วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีต ส.ว. ยื่นหนังสือถึงชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับพวก กระทำการส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งนับถึงวันนี้เป็นวันที่ 3,361 ของการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทั้งที่ในสัญญาระบุว่าจะใช้เวลาก่อนสร้างเพียง 900 วัน ยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เมษายน 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
วัชระ ยังกล่าวว่า นอกจากสร้างไม่เสร็จทันตามกำหนดเวลา ยังพบว่าพรพิศ กับพวกและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้กระทำการส่อทุจริตด้วยการมีคำสั่งงานแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้รับจ้างดำเนินการงานเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดของงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ โดยลดแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด หนา 15 มม. 1 แผ่น ในผนังกันเสียงและผนังดูดซับเสียงห้องประชุมกรรมาธิการ บริเวณชั้น 3-4 จำนวน 113 ห้อง ตามข้อเสนอของผู้รับจ้าง แต่ไม่ทำตามความเห็นของผู้ออกแบบ คำสั่งลดสเปกผนังห้องประชุมกรรมาธิการดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ทำให้ผนังห้องประชุมกรรมาธิการ 113 ห้อง มี 2 รูปแบบ คือ จะมีผนังห้องที่มีแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์สองด้านตรงตามแบบ จำนวน 48 ห้อง แต่จะมีอีกส่วนเหลือแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ด้านเดียว ตามข้อเสนอของผู้รับจ้าง จำนวน 65 ห้อง ซึ่งถือว่าผิดจากแบบ
อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้างเสียงข้างมากที่เห็นชอบตามข้อเสนอของผู้รับจ้าง กับฝั่งกรรมการเสียงข้างน้อยที่ยืนยันให้ผู้รับจ้างทำการแก้ไขให้เป็นไปตามแบบรูปในสัญญา และนำเรียนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อพิจารณาสั่งการ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 การที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสั่งการโดยมีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมในเดือนมิถุนายน 2565 ระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 1 ปี ซึ่งเป็นช่วงปิดสมัยประชุม และงดประชุมด้วยโรคระบาดโควิด-19 ที่ผู้รับจ้างสามารถทำงานแก้ไขรื้อเพิ่มแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ได้ประกอบกับผนังดูดซับเสียงเป็นสาระสำคัญของการจัดสร้างห้องประชุม เพื่อไม่ให้เสียงการประชุมภายในเล็ดลอดไปภายนอก เนื่องจากการประชุมคณะกรรมาธิการเป็นการประชุมลับ และป้องกันเสียงจากภายนอกรบกวนการประชุม
วัชระ ยังกล่าวว่า การเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้างอย่างชัดแจ้ง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามอำนาจและหน้าที่โดยเร็วที่สุด ซึ่งเรื่องผนังห้องประชุมกรรมาธิการฯนี้ เป็น 1 ใน 24 เรื่อง ของการปัญหาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาที่ได้มีการยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบใน 24 ประเด็น เช่น ประตูกันเสียง แนวร่องห่าง ปัญหาไม้พะยอม ปุผนังหินทราโวทีนที่หนาไม่ถึง 25 มม. และที่สำคัญยังพบว่าลานจอดเฮลิคอปเตอร์ พื้นผนังแตกร้าว พื้นไม่ได้ระดับมีน้ำท่วมขังจนเป็นตะไคร้ ราวจับเป็นสนิท พื้นจอดเฮริคอปเตอร์ไม่ได้ระดับ เป็นแอ่ง
ด้านสมบูรณ์ กล่าวเสริมว่างบประมาณก่อสร้างรับสภากว่า 2 หมื่นล้านบาท สร้างไม่เสร็จตามกำหนดจะต้องปรับวันละ 12 ล้านบาท แต่ตอนนี้ผ่านไป 3,361 วันแล้ว