พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไข พ.ร.บ.สรรพสามิต หรือร่างกฎหมาย 'สุราก้าวหน้า ที่กำลังมีการอภิปรายในวาระ 2 และจะมีการลงมติวาระ 3 ในวันนี้ (2 พ.ย.) พร้อมชี้ข้อเปรียบเทียบกับกฎกระทรวง ว่าด้วยการผลิตสุรา ที่ออกมาใหม่โดยรัฐบาลเมื่อวานนี้
พิธาระบุว่าหลักการที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาเรื่องนี้ คือการเอาสภาพข้อเท็จจริงและศักยภาพของผู้ประกอบการ มาเทียบกับร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า และกฎกระทรวงที่ออกมาเมื่อวานนี้ ว่าสิ่งใดที่เหมาะสมกับข้อเท็จจริงของประเทศและศักยภาพของผู้ประกอบการมากกว่ากัน
ซึ่งหากเป็นกฎกระทรวงที่ออกมาเมื่อวานนี้ กล่าวได้ว่าเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนจากล็อกเก่ามาเป็นล็อกใหม่เท่านั้น หากพิจารณาตามข้อเท็จจริง ผู้ประกอบการจินหรือรำ ทั้งที่เชียงใหม่ หนองคาย สงขลา สุราษฎร์ธานี ที่เป็นผู้ประกอบการระดับโลก ส่งออกไปได้ 17 ประเทศ ชนะการประกวดทั้งที่ปารีส โตเกียว ฮ่องกง ชนะคู่แข่งจากออสเตรเลีย อาร์เจนติน่าจะไม่ได้รับการปลดล็อกจากกฎกระทรวงฉบับนี้ ด้วยการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตรต่อวันที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย รวมทั้งการที่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น
ดังนั้น กฎกระทรวงที่มีวิธีคิดมาจากข้าราชการและกรมสรรพสามิตอย่างเดียว จึงไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและสินค้าเกษตรของไทยได้ เป็นกฎหมายที่หยุมหยิม พายเรือในอ่าง ลดกำแพงหนึ่งแต่สร้างอีกกำแพงหนึ่งขึ้นมา กีดกันไม่ให้ประชาชนไปถึงศักยภาพระดับโลกได้ ผิดกับร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ที่ต้องการไม่ให้มีการกีดกันการแข่งขันผ่านกำลังการผลิต กำลังแรงม้า ทุนจดทะเบียน และจำนวนพนักงาน ซึ่งจะปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริงของผู้ประกอบการไทยได้อย่างแท้จริง และเป็นทั้งนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายการเกษตร และนโยบายท่องเที่ยวไปในตัวด้วย
พิธายังระบุด้วย ว่าตัวเองต้องฝากไปถึง ส.ส. ทุกคนจากทุกพรรค ว่าการพิจารณาในวันนี้มีความหมายและความสำคัญต่ออนาคตของเกษตรกรไทย ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมทั้งเศรษฐกิจของไทย และขอให้ทุกคนได้ตัดสินใจโดยยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเหล่านี้มาเป็นที่ตั้ง
“นี่อาจจะเป็นเพียงการโหวดหนึ่งในพันหรือหมื่นครั้งของท่าน ไม่ได้มีความหมายอะไรมากนัก เมื่อท่านโหวตเสร็จก็คงจะกลับไปกินไวน์ฝรั่งเศส สาเกญี่ปุ่น โซจูเกาหลี ปลายปีนี้ก็อาจจะเตรียมตัวเดินทางปีใหม่ ไปเที่ยวไร่องุ่นไวน์ที่อเมริกา หรือไปกินเตกิล่า หรือเหล้าข้าวโพดที่เม็กซิโก แต่สำหรับเกษตรกร คนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการ คนที่อยู่ในวงการสุราขนาดย่อย นี่คือความฝันของพวกเขา สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการที่สู้กันมาเป็น 30-40 ปี ตั้งแต่เครือข่ายเหล้าไทยสมัยที่ผมยังเด็กจนถึงทุกวันนี้ นี่เป็นโค้งสุดท้ายของเขาที่จะทำให้เขามีความฝันอยู่ในประเทศนี้” พิธากล่าว