Skip to main content

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมและสร้างความปลอดภัยให้สังคม รวมถึงแก้ปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมพบว่า ผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เมื่อพ้นโทษแล้วจะกระทำความผิดซ้ำในระยะเวลา 3 ปี มากกว่าร้อยละ 50 จึงมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้น

โดยกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง อาทิ 1. กำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีหน้าที่ เช่น กำหนดนโยบายและแผนการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิด ให้คำปรึกษาแลข้อเสนอแนะ และคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีหน้าที่ เช่น กำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เป็นต้น

2.มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด เช่น พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ ด้วยมาตรการทางการแพทย์ หรือมาตรการอื่นๆ ที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกำหนดในกฎกระทรวง 

3.มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ หากมีเหตุให้เชื่อว่านักโทษเด็ดขาดจะกระทำความผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษได้ เช่น ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด ห้ามเข้าเขตกำหนด ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนพักอาศัย ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด เป็นต้น

4.มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษแก่นักโทษเด็ดขาด หากศาลเห็นว่ามีเหตุเชื่อได้ว่าผู้นั้นจะไปกระทำความผิดซ้ำ และไม่มีมาตรการอื่นใดที่อาจป้องกันไม่ให้ไปกระทำความผิดได้ 5.การคุมขังฉุกเฉิน กรณีมีเหตุเชื่อได้ว่าผู้ถูกเฝ้าระวังจะกระทำความผิดและมีเหตุฉุกเฉิน หากไม่มีมาตรการอื่นที่อาจป้องกันไม่ให้ผู้ถูกเฝ้าระวังกระทำความผิดได้ เมื่อพนักงานอัยการร้องขอ ศาลอาจสั่งคุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวังได้ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ทั้งนี้ ให้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวไปใช้บังคับกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล รวมถึงกรณีที่จะมีการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด ซึ่งเป็นผู้กระท้าความผิดตามที่กำหนดอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับด้วย

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือการดำเนินการกับผู้กระทำผิดในคดีทางเพศ และคดีที่มีความรุนแรง พร้อมมาตรการการป้องกันภัยคุกคามทางเพศ และความรุนแรง ซึ่งพร้อมกับพลวัตรสังคม ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการใช้หลักทางจิตวิทยา และมาตรการทางการแพทย์ เพื่อเข้ามามีส่วนในการป้องกันในผู้ต้องหาที่ได้กระทำผิดซ้ำ เช่น การใช้ยา, การฉีดฮอร์โมนลดความต้องการทางเพศ หรือฉีดให้ฝ่อ โดยมาตรการทางการแพทย์โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คน มีความเห็นพ้องต้องกันและจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้กระทำความผิดด้วย ควบคู่กับมาตรการทางกฎหมาย เช่น ให้พักอาศัยในสถานที่ที่ศาลกำหนด, ห้ามออกนอกประเทศ, ต้องแจ้งเมื่อมีการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน, ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด, ใส่อุปกรณ์ติดตามตัว เป็นต้น เพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก