หนังสือสำหรับเด็กซึ่งเป็นที่นิยมระดับโลกหลายเล่ม เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์, แมงมุมเพื่อนรัก เคยถูกต่อต้านจากครูและผู้ปกครองในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ เพราะมองว่าเนื้อหาของหนังสือมอมเมาเยาวชนด้วยเรื่องพ่อมด-แม่มด และการดำเนินเรื่องให้สัตว์มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ “ขัดต่อหลักความเชื่อทางศาสนา-เข้าข่ายดูหมิ่นพระเจ้า”
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจว่าจะปิดกั้นหนังสือเด็กหรือเยาวชนสักเล่มหนึ่งในประเทศอื่นๆ ไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับอำนาจของรัฐบาลโดยตรง เพราะส่วนใหญ่ปล่อยให้เป็นบทบาทของผู้ปกครองกับโรงเรียนและผู้เชี่ยวชาญไปคุยกัน เพื่อหาข้อยุติที่ทุกฝ่ายจะยอมรับได้ เช่น บางโรงเรียนสั่งถอดหนังสือที่เป็นข้อถกเถียงออกจากห้องสมุด, ไม่อนุญาตให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าวในชั้นเรียน แต่รัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ได้สั่งห้ามจำหน่ายหรือปิดกั้นสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ ยกเว้นประเทศที่มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก่อน
(หนังสือชุด แฮร์รี พอตเตอร์ ของ เจ.เค. โรว์ลิง)
(แมงมุมเพื่อนรัก หรือ Charlotte's Web)
(ห้องสมุดโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาเคยแบน Where the Wild things Are ของมอริซ เซนดัก เพราะมีบทลงโทษห้ามเด็กกินข้าวเย็นอยู่ในเนื้อหา ผู้ปกครองและบรรณารักษ์เกรงว่าจะทำให้เด็กที่อ่านเกิดความรู้สึกไม่ดี)
ตัวอย่างที่ชัดเจนกรณี 'หนังสือเด็ก' ถูกจับเพราะการเมือง ได้แก่ หนังสือ Guardians of the Sheep Village จัดพิมพ์โดยสหภาพอรรถบำบัดฮ่องกง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแกะ 12 ตัวที่ต่อสู้กับฝูงหมาป่าที่กดขี่ข่มเหง ทำให้ตำรวจฮ่องกงจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับหนังสือ 5 รายในข้อหายุยงปลุกปั่น และปลูกฝังให้เด็กเกลียดชังตำรวจ เพราะมองว่าแกะทั้ง 12 ตัวคือสัญลักษณ์แทนกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยชาวฮ่องกงที่ลี้ภัย แต่ถูก ตร.จับกุมเสียก่อน ขณะที่ ตร.ฮ่องกงถูกเปรียบเป็นหมาป่า จึงสั่งยึดหนังสือดังกล่าวกว่า 500 เล่ม และผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงวิจารณ์ว่าเป็นการตั้งข้อหารุนแรงเกินกว่าเหตุ
ส่วนเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้หนังสือเด็กถูกถอดออกจากห้องสมุดโรงเรียนหรือห้องสมุดประชาชน ได้แก่ เนื้อหาไม่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กหรือเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของหนังสือ, มีเนื้อหาหรือการใช้ภาษาส่งเสริมความรุนแรง-ลดคุณค่าหรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และส่อนัยทางเพศในเชิงยั่วยุ
ความหลากหลายทางเพศ - อีกหนึ่งประเด็นร้อนในหนังสือเด็ก
อีกข้อหาหนึ่งซึ่งทำให้หนังสือเด็กถูกสั่งห้ามหรือถูกตรวจสอบ ได้แก่ “การส่งเสริมกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน” พบมากในประเทศที่ชูแนวคิดอนุรักษนิยมทางศาสนา เช่น เจ้าหน้าที่รัฐบาลฮังการีเสนอให้สมาชิกสภารับรองคำสั่งห้ามพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือเด็กเรื่อง Wonderland Is For Everyone จัดพิมพ์โดยกลุ่มส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศเมื่อปี 2563 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัว LGBT แต่เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมสภาลงมติคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว
เมื่อปี 2555 รัฐบาลกาตาร์สั่งยึดหนังสือการ์ตูน The Boys ผลงานของ 'การ์ท เอนนิส' นักเขียนชาวอเมริกัน ซึ่งนักวิจารณ์ระบุว่าเป็นการ์ตูนตลกร้ายที่เสียดสีและตีแผ่ด้านมืดของวัฒนธรรมเชิดชูซูเปอร์ฮีโร่ในสหรัฐอเมริกา แต่ศุลกากรและกระทรวงวัฒนธรรมของกาตาร์ระบุว่าเป็น “สิ่งพิมพ์ต้องห้าม” และ “มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ” โดยผู้สั่งซื้อหนังสือดังกล่าวซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่พำนักในกาตาร์ขณะนั้นให้ข้อมูลกับทางเว็บไซต์ Bleeding Cool ว่า กว่าจะได้อ่านการ์ตูน The Boys ก็คือตอนที่ย้ายประเทศไปแล้ว
กล่าวโดยสรุปคือ ‘หนังสือเด็ก’ ไม่ค่อยถูกรัฐบาลสั่งปิดกั้นโดยตรงในหลายประเทศ แต่จะขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง ครู บรรณารักษ์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเยาวชนที่จะถกเถียงเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่าจะแบนหนังสือเล่มนั้นไปจากพื้นที่สาธารณะของชุมชนหรือไม่ แต่ก็ไม่มีอำนาจสั่งห้ามผู้ปกครองที่ต้องการให้เด็กๆ อ่านหนังสือเหล่านั้นเองนอกเวลาเรียน
รัฐบาลไทยสั่งปิดกั้นสิ่งพิมพ์มาแล้วหลายชนิดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
แม้หนังสือเด็กจะไม่ถูกแบนจากรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก แต่การปิดกั้นหรือออกคำสั่งห้ามเข้าถึง ‘หนังสือทั่วไป’ ที่พูดถึงแนวคิดหรืออุดมการณ์ซึ่งแตกต่างจากรัฐ "เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ" โดยเฉพาะเรื่องการเมืองหรือศาสนา
กรณีของประเทศไทย เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งห้ามสั่งซื้อ-นำเข้า ห้ามเผยแพร่และแจกจ่าย ‘สิ่งพิมพ์’ หลายชนิดใน 15 ปีที่ผ่านมา ทั้งหนังสือ (กงจักรปีศาจ, Verisimilitude), บทความ, แผ่นพับ-ใบปลิว, นิตยสารไทย (ฟ้าเดียวกัน ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย), นิตยสารจากต่างประเทศ เช่น Marie Claire, Asia!, หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ (South China Morning Post) โดยให้เหตุผลในการสั่งห้ามต่างกันไป เช่น ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมถึงมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์