พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดถึงนโยบายต่างชาติซื้อที่ดินว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีกฎกระทรวงที่ย้อนหลัง ไปถึงรัชกาลที่ 4 ที่มีบันทึกเรื่องของกฎหมายให้ชาวต่างชาติมาใช้ที่ดินในประเทศไทย แต่ในภาวะปัจจุบันนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ผิดที่ผิดทาง เพราะผลบวกที่ได้ทางเศรษฐกิจยังไม่มีการประเมินที่แน่ชัด ในขณะที่ประชาชนชาวไทยจำนวนมากที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน
ปัญหาข้อแรก ตั้งคำถามถึงเป้าหมายที่ชัดเจนของการแก้กฎกระทรวงเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาถือถือครองที่ดินในประเทศไทยคื เพราะจากข้อมูลพบว่าในรอบ 20 ปี มีต่างชาติเพียง 8 คน เป้าหมายจากคำสัมภาษณ์ที่เห็นมีเพียงระบุกว้างๆ ว่าต้องการดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคน ซึ่งว่าการเปลี่ยนกฎกระทรวงในครั้งนี้ยังมองไม่เห็นเป้าหมายและความชัดเจนว่าต้องการอะไรกันแน่ แล้วตลอดหลายเดือนที่ผ่านมามีการเปลี่ยนตัวเลขกลับไปมา จึงไม่แน่ใจในเป้าหมาย
ปัญหาข้อที่สอง พิธาตั้งคำถามถึงผลกระทบและข้อเสียของการแก้ไขกฎกระทรวงว่าได้คำนึงถึงผลกระทบในทางลบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ว่าหลังจากการปล่อยให้ต่างชาติเข้าไปซื้อที่ดินทำให้ราคาบ้านสูงเพิ่มขึ้นถึง 19% และตัวอย่างในประเทศฮ่องกงที่การเปิดเสรีเข้าซื้อที่ดินทำให้ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้นจนคนในประเทศที่มีรายได้น้อยต้องอาศัยอยู่ในที่พักเล็กๆ ที่เป็นเหมือน “อพาร์ทเมนท์โรงศพ”
ทั้งนี้พิธาระบุว่าตน กังวลเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่ดิน ขณะที่ทางรัฐบาลพยายามจะให้ชาวต่างชาติ 1 ล้านคนเข้ามาซื้อที่ดิน แต่ 75% ของคนไทยยังไม่สามารถเข้าถึงที่ดินทำกินของประเทศบ้านเกิดตัวเองได้ คนไทยธรรมดาที่มีที่ดินจริงๆ มีเพียง 20 เปอร์เซ็นเท่านั้น โควตาของต่างชาติคนละ 1 ไร่ก็ไปเบียดเบียนที่ดินของพี่น้องประชาชน ยังมีประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ยกตัวอย่างข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ 1 ใน 5 ของคนจนไม่มีที่อยู่ และ 15 ปีต่อมา 1 ใน 3 ของคนจนไม่มีที่อยู่อาศัย พร้อมตั้งคำถามว่านายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องเรียงลำดับความสำคัญ ในขณะที่ประชาชนป่าสงวนหรือในพื้นที่อุทยานเงื่อนไขและข้อจำกัดในการเข้าถึงที่ดินจำนวนมาก ต่างชาติกลับมีเงื่อนไขเพียง 5 บรรทัดเท่านั้น ก็ต้องตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่าจะให้ความสำคัญกับการให้ต่างชาติมีที่ดินก่อน หรือประชาชนมีที่ทำกินก่อน
“และสุดท้าย ตนไม่เชื่อในวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้ LTR ก็ดี เขตเศรษฐกิจพิเศษก็ดี เป็นสิ่งที่ทำกันมา 40-50 ปี โบราณมาก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก็มีแนวคิดแบบนี้แล้ว คนที่จะมาลงทุนในประเทศไหนต้องเขาดูว่าเศรษฐกิจฐานรากมีกำลังซื้อหรือเปล่า ต้องดูว่าประเทศปลอดภัยหรือเปล่า หรือมีความเหลื่อมล้ำสูงจนปัญหายาเสพติดเต็มไปหมด ต้องดูว่าประชากรสามารถสื่อสารกับเขาได้ มีการศึกษาที่เท่าเทียมเป็นพลเมืองโลกได้หรือเปล่า สิ่งที่ท่านอยากทำเป็นทางลัดซึ่งโบราณมาก ผมขอทิ้งท้ายว่าผมเคยถามผู้ว่ากรุงโซลว่าทำอย่างไรให้กรุงโซลเป็นเมืองที่คนเก่งๆ อยากเข้ามาอยู่อาศัย คำตอบของเขาคือทำให้เมืองโซลเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับพ่อบ้าน แม่บ้าน มีโรงเรียน มีการคมนาคม มีความปลอดภัย มีการสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และเป็นเมืองที่คนเท่ากัน อันนี้ต่างหากคือวิธีการทำเศรษฐกิจที่ถูกต้อง” พิธาทิ้งท้าย