ATOM ประกาศเป้าลงทุนกว่าหมื่นล้านบาท เดินหน้าสู่ 5G ขณะที่ Ooredoo กำลังพิจารณาขายกิจการ ด้านกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ขอให้กลุ่มบริษัทโทรคมนาคมคำนึงถึงด้านสิทธิมนุษยชนก่อนตัดสินใจขายบริษัทในเมียนมาให้กลุ่มบริษัทที่มีส่วนใกล้ชิดกับกองทัพ เกรงจะไม่ปลอดภัยและอาจถูกละเมิดสิทธิได้
เว็บไซต์นิเกอิ รายงานว่า ขณะนี้ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมในเมียนมา กำลังดูท่าทีต่อไปภายใต้รัฐบาลทหาร เพราะกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว และการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังผลักผู้เล่นต่างชาติที่ช่วยทำให้ภาคธุรกิจนี้เติบโตออกไปด้วย
โดย เทเลนอร์ เมียนมา เดิมอยู่ภายใต้บริษัท 'เทเลนอร์' สัญชาตินอร์เวย์ แต่รีแบรนด์ใหม่เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ Advancing Telecommunications of Myanmar หรือ ATOM ที่ตอนนี้กำลังโหมสร้างการรับรู้ด้วยการปิดโปสเตอร์โฆษณาใหญ่ๆ ในกรุงย่างกุ้ง
มูฮัมหมัด เซียอุลเลาห์ ซิดดิกิ ประธานกรรมการบริหารของ ATOM กล่าวกับนิเคอิ ว่าแม้จะมีความท้าทายมากมาย แต่บริษัทก็ตั้งเป้าที่จะลงทุนที่ 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และจะปรับปรุงเครือข่ายของ ATOM พร้อมเปิดตัวสินค้าบริการใหม่ โดยคิดว่าจะเปิดตัว 5G ทั่วประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และ ATOM จะเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่ดำเนินการในเมียนมาอีกด้วย
เดิมเทเลนอร์ ประกาศขายยูนิตดังกล่าวให้กับบริษัทการลงทุนของเลบานอนชื่อ M1 Group ภายใต้เงื่อนไขว่าบริษัทต้องมีหุ้นส่วนที่เป็นบริษัทท้องถิ่น คือ บริษัท Shwe Byain Phyu ที่จะเข้าควบคุมกิจการร้อยละ 80 เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมากดดันว่า กิจการในประเทศต้องมีบริษัทท้องถิ่นร่วมถือหุ้นด้วย
ก่อนหน้านี้ กองทัพเมียนมา ควบคุมตัวอองซาน ซูจี และเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆ และเข้าควบคุมรัฐบาลในเดือน ก.พ. 2564 และจำกัดการเข้าถึงเฟซบุ๊ก, และทวิตเตอร์ หลังถูกตอบโต้อย่างหนักจากประชาชนในโซเชียลมีเดีย อีกทั้งเครือข่ายไร้สายยังคงใช้งานไม่ได้ในพื้นที่ที่มีการต่อต้านทหาร ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โฆษกกองทัพ ประกาศแผนพัฒนาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเอง รวมถึงข้อจำกัดที่อาจเข้มงวดขึ้นในการเข้าเครือข่ายส่วนตัวเสมือนหรือ VPN ที่หลายคนในเมียนมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการห้ามใช้เฟซบุ๊กและเว็บไซต์อื่นๆ ที่คล้ายกัน
นิกเกอิระบุว่ากลุ่มต่อต้านกองทัพเมียนมาพึ่งพาเครือข่ายมือถือในการสื่อสาร เมื่อถูกถามถึงข้อกังวลเรื่องการปกป้องข้อมูลผู้ใช้ ซิดดิกิ ตอบว่า ความเป็นส่วนตัวของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเราจะปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นและบรรทัดฐานที่เป็นสากล แต่ในสถานการณ์ที่กฎหมายเมียนมาไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานสากล ATOM จะตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงและจะดำเนินการในวิธีที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า โดยปัจจุบันรัฐบาลทหารเมียนมา สามารถระงับหรือสกัดกั้นการสื่อสารหรือควบคุมบริการและอุปกรณ์โทรคมนาคมในกรณีฉุกเฉินได้ตามกฎหมาย
ช่วงกลางเดือน ส.ค. ATOM แจ้งว่าได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสนับสนุนการทบทวนและพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งทาง ATOM จะดำเนินการในลักษณะที่ปฏิบัติตามกฎหมายและจริยธรรม ในการติดตั้ง การใช้งาน และหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัดกั้นที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังจะไม่มีการสกัดกั้นในตอนนี้
ขณะที่ บริษัท Ooredoo ที่มีฐานอยู่ในกาตาร์ ให้บริการด้านโทรคมนาคมเหมือนกับเทเลนอร์ เข้ามาให้บริการในเมียนมาช่วงปี 2014 ก็กำลังพิจารณาขายกิจการเช่นกัน ซึ่งรอยเตอร์ส คาดว่ากลุ่มบริษัทเมียนมา ผู้ประกอบการโครงข่ายของสิงคโปร์ และบริษัทสื่อสารจีนดูเหมือนจะเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีศักยภาพ
รายงานของนิกเกอิชี้ว่า การให้บริการโทรศัพท์มือถือถูกจำกัดอย่างหนัก เมื่อกองทัพเข้ามาควบคุมประเทศครั้งสุดท้ายจนถึงปี 2011 ทำให้ราคาซิมการ์ดสูงขึ้นถึง 2,000-3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 70,000-100,000 บาท ในตลาดมืด แต่หลังจากประเทศเป็นประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ เทเลนอร์และ Ooredoo เข้ามาในประเทศ ทำให้การเข้าถึงสมาร์ตโฟน อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย เข้าถึงง่ายมากขึ้นหลัง ซิมการ์ดจึงขายกันราคาอยู่ที่ 1,500 จ๊าต หรือราว 54 บาทเท่านั้น
ส่วน Myanmar Posts and Telecommunications บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำได้ลงนามข้อตกลงในปี 2014 เพื่อร่วมทุนกับ KDDI และ Sumimoto ของญี่ปุ่น ซึ่งทางตัวแทนของ Sumimoto แสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาเกี่ยวกับการสกัดกั้นอย่างถูกกฎหมายและการปิดอินเทอร์เน็ตบนมือถือ เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความมั่นใจในการใช้ระบบสื่อสารสำหรับทุกคน และปกป้องความเป็นส่วนตัวจากมุมมองของนักสิทธิมนุษยชน ทำให้ทุนญี่ปุ่นต้องตัดสินใจว่าจะต่ออายุข้อตกลงนี้ก่อนจะหมดอายุในเดือน มี.ค. 2025 หรือไม่
อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมา ตั้งเป้าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ส.ค. 2023 แต่ความน่าเชื่อถือของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและการตัดสินใจในการลงทุน ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาต้องเผชิญกับภารกิจในการสร้างความมั่นใจในการสื่อโดยเสรี และป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิดไปด้วย และด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนี้ได้เน้นย้ำถึงความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญเมื่อดำเนินการอยู่ในประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งและสิทธิมนุษยชน รวมถึงถ้าต้องการออกจากตลาดก็ต้องทำด้วยความรับผิดชอบ
เทเลนอร์ ประกาศออกจากเมียนมาในเดือน ก.ค. 2564 หลังการปฏิวัติกองทัพ แต่ขณะนี้บริษัทด้านโทรคมนาคมในเมียนมามีกลุ่มบริษัทที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพเข้าควบคุมประมาณ 80% ทำให้เกิดความกังวัลเกี่ยวกับข้อมูลผู้ใช้ที่อาจตกในมือกองทัพได้ ทำให้กลุ่ม Free Expression Myanmar ซึ่งเป็นเครือข่ายรณรงค์ด้านเสรีภาพในเมียนมาได้เรียกร้องให้ Ooredoo เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดจากเทเลนอร์ในการขายที่มีการโต้เถียงกันเมื่อต้นปีนี้
ทางกลุ่มกล่าวว่า มาตรฐานสากลระบุว่า ธุรกิจควรหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดหรือมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในเชิงลบ และพยายามป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบเหล่านี้เมื่อเลิกใช้แล้ว และอยากให้ขอรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่อาจเสี่ยงต่อการถูกละเมิดด้วย