Skip to main content

 

"ฟาสต์แฟชั่น" หรือ แฟชั่นมาไวไปเร็วที่เติบโตขึ้นทุกวันนี้ ทำให้ช่องว่างระหว่างแรงงานผู้ผลิตเสื้อผ้ากับผู้ที่สวมใส่ห่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ราคาที่ต่ำ และการใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง ทำให้ผู้ซื้อไม่เห็นถึงแรงงานมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังการผลิตเสื้อผ้าเหล่านั้น ซึ่งได้รับค่าแรงที่ต่ำ คุณภาพชีวิตย่ำแย่ และต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี

HUMAN TOUCH แบรนด์เสื้อผ้าในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ได้นำเสนอแรงงานมนุษย์บนเสื้อผ้า โดยใช้ศิลปะการพิมพ์และการเย็บ ซึ่งมีลวดลายพิมพ์จากสีย้อมผ้าที่ทาบนมือของผู้ตัดเย็บซึ่งสัมผัสเสื้อผ้าขณะทำงาน และปรากฏออกมาเป็นลวดลายเฉพาะตัวบนเสื้อผ้าเหล่านั้น

จูเลียต ซีเกอร์ ผู้ก่อตั้งเสื้อผ้าแบรนด์  HUMAN TOUCH ซึ่งจบปริญญาโทสาขาการออกแบบเพื่อความยั่งยืน จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระในปี 2020 ขณะนั้นเธอมีความคิดที่ว่า ปัจจุบันแม้เครื่องจักรอัตโนมัติจะเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ในการผลิต แต่สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า การตัดเย็บยังต้องอาศัยแรงงานมนุษย์อยู่ดี เธอจึงเริ่มพัฒนาแนวคิดของโปรเจคท์ที่ต่อมากลายเป็น HUMAN TOUCH

HUMAN TOUCH ก่อตั้งขึ้นในปี 2023 โดย จูเลียต ซึ่งเป็นทั้งช่างตัดเสื้อ วิศวกรสิ่งทอ และนักออกแบบเพื่อความยั่งยืน ร่วมกับเพื่อนสนิทและหุ้นส่วน คริสตินา อัลเบรชท์ ที่เป็นนักตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยเช่นกัน

HUMAN TOUCH ทำให้แรงงานของมนุษย์ปรากฏอยู่บนเสื้อผ้าโดยที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ด้วยการพิมพ์ลวดลายนิ้วมือของผู้ตัดเย็บลงบนเสื้อผ้าในระหว่างที่สัมผัสชิ้นงาน และเนื่องจากเป็นการผลิตตามการสั่งของลูกค้า เสื้อผ้าแต่ละตัวจึงมีลวดลายความเฉพาะตัว ซึ่งเป็นการผสานสัมผัสของมนุษย์ลงไปในเสื้อผ้า

แบรนด์ HUMAN TOUCH เปิดตัวในงานแฟชั่นโชว์ที่เบอร์ลินในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 และได้รับความสนใจอย่างมากจากผูเข้าชมงาน ซึ่งเป็นโอกาสให้จูเลียตได้บอกเล่าถึงแนวคิดการนำเสนอแรงงานมนุษย์บนเสื้อผ้า

HUMAN TOUCH จะใช้ผ้าเกรดรองที่ซื้อจากผู้ขายส่ง รวมถึงผ้าค้างสต็อก และผ้าจากตลาดในท้องถิ่น โดยเน้นผ้าที่ทอจากเส้นใยธรรมชาติ นอกจากนั้น ยังใช้เสื้อผ้ามือสองมาอัปไซเคิลผลิตเสื้อผ้าในชื่อว่า ‘Remedy’ ซึ่งจูเลียตและคริสตินาตั้งใจที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเธอเกิดความยั่งยืนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“HUMAN TOUCH จะคงคอนเซ็ปต์เอาไว้เป็นอันดับแรกเสมอ ลำดับต่อมาจึงค่อยเป็นเรื่องของแบรนด์ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงบอกว่า เราเป็นนักกิจกรรมด้านแบรนด์” คริสตินา ผู้ร่วมก่อตั้ง HUMAN TOUCH กล่าว

“พวกเราอยากแสดงให้เห็นว่า การตัดเย็บเสื้อผ้าไม่ใช่ 'งานทักษะต่ำ' แต่มันมีความหมายมากกว่านั้น งานเย็บผ้าต้องอาศัยแรงงานมนุษย์และความชำนาญอย่างมาก และด้วยจำนวนคนที่ทำงานเย็บผ้าทั่วโลกจำนวนมหาศาล เทคโนโลยีการเย็บผ้าจึงควรถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีทางสังคม ซึ่งมีความสำคัญและควรได้รับการศึกษาและให้คุณค่าในฐานะเครื่องมือสำคัญในการสร้างระบบแฟชั่นที่ดีกว่า” จูเลียตกล่าว


อ้างอิง
HUMAN TOUCH Makes Visible the Invisible Hands that Sew our Clothes
The Impact Review: HUMAN TOUCH
Innovative Clothing Line Makes 'Human Labor Visible' on Every Garment