สรุป
- ฝั่งลาวขาดแคลนน้ำมัน และสินค้าบางอย่างราคาสูง ทำให้ชาวลาวต้องข้ามฝั่งมาเติมน้ำมันจากไทย และหาซื้อสินค้าจากฝั่งไทยกลับไป
- ประเทศจีนเป็นเจ้าหน้ารายใหญ่ของลาว เนื่องจากลาวกู้เงินมาลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
- AidData คาดว่า ลาวจะมีหนี้สินต่อจีนมูลค่าประมาณ 12,200 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 446,000 ล้านบาท หรือ 64.8% ของจีดีพี
- ลาวเคยเสนอมอบที่ดินให้จีนเป็นค่าตอบแทนที่เข้ามาช่วยสร้างสนามกีฬามูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ทันเปิดการแข่งขันซีเกมส์ 2009 ที่ลาวเป็นเจ้าภาพ
- ชาวลาวเริ่มไม่พอใจที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการกับหนี้ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้เศรษฐกิจไม่ดี ข้าวของมีราคาแพง
เว็บไซต์นิกเกอิ รายงานว่า ช่วงนี้ปั๊มน้ำมันในหนองคาย ฝั่งไทย จะมีชาวลาวขับรถข้ามฝั่งมาเพื่อเติมน้ำมันให้กับรถของตัวเองแบบเต็มถัง แถมเติมใส่ถังขนาด 20 ลิตรเพิ่มอีกต่างหาก ทั้งนี้เนื่องจากว่า ฝั่งลาวกำลังเผชิญกับปัญหาน้ำมันขาดตลาด และราคาพุ่งสูงขึ้น โดยเมื่อเดือน มิ.ย. มีรายงานว่า ราคาน้ำมันของลาวปรับสูงขึ้น 107.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
และราคาน้ำมันไม่ใช่สินค้าอย่างเดียวที่ขึ้นราคาในลาว มีสินค้าอีกหลายรายการที่ขยับเพิ่มขึ้น ทำให้ชาวลาวต้องข้ามฝั่งมาไทยเพื่อหาซื้อสินค้าเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น สบู่ ผงซักฟอก เสื้อผ้า หรือแม้แต่อาหาร โดยชาวลาวบอกว่า สินค้าบางอย่างบางร้านไม่มีจำหน่ายแล้ว หรือมีก็ราคาแพงกว่าเมื่อก่อน
ซึ่งการอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ที่ขึ้นชื่อเรื่องกดขี่และคลุมเครือ ทำให้ชาวลาวเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการบ่นออกมาตรงๆ ใช้เพียงการวิจารณ์ลับหลังและแสดงออกถึงความไม่พอใจบนโลกโซเชียลเท่านั้น
ธนาคารโลกเตือนลาวเสี่ยงตกเป็นเหยื่อความยากจน
นิกเกอิ เปิดเผยว่า มีผู้เชี่ยวชาญบางคน เคยเตือนบรรดาผู้นำระดับสูงของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวถึงทุ่นระเบิดทางเศรษฐกิจหลายแห่งเกิดขึ้นท่ามกลางพวกเขา ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์ (659,000 ล้านบาท) ที่ร่อยหรอ และหนี้ต่างประเทศที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้จากจีนที่นำมาใช้กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของลาว เช่น รถไฟมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ทำให้คนเปรียบเทียบลาวกับศรีลังกา ที่เพิ่งล้มละลายไปเพราะหมดเงินไปกับการชำระภาระผูกพันต่างประเทศเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา กลายเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียใต้ที่ผิดนัดชำระหนี้ในรอบ 10 ปี
ส่วนในลาวนั้น สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ซึ่ง อเล็กซ์ เครเมอร์ ผู้จัดการประจำธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลกเคยเตือนไว้เมื่อเดือน พ.ค. ว่า ชาวลาวเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อความยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมือง และตามหัวเมืองต่างๆ เนื่องจากสินค้าที่ราคาสูงกว่ารายได้ และอัตราเงินเฟ้อโดยรวมแตะ 25.6% ในเดือน ก.ค. โดยเครเมอรร์ กล่าวต่อว่า จุดอ่อนเชิงโครงสร้างรุนแรงขึ้นจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด, สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลกที่ถดถอย และการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินกีบลาว ซึ่งปีที่แล้วอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 9,400 กีบต่อดอลลาร์ ช่วงกลางปี 2022 ร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศบางแห่งในเวียนจันทน์แสดงอัตราแลกเปลี่ยนที่ 15,000 กีบต่อดอลลาร์ ส่วนในตลาดมืดตัวเลขยิ่งสูงขึ้นคือ ประมาณ 19,200 กีบต่อดอลลาร์
ค่าเงินกีบที่ร่วงกระตุ้นให้นักวิเคราะห์คนไทยส่งสัญญาณเตือนถึงการขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอย่างรุนแรงในลาว ซึ่งปัจจุบันคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ (47,600 ล้านบาท) ซึ่งครอบคลุมการนำเข้าแค่ 2.2 เดือน และถูกบีบให้ต้องชำระหนี้ต่างประเทศ 1,300 ล้านดอลลาร์ในปีนี้อีก
สถิตย์ แถลงสัตย์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยกรุงศรี เปิดเผยว่า ลาวกำลังทุกข์กับการขาดดุล 2 อย่าง ได้แก่ การขาดดุลการคลังและการขาดดุลบัญชีเงินสะพัด ท่ามกลางทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ลาวมีการขาดดุลทางการคลัง 3 - 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อปี นั่นต้องใช้เงินทุนจากภายนอกเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้ขาดดุลบัญชีเงินสะพัดโดยเฉลี่ยมากกว่า 10% ของจีดีพี ซึ่ง สถิตย์ เรียกสิ่งเหล่านี้่คือ ปัญหาเรื้อรัง จะเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจทันที
ด้านบุญเหลือ ซินไซวรวงศ์ ผู้ว่าการธนาคารกลางในลาว ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งมาเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึงไตรมาสแรกของปี 2565 ลาวน่าจะได้รับเงิน 9,810 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 359,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมีเพียง 32% เท่านั้นที่เข้าสู่ระบบธนาคารในประเทศ
AidData คาดลาวเป็นหนี้จีนกว่า 4 แสนล้านบาท หรือ 64.8% ของจีดีพี
นิเคอิ รายงานว่า แบรดลีย์ พาร์ก กรรมการบริหาร AidData ศูนย์วิจัยของวิทยาลัยวิลเลียม แอนด์ แมรี ในสหรัฐอเมริกา คำนวณว่าลาวใช้หนี้ทางการจีนไปแล้วจำนวน 5,570 ล้านดอลลาร์ ราว 203,000 ล้านบาท จากการกู้ยืมเงินระหว่างปี 2543 - 2560 ซึ่งถือว่าเล็กน้อยกับจำนวนที่กู้ยืมมามาก อีกทั้งลาวยังมีระดับหนี้สาธารณะที่ซ่อนเร้นอยู่ในระดับสูงผิดปกติต่อจีนด้วย โดยเพิ่มขึ้น 6,690 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 244,000 ล้านบาท หรือประมาณ 35% ของจีดีพี AidData ชี้ว่าหนี้ซ่อนเร้นนั้นอยู่ในสัญญาที่หน่วยงานรัฐบาลลาวเป็นเจ้าของทั้งหมดหรือบางส่วน แต่ไม่มีการรับประกันการชำระหนี้คืนที่ชัดเจน ซึ่งผลที่จะตามมาคือ ลาวจะมีหนี้สินต่อจีนมูลค่าประมาณ 12,200 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 446,000 ล้านบาท หรือ 64.8% ของจีดีพี
อีกทั้งธนาคารโลกเคยประเมินว่าหนี้สาธารณะและหนี้ค้ำประกันทั้งหมดของลาวอยู่ที่ 88% ของจีดีพีในปี 2564 แต่เนื่องจากตัวเลขของธนาคารโลกไม่รวมหนี้สาธารณะที่ซ่อนอยู่ของลาวที่มีต่อจีน ทำให้ระดับหนี้สาธารณะที่แท้จริงของลาวต่อเจ้าหนี้ทั้งหมดมีแนวโน้มมากกว่า 120% ของจีดีพี
ตามข้อมูลจากธนาคารโลกบอกว่า ไม่น่าแปลกที่ลาวกำลังเผชิญสถานการณ์คล้ายๆ กับศรีลังกา เนื่องจากการผิดชำระหนี้ เพราะลาวมีหนี้ต่างประเทศประจำปีอยู่ที่ 1,300 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 47,500 ล้านบาท จนถึงปี 2568
ขณะที่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มูดี้ส์ หน่วยงานจัดอันดับระดับโลก ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของลาวลงไปอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า "ขยะ" คือ มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ในระดับสูง เนื่องจากการระบบการจัดการที่ไม่เข้มแข็งพอ ภาระหนี้ที่สูงมาก และการไม่ครอบคลุมเพียงพอของระยะเวลาครบกำหนดชำระหนี้ภายนอก ทำให้ผู้นำลาวแสวงหาความช่วยเหลือจากจีน เวียดนาม และรัสเซีย ที่เป็นชาติพันธมิตรกันมานาน
โนริฮิโกะ ยามาดะ ผู้เชี่ยวชาญลาวซึ่งเคยทำงานกับหน่วยงานรัฐหลายแห่งในลาว กล่าวว่า เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลลาวได้เชิญเอกอัครราชทูตจาก 3 ประเทศข้างต้นมาเพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและธนาคารเอกชนเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ ซึ่งผลและเนื้อหาของการปรึกษายังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่าไม่เพียงจีนเท่านั้น แต่ยังรวมเวียดนามและรัสเซียในการช่วยเหลือลาวด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ มองว่า ลาวอาจได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนความคิดจีนเกี่ยวกับภาระหนี้ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ปักกิ่งดูไม่ค่อยเต็มใจที่จะปรับโครงสร้างหนี้ของศรีลังกา แต่ผู้สังเกตการณ์สังเกตเห็นว่า จีนยื่นความช่วยเหลือไปยังบางประเทศในแอฟริกาที่กำลังเผชิญกับภาระหนี้เงินกู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของจีน
เหมงตี ยู และ คริสตอฟ เนโดพิล หวัง จาก Green Finance and Development Center ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองของมหาวิทยาลัยฟู่ตัน ของเซี่ยงไฮ้ กล่าวกับนิกเกอิว่า เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยโดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกา ถูกยกเลิกไปหลายครั้งแล้ว และจีนแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการหลายครั้งว่าจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่พหุภาคีและทวิภาคีรายอื่นๆ เพื่อจัดการกับวิกฤตหนี้ในประเทศกำลังพัฒนา
แต่บางคนโต้แย้งว่า ประเทศอย่างลาว เป็นหนึ่งใน 17 ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ที่จีนเป็นผู้ให้กู้ทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดรายเดียว ซึ่งทางการจีนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องช่วยเหลือ
ส่วน แพทริก เมนดิส ศาสตราจารย์รับเชิญด้านกิจการระดับโลกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ ในไต้หวัน บอกว่าการปล่อยกู้ของจีนภายใต้โมเดลการพัฒนา "ฉันทามติปักกิ่ง" ออกแบบบนความเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ระดับชาติและความมั่นคงของจีน และการไม่ช่วยลาวก็ไม่ใช่ทางเลือกของจีน แต่การช่วยเหลือนี้ก็มีอะไรแอบแฝง
ลาวอาจเสนอยกที่ดินให้จีนแทนการชำระหนี้ด้วยเงิน เหมือนตอนซีเกมส์ 2009
เจเรมี ซูก ผอ.ฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือในฮ่องกง และหัวหน้านักวิเคราะห์ของลาว บอกว่า จีนเสนอการบรรเทาหนี้ให้ลาว 800 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 29,000 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลลาวมีช่องว่างสำหรับแรงกดดันด้านการเงินจากภายนอก และยังมีการหารืออื่นๆ ระหว่างลาวและจีนเกี่ยวกับการปลดหนี้ในอนาคตหรือการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อบรรเทาภาระในระยะสั้นอีกด้วย
การจัดการหนี้ที่ยังไม่ได้ชำระของลาวให้กับจีนในอดีตอาจชี้ให้เห็นถึงความช่วยเหลือที่สามาระเปลี่ยนลาวให้เป็นเมืองขึ้นของจีนได้ โดยตัวเลือกบรรเทาหนี้ก่อนหน้านี้มีตั้งแต่แลกเปลี่ยนหุ้นในหน่วยงานของรัฐลาว ไปจนถึงการแบ่งที่ดินให้กับเจ้าหนี้อย่างจีนด้วย ซึ่ง คีธ บาร์นีย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย บอกว่า มีแบบอย่างทางประวัติศาสตร์บางอย่างในการแลกเปลี่ยนที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศของลาวหรือเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ
เช่น เวียงจันทน์ รัฐบาลลาว เสนอมอบที่ดินเพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเพื่อตอบแทนชาวจีน ในการสร้างสนามกีฬามูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 3,600 ล้านบาท ให้ทันเวลาจัดการแข่งขันซีเกมส์ 2009 ที่ลาวเป็นเจ้าภาพ โดยบาร์นีย์ กล่าวว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเปลี่ยนที่ดินให้เป็นทุน ซึ่งเป็นสโลแกนพัฒนาที่สำคัญของลาวและเป็นนโยบายของลาวไปโดยปริยายตลอดช่วงยุค 2000s
จากนโยบายของลาวทำให้ความรู้สึกคนลาวที่มีเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีต่อรัฐสังคมนิยมที่มีพรรคเดียว เนื่องจากพวกเขาบริหารจัดการเศรษฐกิจไม่ดี และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้ยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะจ่ายเงินสำหรับนำเข้าสินค้าที่สำคัญ เช่น เชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม
มีคำพูดจากที่ปรึกษาการลงทุนชาวไทยบอกกับนิกเกอิว่า ชาวลาวไม่เคยโกรธรัฐบาลขนาดนี้มาก่อน และความชอบธรรมในการปกครองประเทศกำลังถูกทำลาย และคำพูดในหมู่ชาวลาวที่ทำธุรกิจคือ ประเทศกำลังกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว