เว็บไซต์ข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า ร้านหนังสือกำลังจะหายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ตามประมาณการของอุตสาหกรรม โดยลดลงเกือบ 1 ใน 3 ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลกระทบจากจำนวนประชากรที่ลดลงและการแพร่เข้ามาแทนที่ของอินเทอร์เน็ต
แต่ก็มีเสียงคัดค้าน เช่น ชาวบ้านในเมืองแย้งว่า ร้านหนังสือนั้นจำเป็นสำหรับสภาพแวดล้อมในเมืองที่มีชีวิตชีวา แต่จำนวนลูกค้ายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าเพื่อความอยู่รอด บรรดาร้านหนังสือจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่
ตามรายงานจากองค์กรด้านสื่อสิ่งพิมพ์ของญี่ปุ่น บอกว่า ปัจจุบันมีร้านหนังสือ 11,952 แห่งในญี่ปุ่น ลดลงประมาณ 30% จาก 16,722 แห่งในปี 2012
ความอยู่รอดของร้านหนังสือตามเมืองต่างๆ นั้นเลยอาศัยห้องสมุดและโรงเรียนที่สามารถช่วยร้านหนังสือขนาดเล็กๆ ไว้ได้ เพราะร้านหนังสือจะมีรายได้จากการที่ห้องสมุดและโรงเรียนจัดหาหนังสือจากร้านหนังสือในท้องถิ่นแทนการสั่งจากตัวแทนจำหน่ายในเมืองใหญ่ๆ นี่ทำให้ร้านหนังสือเล็กๆ นอกเมืองยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้
แต่ในปี 2015 มีร้านหนังสือเพียงแห่งเดียวในเมืองทาเตยามะ ปิดให้บริการไป แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกำลังจัดหาผู้ประกอบการใหม่ที่พร้อมจะเปิดให้บริการในเมือง เนื่องจากชาวเมืองหลายคนกล่าวว่า ร้านหนังสือเป็นสิ่งจำเป็นในการทำให้เมืองนี้มีชีวิตชีวาขึ้น
แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับร้านหนังสือที่ไม่สามารถไปรอดได้นั้น บอกว่าหนังสือของพวกเขาขายไม่ออก เหตุผลหนึ่งมาจากจำนวนประชากรในเมืองลดลง ทำให้ยอดขายหนังสือของโรงเรียนลดลงอย่างมากเพราะอัตราการเกิดของญี่ปุ่นลดลง
ทั้งนี้ กำไรขั้นต้นของร้านหนังสือในญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 20% หลังจากหักค่าใช้จ่ายให้กับผู้จัดพิมพ์และตัวแทนจำหน่ายแล้ว
สิ่งที่ควบคู่ไปกับการลดลงของจำนวนประชากรและการอ่านหนังสือที่น้อยลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คือการเพิ่มขึ้นของร้านสะดวกซื้อที่มีนิตยสารวางจำหน่าย จึงเพิ่มแรงกดดันให้กับร้านหนังสือด้วย และไหนจะได้รับผลกระทบจากบรรดา e-book และการซื้อผ่านออนไลน์ได้อีก
รายงานยังบอกด้วยว่าไม่เพียงแค่ในพื้นที่ชนบทเท่านั้นที่้ร้านหนังสือลดลง ในกรุงโตเกียวก็ด้วย จำนวนร้านหนังสือลดลงประมาณ 30% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ด้าน คาซูยูกิ ไอชิอิ กรรมการบริหารของสหพันธ์ร้านหนังสือแห่งญี่ปุ่น กล่าวว่า การลดลงต่อเนื่องของร้านหนังสือไม่ส่งผลดีต่อจำนวนผู้อ่านเช่นกัน เพราะหากจำนวนร้านหนังสือลดลง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จำนวนการอ่านจะลดลงด้วย ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ทั้งหมดจะต้องร่วมมือกันและคิดหามาตรการรับมือ