยกัน จะพบว่าประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 6 ของอาเซียน ทั้งในด้านคาดการณ์การเติบโตและปริมาณการลงทุน และเมื่อหันมาดูด้านงบประมาณที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล จะพบว่ารัฐบาลได้ให้งบประมาณด้านแผนงานยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัลเพียง 980 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.03% ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนงบประมาณด้านการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7.36 พันล้านบาท ส่วนใหญ่กลับไปอยู่ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองของกระทรวงมหาดไทย ถึง 7.16 พันล้านบาท ซึ่งไม่ตอบโจทย์ในการสร้างยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลโดยตรง
พิธากล่าวว่า การก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย จะต้องเกิดขึ้นจากการอาศัยบทบาทของภาครัฐ ที่ต้องเข้าไปปรับยุทธศาสตร์ กฎหมาย และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ยังล้าหลัง ขัดขวางการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเข้าไปมีบทบาทผลักดันทั้งในด้านอุปทาน ได้แก่ การเพิ่มงบประมาณให้ได้สัดส่วนกับความสำคัญ การลดขั้นตอนในระบบราชการ การสนับสนุนด้านงบประมาณ และการสนับสนุนบ่มเพาะเอกชนที่มีศักยภาพ ส่วนในด้านอุปสงค์ คือการที่รัฐเข้าไปเล่นบทบาทลูกค้ารายแรกๆ ให้สตาร์ทอัพเติบโตได้ สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน และที่สำคัญคือการเปลี่ยนปัญหาของประเทศเป็นการสร้างเศรษฐกิจของประเทศและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งเป็นเหตุผลให้หลักคิดด้านนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของพรรคก้าวไกล มองว่าการกำหนดเป้าหมายแม้จะต้องไปให้ถึงระดับโลกหรือระดับภูมิภาคอาเซียน แต่การปฏิบัติจริงที่เกิดขึ้นต้องมาจากรากฐานที่สำคัญที่สุด นั่นคือในระดับท้องถิ่นของประเทศ ที่ปัจจุบันยังเต็มไปด้วยวิกฤติคุณภาพชีวิตและปัญหาของประชาชน
พิธา กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างการทำน้ำประปาดื่มได้ที่เทศบาลตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด โดยคณะก้าวหน้า ซึ่งประสบความสำเร็จแล้วในการพัฒนาคุณภาพของน้ำประปา และกำลังจะมีการติดตั้งเทคโนโลยี IoT (internet of things) ที่จะทำให้กระบวนการผลิตน้ำไปจนถึงการจ่ายค่าน้ำของประชาชนเข้าสู่ระบบดิจิทัลทั้งหมด นี่คือตัวอย่างของการทำให้ปัญหาของประชาชนกลายเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อการตอบสนองทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมกัน
“อาจสามารถ คือรูปธรรมของการใช้เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาของประเทศและของประชาชน จากการแก้ปัญหาของอาจสามารถ ไปสู่การแก้ปัญหาของประชาชนในภาคอีสาน นำไปสู่การแก้ปัญหาของประชาชนภาคอื่นๆ และของประชาชนทั้งประเทศและของอาเซียนต่อไป นี่คือโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแบบพรรคก้าวไกล คือตั้งเป้าหมายให้ไปไกลถึงระดับโลก แต่เริ่มต้นการปฏิบัติจากระดับท้องถิ่น เปลี่ยนวิกฤติของเราให้เป็นโอกาสใหม่ๆ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการกระจายอำนาจ การมีงบประมาณที่เพียงพอในระดับท้องถิ่น และกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาไปพร้อมๆ กันด้วย” พิธากล่าว