ผลวิจัยจากสถาบันวิจัยสุขภาพและการแพทย์แห่งเซาธ์ออสเตรเลีย (SAHMRI) และมหาวิทยาลัยแอดิเลดของออสเตรเลีย ซึ่งเผยแพร่วันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าอาหารไขมันต่ำอาจเป็นกุญแจสำคัญที่หยุดยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็ง
คณะนักวิจัยพบว่ามะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ของยีนไอดีเอช1 (IDH1) ไม่สามารถเติบโตโดยปราศจากลิพิด (lipid) หรือไขมันที่พบในอาหารหลายชนิดอันรวมถึงเนย โดยการค้นพบนี้นับเป็นการหักล้างความเข้าใจว่าอาหารไม่ส่งผลกระทบต่อเนื้องอก
การกลายพันธุ์ของยีนไอดีเอช1 ซึ่งมักพบในมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งกระดูก และมะเร็งสมอง จะกระตุ้นเซลล์ให้เปลี่ยนแปลงการทำงานของเอนไซม์
แถลงการณ์จากแดเนียล โทมัส นักโลหิตวิทยาทางคลินิก และผู้เขียนวิจัยคนแรกจากสถาบันฯ ระบุว่ามีการจำลองผลลัพธ์ในโรคมะเร็งหลายชนิด และเปรียบเทียบการรับประทานอาหารปกติกับอาหารที่ปราศจากไขมันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งพบเนื้องอกที่มียีนไอดีเอช1 หยุดเจริญเติบโตเมื่อขาดไขมันลิพิด
“มะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ของยีนไอดีเอช1 นั้นชื่นชอบลิพิด ซึ่งต่างจากมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยพวกมันจำเป็นต้องบริโภคลิพิดและสร้างลิพิดขึ้นเอง”
อย่างไรก็ดี โทมัสและทีมวิจัยจะทำการศึกษาเพื่อยืนยันผลการค้นพบระยะยาวในมนุษย์ พร้อมแนะนำผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ของยีนไอดีเอช1 หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
ขณะเดียวกันคณะนักวิจัยมั่นใจว่าผลการศึกษานี้อาจทำให้สถาบันฯ กลายเป็นที่แรกในโลกที่ผสานการพุ่งเป้ากำจัดยีนไอดีเอช1 เข้ากับการบำบัดด้วยโปรตอนและโมเลกุลขนาดเล็ก
“การค้นพบนี้อาจนำสู่การเพิ่มอัตรารอดชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสงบ หลังรักษามะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ของยีนไอดีเอช1 ด้วยโปรตอนหรือรังสีรักษา” โทมัสระบุ
ที่มา : Xinhua