โลกยุคปัจจุบัน ปัญหา “สังคมผู้สูงอายุ” หนักขึ้นมาก และชาติต่างๆ ก็มีปฏิกิริยาที่ไม่ต้องการให้ "ผู้อพยพ" เข้ามาในประเทศเช่นกัน สิ่งที่เกิดในภาวะอันย้อนแย้งนี้ แน่นอนที่เรารู้ดี คือ รัฐสวัสดิการจะร่อแร่เพราะภาระค่าใช้จ่ายนั้นจะขยายตัวไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่รายได้ไม่เพิ่ม
แต่อีกด้าน สิ่งที่เราจะพบเช่นกัน ก็คือ "ชนบท" ต่างๆ จะเริ่มรกร้าง ไม่มีคนอยู่ ซึ่งผลก็มักจะเป็นการ "ฮาร์ดเซลล์" พยายามกระตุ้นให้คนซื้อบ้านและที่ดินในราคาถูกให้คนมาอยู่ และจริงๆ เรื่องพวกนี้เป็นข่าวดัง ซึ่งคนตามเรื่องพวกนี้น่าจะเคยผ่านตาอยู่แล้ว ไม่ว่านั่นจะเป็นข่าวในอิตาลีหรือญี่ปุ่น
ประเด็นคือ ภาวะที่ว่านี้ไม่ได้เกิดในสองประเทศที่ว่า แต่เป็นปรากฏการณ์ทั่วไป และที่เราอยากจะเล่าคือ ปรากฏการณ์แบบเดียวกันในสเปน ที่มีคำเรียกเป็นภาษาสเปนว่า España vaciada ซึ่งนิยมแปลเป็นอังกฤษว่า Empty Spain หรือจะเรียกภาษาไทยว่า "สเปนที่ว่างเปล่า" ก็ได้
สเปน เป็นประเทศที่ใหญ่โตมาก พื้นที่ของสเปนพอๆ กับไทย คือ ประมาณ 500,000 ตารางกิโลเมตร (ซึ่งจริงๆ ขนาดใหญ่มาก แต่คนไทยมักจะไม่รู้สึก) แต่ประชากรสเปนมีแค่ราวๆ 50 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าไทย ดังนั้นก็ไม่ต้องสงสัยว่าความหนาแน่นของประชากรของสเปนนั้นรวมๆ คือน้อยกว่าแน่
แต่ที่หนักก็คือ ประชากร 90% ของสเปนอาศัยอยู่ในพื้นที่ 30% ของประเทศเท่านั้น ซึ่งก็คือพวกเมืองใหญ่ๆ และชายฝั่งทะเลและพื้นที่โดยรอย นั่นหมายความว่า ประชากรอีก 10% ของสเปนหรือประมาณ 5 ล้านคน กระจายอยู่ในพื้นที่ว่างตรงใจกลางประเทศที่กว้างใหญ่มากถึง 350,000 ตารางกิโลเมตร และนั่นทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของสเปนแทบไม่มีประชากรอยู่อาศัยเลย โดยเมืองที่มีประชากรไม่เกิน 200 คน หรือหลักสิบคน ไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดเลยในทุ่งโล่งกว้างใหญ่ในใจกลางประเทศ
ถ้าเราดูการกระจายตัวประชากรของสเปน เราจะเห็นเลยว่า ถ้าคนไม่เข้ามาที่ศูนย์กลางที่อยู่ตรงใจกลางประเทศเลยอย่างมาดริด คนก็จะไปกระจุกตัวตามเมืองชายทะเลต่างๆ (ที่รู้จักกันดีก็เช่น บาร์เซโลนา วาเลนเซีย เซบีญ่า) ส่วนพวกพื้นที่อื่นๆ คือ ประชากรเบาบางมาก และเบาบางระดับที่ว่า ถ้าเราแค่ขับรถออกมาจากมาดริด 1 ชั่วโมง เราก็อาจจะเจอเมืองระดับที่มีประชากร 50 คน ที่มีหมอเข้าไปที่เมืองแค่อาทิตย์ละครั้งอะไรแบบนี้ได้เลย ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจที่เมืองแบบนี้ จะไม่มีโรงเรียนและไม่มีเด็กๆ ในเมืองเลย เพราะขนาดเมืองที่ประชากรมากกว่านี้ในระดับ 300-400 คน การมีโรงเรียนและดำเนินกิจกรรมทางการศึกษาก็เป็นเรื่องลำบาก เพราะภาวะที่ทั้งเมืองมีเด็กนักเรียนไม่เกิน 10 คนในทุกชั้นปีก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และก็ไม่แปลกอีกที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ถ้าเลือกได้ ก็จะให้ลูกโตในเมืองใหญ่มากกว่าจะให้ลูกอยู่โรงเรียนที่ต้องลุ้นตลอดว่าจะโดนปิดหรือไม่ ซึ่งนั่นก็ยิ่งทำให้พวกเมืองเล็กๆ สเปนนั้น "ปลอดเด็ก" และ "มีแต่คนแก่" เข้าไปอีก
สำหรับสเปน ปรากฎการณ์ "สเปนที่ว่างเปล่า" เป็นเรื่องของ "กระบวนการ" ที่มีมาตั้งแต่ยุคเผด็จการนายพลฟรังโกตั้งแต่ 50 ปีก่อน และผ่านมา 50 ปี ปัญหาที่ "ความเจริญ" ไปกระจุกตัวที่เมืองใหญ่ๆ ทำให้ชนบทคนหดหายก็ไม่ได้รับการแก้ไข และทำให้ประชากรชนบทรวมๆ หายไปราวๆ 30% แต่ผลในทางปฏิบัติคือ เมืองที่คนน้อย คนก็จะยิ่งน้อย และท้ายที่สุดก็จะเป็นเมืองที่ผู้คนไม่สามารถทำมาหากินได้ เพราะระบบเศรษฐกิจในเมืองเล็กเกินไป และปรากฏการณ์แบบนี้ก็ไม่ได้ต่างจากที่เกิดในญี่ปุ่น เพียงแต่เอาจริงๆ สเปนน่าจะหนักกว่า เพราะที่นับในปัจจุบัน "เมืองร้าง" แบบประชากรเป็น 0 น่าจะมีเกิน 500 เมืองแล้วในสเปน และตัวเลขนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เมืองที่คนเหลือหลักร้อย
ถ้าเป็นญี่ปุ่น ปัญหานี้จะถูกมองว่าความเจริญของเมืองทำให้ชนบนกลายเป็นเมืองร้างอย่างเลี่ยงไม่ได้ในภาวะสังคมผู้สูงอายุ แต่สเปนจะไม่ได้มองว่าเป็นผลของสังคมผู้สูงอายุเพียวๆ แต่จะมองว่าเป็น "มรดกยุคเผด็จการ" ที่ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะในยุครัฐเผด็จการนายพลฟรังโก มีการวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเอาไว้แค่พวกเมืองชายฝั่ง และทำให้พวกเมืองทั้งหลายใจกลางประเทศไม่มีบทบาททางเศรษฐกิจ และนั่นทำให้ระบบสาธารณูปโภคเข้าไม่ถึง คือไม่ได้เชื่อมกับถนนสายใหญ่ๆ ไม่มีการตั้งโรงพยาบาล ไม่มีการตั้งโรงละครหรือพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ทำให้คนยิ่งอยากย้ายออกไปในเมืองที่เข้าใกล้กับ "สิ่งจำเป็นในชีวิต" มากกว่า ซึ่งในระยะยาว ภาวะแบบนี้มันไม่สามารถแก้ไขตัวเองได้ถ้ารัฐไม่ทำอะไร และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสภาพที่เห็น คนหลั่งไหลออกจากชนบทไปยังเมืองใหญ่ๆ โดยถ้าประชากรน้อยลงถึงจุดที่ทำให้โรงเรียนต้องปิด ก็ต้องทำให้ครอบครัวที่มีลูกในวัยเรียนต้องย้ายออกจากเมืองไปอยู่เมืองที่ขนาดใหญ่กว่า ที่มีโรงเรียนซึ่งลูกจะเรียนยาวๆ จนจบการศึกษาได้
ประเด็นตรงนี้คือ สเปนหลุดจากระบบเผด็จการมาไม่รู้กี่ทศวรรษแล้ว ทำไมปัญหาที่ยุคเผด็จการสร้างเอาไว้ถึงไม่หายไปไหน?
และนี่คือ "หายนะในเชิงพื้นที่" ของประชาธิปไตย คือ ระบบประชาธิปไตยปกติ พื้นที่ที่ยิ่งมีคนมาก ก็จะยิ่งได้ผู้แทนมาก ดังนั้นผลของระบอบประชาธิปไตยก็คือ ผู้แทนแทบทั้งหมดของสเปนมาจากพื้นที่ 30% ที่ประชากร 90% ไปกองกันอยู่หมด และนี่หมายความว่าพื้นที่อีก 70% ที่มีโควต้าผู้แทนจากประชากรเพียง 10% แทบจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงในสภาเลยมาแต่ไหนแต่ไร และมันก็ยิ่งทำให้รัฐบาลสเปน ยิ่งไม่มีเหตุผลที่จะพัฒนาพื้นที่อีก 70% ของประเทศเพราะมันไม่ใช่ "ฐานเสียง" ของพรรคการเมืองใดทั้งนั้น
แต่การถูกละเลยมายาวนานนี้สุดท้าย ไปๆ มาๆ มันทำให้เกิดพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นที่ทำแคมเปญให้ชาวสเปนต้องไม่หลงลืมชนบทพื้นที่ "สเปนที่ว่างเปล่า" และกวาดคะแนนเสียงมาได้มากพอจะส่งตัวแทนไปในสภาระดับประเทศได้ โดยพรรคดังๆ ก็เช่น Teturel Existe จากแคว้นอารากอน ที่เป็นพรรคการเมืองท้องถิ่นที่ได้ที่นั่งในสภาเป็นครั้งแรกในปี 2019 และทำให้เริ่มมีพรรคการเมืองจากท้องถิ่นอันว่างเปล่าอื่นๆ ดำเนินรอยตาม เป็นต้น
สุดท้าย จริงๆ พรรคพวกนี้ทำให้การเมืองสเปนมีตัวแปรที่น่าสนใจ เพราะสเปนเป็นประเทศที่ใช้ระบบหลายพรรคการเมือง และการที่มีพรรคแนว "ท้องถิ่นนิยม" เน้นการชูให้รัฐบาลระดับประเทศหันมามองท้องถิ่นที่ถูกละเลยเหล่านี้ ผลรวมๆ คือ ทำให้พรรคขวาจัดที่ผุดขึ้นทั่วยุโรปนั้นทำงานแบบเดียวกันไม่ได้ในสเปน เพราะสุดท้ายพวกพรรคแนว "ชาตินิยม" ขวาจัด หลักๆ คือจะขยายตัวได้ดีตามชนบท แต่ชนบทสเปนไม่ได้อินกับความ "ชาตินิยม" เพราะลัทธิพวกนี้นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ชนบนต้องเสียสละจนรกร้างว่างเปล่ามายาวนาน
อ้างอิง
Abandoned: The ghost villages of Spain as 70% of rural land home to just 10% of population
‘Empty Spain’ in the spotlight as countryside fights back
'Empty Spain’: country grapples with towns fading from the map
Roundup: Rural towns in "Empty Spain" threatened with extinction
The emptying of Spain’s interior