เมื่อไม่นานมานี้มีการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ที่อาจทำให้ความเชื่อที่มีมากว่า 30 ปีต้องเปลี่ยนไป เพราะบทความนี้บอกว่า ภาวะซึมเศร้าที่คนทั่วไปรู้จักกันกว่า 30 ปีนี้อาจไม่ได้เกี่ยวกับสารเซโรโทนินในสมองที่ไม่สมดุล ทั้งนี้เนื่องจากว่ามีการรวบรวมผลการศึกษาที่เคยทำไว้ก่อนหน้าให้เป็นระบบมากขึ้น จึงเห็นว่ามีงานวิจัยบางชิ้น แสดงให้เห็นว่า ระดับสารเซโรโทนินไม่มีความแตกต่างกันระหว่างผู้มีภาวะซึมเศร้า กับผู้ไม่มีภาวะซึมเศร้า
หรือแม้แต่งานวิจัยเกี่ยวกับตัวรับสารเซโรโทนิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ปลายประสาทที่ใช้เชื่อมเซโรโทนิน มีความสามารถในการส่งหรือยับยั้งการส่งผ่านเซโรโทนิน ก็แสดงให้เห็นว่าจำนวนสารดังกล่าวก็ไม่มีผลแตกต่างกันในตัวผู้มีภาวะซึมเศร้า กับผู้ไม่มีภาวะซึมเศร้า แต่ถ้าผู้มีภาวะซึมเศร้าใช้ยาต้านเศร้าหรือ SSRIs อยู่จะเห็นว่ามีเซโรโทนินเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการทดลองสองครั้งในปี 2549 และ 2550 และตัวอย่างการศึกษาล่าสุด 10 ชิ้น พบว่า การลดเซโรโทนินไม่ได้ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีหลายร้อยคน แต่ภาพรวมของการรวบรวมงานศึกษาเกี่ยวกับเซโรโทนิน แสดงให้เห็นว่า ยาต้านซึมเศร้าอาจลดความเข้มข้นของเซโรโทนินได้จริง
อย่างไรก็ตาม ภาวะซึมเศร้าจากเซโรโทนิน เป็นหนึ่งในทฤษฎีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แถมยังมีการวิจัยอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับต้นกำเนิดของภาวะซึมเศร้า ทำให้เกิดคำถามถึงการใช้ยาต้านซึมเศร้า ซึ่งส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าออกฤทธิ์ส่งผลต่อเซโรโทนินว่าได้ผลจริงหรือเป็นอันตรายกับผู้ใช้อย่างไร
รายงานดังกล่าวยังระบุว่า แม้การมองว่าภาวะซึมเศร้าเป็นความผิดปกติทางชีววิทยาจะช่วยลดการตีตราต่อผู้ป่วย ทั้งที่ความจริงแล้วงานวิจัยแสดงให้เห็นในทางตรงข้าม แต่ผู้ที่เชื่อว่าภาวะซึมเศร้าของตัวเองนั้นเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองจะมองโลกในแง่ร้ายมากกว่าการมองหาโอกาสฟื้นตัวจากภาวะนี้
นอกจากนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าการกินยาต้านซึมเศร้านั้นคุ้มค่า และปลอดภัยหรือไม่ แต่ก็ไม่ควรหยุดกินยาเองโดยทันที ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน
ที่มา : Depression is probably not caused by a chemical imbalance in the brain – new study