Skip to main content

วันที่ 7 ธ.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภา ที่มีชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีการโหวตร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ ร่างปลดล็อกท้องถิ่น ที่เสนอโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ ในวาระ 1 ด้วยวิธีการขานชื่อ

โดยเริ่มลงมติด้วยการขานชื่อเรียงตามตัวอักษร สำหรับ ส.ส.ฝ่ายค้าน โหวต "รับหลักการ" ยกเว้น ส.ส.ที่ประกาศตัวจะย้ายพรรคไปอยู่กับพรรครัฐบาล

ด้าน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่เปิดให้ฟรีโหวต แต่ละพรรคโหวตไปคนละทิศทาง เช่น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่วนใหญ่โหวต "ไม่เห็นด้วย" พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ส่วนใหญ่ "งดออกเสียง" พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่วนใหญ่โหวต "เห็นด้วย"

ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) งดออกเสียง และ ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค ภท. โหวตไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ ส.ว. ซึ่งอภิปรายคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น แสดงความชัดเจน โหวตไม่เห็นด้วย มีเพียง ส.ว.ไม่กี่คนเท่านั้นที่โหวตเห็นด้วย

ต่อมา เวลา 11.35 น. เมื่อเปิดให้สมาชิกขานชื่อโหวตจนครบแล้ว ชวนได้เปิดให้สมาชิกที่มาโหวตไม่ทันในช่วงต้นเรียงแถวที่โพเดียมจุดอภิปราย ซึ่งจัดไว้ให้ขานชื่อเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งมีจำนวนมากเป็นพิเศษ ถึงร้อยกว่าคน จึงให้สมาชิกยืนเป็นแถวสวมหน้ากากอนามัย เดินเข้ามาในตู้และขานชื่อพร้อมเลขประจำตัวเพื่อสะดวกต่อการนับคะแนน

ชวนที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้ประกาศผลการลงมติ โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นด้วย คะแนน 254 ต่อ 245 คะแนน งดออกเสียง 129 คะแนน และแจ้งเพิ่มเติมว่า คะแนนรับหลักการมีจำนวนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา คือน้อยกว่า 361 คน ในจำนวนนี้มีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบ จำนวน 6 คะแนน ถือว่าน้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือน้อยกว่า 83 คะแนน

ดังนั้น จึงถือว่ามติที่ประชุมรัฐสภาไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นฉบับนี้