สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ สำนักงาน กสทช. ต้องหยุดปล่อยข้อมูลสร้างความสับสนต่อสาธารณะ กรณีกฤษฎีกาให้ความเห็นกรณีควบรวม ค่ายมือถือ "ทรู - ดีแทค" ที่สอดคล้องกับคำสั่งศาลปกครอง คือ กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการ แต่สำนักงาน กสทช. ยังตีความต่อสาธารณะว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการพิจารณา หากยังยืนยันไม่เดินหน้าตัดสินการควบรวมฯ กสทช. เตรียมรับข้อหา ม.157 ละเลยการปฏิบัติหน้าที่
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่าขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำลังทำให้สาธารณะเข้าใจผิดจากการออกข่าวว่า สำนักงานกฤษฏีกาให้ความเห็นว่า กสทช.ไม่มีอำนาจตามกฏหมายในการพิจารณาประเด็นควบรวมค่ายมือถือ หลังจากที่สำนักงาน กสทช. ได้ส่งหนังสือขอความเห็นกฤษฏีกา ผ่านรักษาการนายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้รับความเห็นกลับมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565
“หากอ่านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่าคำวินิจฉัยคล้ายกับศาลปกครองที่ออกมาก่อนหน้า คือ กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคมแต่คณะกรรมการกฤษฎีกาอาจจะเขียนออกมาไม่ชัดเจนเท่าไรจึงทำให้สำนักงาน กสทช. ตีความผิดและปล่อยข้อมูลไปว่า กสทช. ไม่มีอำนาจ” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว
ทั้งนี้ การตีความของกฤษฎีการะบุออกมาชัดเจนว่า ประกาศฯ กสทช. ปี 2561 ยังมีผลใช้บังคับและหากผู้ประกอบการมือถือต้องการรวมธุรกิจเข้าด้วยกันจะต้องทำตามประกาศฯ กสทช. ปี 2561 หมายความว่า การรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคเป็นการรวมธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งเป็นอำนาจของ กสทช. ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าอำนาจในการพิจารณาควบรวมกิจการครั้งนี้เป็นอำนาจของ กสทช. เต็มขั้น
“สิ่งที่สำนักงาน กสทช. เข้าใจผิดว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคม ถือว่าส่งผลเสียต่อสาธารณะมากและอาจเข้าข่ายว่าสำนักงาน กสทช. กำลังให้ข้อมูลเท็จกับสาธารณะใช่หรือไม่” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคตั้งคำถาม
ในส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม หากดูตามมาตรา 21 และ 22 ตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ระบุว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค กำกับกิจการโทรคมนาคม ทำให้กิจการโทรคมนาคมเกิดการแข่งขัน ลดการผูกขาด และกำกับดูแลการกระทำดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคมและประชาชนผู้ใช้บริการ ส่วนหน้าที่การพัฒนากิจการโทรคมนาคมไม่ได้เป็นหน้าที่ของ กสทช. แต่เป็นบทบาทของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีเพียง กสทช. เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นประธานกองทุน อีกทั้งการกล่าวอ้างว่า กสทช. สามารถใช้วิธีการกำกับราคาได้นั้นไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะการใช้ค่าเฉลี่ยจากแพ็คเกจที่ไม่มีผู้บริโภคใช้งานหรือจำกัดการขายแพ็คเกจต่าง ๆ มาคิดเหมารวมด้วย ขณะที่ราคาส่วนเกินโปรโมชันไม่ได้คิดรวม จะทำให้ราคาที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายแพงขึ้น
สารี กล่าวเสริมว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคอยากเห็น กสทช. ออกมายับยั้งสำนักงาน กสทช. ทันที ในการให้ข้อมูลที่อาจเข้าข่ายการให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เช่นเดียวกับกรณีเมื่อครั้งที่ กสทช. ออกมายับยั้งกรณีข้อเท็จจริงห้าประการที่ส่งผลกระทบหากมีการควบรวมกิจการ
“สภาองค์กรของผู้บริโภคยังมีความคาดหวังเป็นอย่างมากที่จะไม่เห็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมครั้งนี้ เนื่องจากในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีประธาน กสทช. เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ด้วย ดังนั้นจึงขอให้ กสทช. ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ และคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ” สารี กล่าว
อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรของผู้บริโภคพร้อมร่วมฟ้องคดี กสทช. ร่วมกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ในประเด็นที่ กสทช. ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในขณะที่ทั้งศาลปกครองและกฤษฎีกายืนยันแล้วว่า กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคชวนผู้บริโภคทุกคนร่วมฟ้องคดีกับสภาองค์กรของผู้บริโภค อีกทั้งร่วมแสดงพลังให้ กสทช. รู้ว่าประชาชนไม่เอาควบรวมทรู - ดีแทค ผ่านการร่วมลงชื่อรณรงค์ต่อต้านการผูกขาดทางการค้ากรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ได้ที่ Change.org/TrueDtac และร่วมกันติดแฮชแท็ก #หยุดผูกขาดมือถือ ในทุกช่องทาง