Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

ในสหรัฐอเมริกา "ปัญหาคนไร้บ้าน" ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จำนวนคนไร้บ้านในสหรัฐอเมริกาช่วงหลังๆ เพิ่มจากหลักหมื่นเป็นหลักแสนคน และก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีประมาณเกือบ 800,000 คนแล้ว และแน่นอนว่า ถ้าแนวโน้มเป็นแบบนี้ปริมาณก็จะไปถึง 1,000,000 คนในที่สุด

สหรัฐอเมริกาน่าจะเป็นประเทศที่มีปริมาณคนไร้บ้านมากที่สุดในโลก และเหตุผลสำคัญก็คือ  "ค่าเช่า" ที่พักอาศัยต่างๆ ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในที่นี้เราคงไม่ต้องพูดถึงการทำให้การเป็น "เจ้าที่ดิน" เป็นธุรกิจไฮเทคผ่านเทคโนโลยีสารพัดในอเมริกาว่า มีส่วนทำให้ค่าเช่าพุ่งขึ้นแค่ไหน แต่เราจะพูดถึงแนวทางการจัดการ "คนไร้บ้าน" ในสหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา คนไร้บ้านเป็นคนละเรื่องกับ "ขอทาน" เพราะจริงๆ คนพวกนี้มักจะมีรายได้จากรัฐ แค่รายได้มันไม่เพียงพอจะไปเช่าที่อยู่ หรือเอาเข้าจริงๆ ปัญหาที่ซ้อนลงไปคือ คนพวกนี้มักจะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าจนถูกไล่ออกมา ซึ่งประวัติแบบนี้มักจะถูกบันทึกเอาไว้ และจะส่งผลให้เหล่า "เจ้าที่ดิน" เลือกจะปฏิเสธไม่ให้คนพวกนี้เช่าที่พักอาศัย พอไม่มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่ง ก็ทำงานได้ยาก ซึ่งพอไม่มีงาน "เจ้าที่ดิน" จำนวนมากก็จะปฏิเสธไม่ให้คนพวกนี้เช่าที่พักอาศัยในราคาถูก ทำให้คนพวกนี้ถึงอยากจะมีที่อยู่อาศัยก็มีไม่ได้ และก็เป็นคนไร้บ้านไปทั้งที่จริงๆ แล้ว พวกเขา "พอมีรายได้"

ภาวะแบบนี้ทำให้อเมริกาเกิดปัญหามาก คนไร้บ้านที่พอมีรายได้แต่ไม่มีทางจะมีอนาคตก็หายาเสพติดมาเสพให้ลืมความทุกข์ทั้งหลาย และเป็นปัญหาระดับชาติขนาดประธานาธิบดีทรัมป์เอาเรื่องยาเสพติดมาอ้างในการคว่ำบาตรชาติต่างๆ แล้วฟังขึ้นสำหรับคนจำนวนมาก

กลับมาเรื่อง "คนไร้บ้าน" ของเราก่อน ในอเมริกา คนไร้บ้านมีกระจายไปทั่ว และหลายๆ เมืองก็ปวดหัวในการจัดการ เพราะไอเดียที่ฟังดูเข้าท่าจำนวนมากโดนบล็อคด้วยระเบียบต่างๆ เช่น ในหลายเมือง มีคนสังเกตว่าปัจจุบันมีห้างสรรพสินค้าร้าง โรงเรียนร้าง และหรือกระทั่งโรงแรมร้าง ซึ่งถ้าพื้นที่เหล่านี้สามารถถูกปรับไปเป็น "บ้าน" ให้กับคนไร้บ้านได้ก็ดี และก็มีคนพยายามจะจัดการ แต่ไปๆ มาๆ การปรับพื้นที่เหล่านี้ให้เป็น "ที่พักอาศัย" ต้องไปเจอระเบียบที่ต่างๆ หรือพูดง่ายๆ คือ แค่ให้มีน้ำประปา มีไฟฟ้า ก็เอาคนไร้บ้านมาอยู่ไม่ได้ เพราะแค่จะเปลี่ยนโรงแรมไปเป็นอพาร์ตเมนต์สำหรับคนไร้บ้าน สิ่งที่ต้องเจอคือต้องรื้องานระบบหลายส่วนให้ถูกต้องกับกฎหมายห้องเช่า ซึ่งเป็นคนละแบบกับกฎหมายโรงแรม และทำให้ต้นทุนการปรับอาคารพวกนี้เป็น "บ้าน" สำหรับคนไร้บ้านสูงมาก จึงทำให้โครงการต้องยุบไป

อย่างไรก็ดี จริงๆ มันก็มีโครงการตัวอย่างที่ในทางคอนเซ็ปต์เวิร์คมาก มันคือโครงการที่เกิดขึ้นที่เมืองรอลีย์ (Raleigh) ที่เป็นเมืองหลวงของรัฐนอร์ธแคโรไลน่า โดยเมืองนี้ทางเทศบาลเมืองได้ทำการซื้อโรงแรมเก่า และก็ยังดำเนินการในฐานะโรงแรมต่อไปเพื่อให้ไม่มีปัญหาทางกฎหมาย แต่กดค่าเช่าลงมาให้คนไร้บ้านเข้าอยู่และเริ่มตั้งตัวกับชีวิตใหม่ได้

ถ้าเราไปค้นโรงแรมชื่อ Hospitality Studios ใน Tripadvisor เราจะพบว่าเรตติ้งห่วยแตกมาก คนรีวิวก็สาปส่ง ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่มันเจ๊ง และทางเทศบาลเมืองเอาเงินก้อนจากโครงการช่วยเหลือช่วง Covid-19 ระบาดของรัฐบาลกลางเข้าซื้อ และเปลี่ยนมันเป็น "โรงแรมสำหรับคนไร้บ้าน"

แน่นอน ตอนแรกโรงแรมนี้ก็ผุๆ พังๆ สมที่คนด่าในยุคที่เป็นโรงแรมเชิงพาณิชย์ ทางเทศบาลเมืองก็เอาพวกองค์กรไม่แสวงกำไรที่ถนัดทำที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านมารีโนเวตพื้นที่ ซึ่งหลักๆ คือห้องไหนอยู่ได้ ก็ให้อยู่ไปก่อน ถ้าห้องใหม่เสร็จมาก็ค่อยย้ายมา ซึ่งค่าเช่าก็จะเพิ่มขึ้นนิดหน่อย

ต้องเข้าใจก่อนว่า Hospitality Studios ไม่ใช่ที่พักพิงคนไร้บ้านที่พักฟรี มันคือโรงแรม แต่เป็นโรงแรมราคาถูกที่จะไม่ปฏิเสธคนไร้บ้าน ซึ่งค่าห้องเฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 7,000 บาท ลองคิดภาพว่าค่าแรงขั้นต่ำที่นอร์ธแคโรไลน่าตกชั่วโมงละ 250 บาท ถ้าทำงานปกติสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงตามกฎหมายแรงงาน เดือนนึงจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำแบบต่ำสุดจริงๆ ประมาณ 40,000 บาท ซึ่งจริงๆ น่าจะได้มากกว่านั้น และถ้าขยันทำงานล่วงเวลาก็จะได้เพิ่มอีกพอสมควร ตีตัวเลขกลมๆ ว่า ถ้าคนขยันทำงานจริงๆ แล้วมีรายได้สักเดือนละ 60,000-70,000 บาทก็จะพบว่า พอจ่ายค่าเช่าที่นี่ไหวแน่ๆ พูดอีกแบบคือ โรงแรมนี้เปิดโอกาสให้คนไร้บ้านที่อยากมีที่พักพิงและกลับไปทำงานปกติได้มีโอกาสแบบนั้นได้

เทคนิคนี้ก็น่าสนใจและน่าเลียนแบบสำหรับหลายๆ เมือง ที่มีปัญหาคนไร้บ้าน เพราะประเด็นจริงๆ ไม่ใช่การให้ที่พักอาศัยฟรีๆ กับคนไม่ทำมาหากิน แต่คือการให้โอกาสคนที่ต้องเผชิญค่าเช่าสูงจนต้องมานอนบนถนน ได้กลับไปมีที่พักอาศัย และกลับไปเป็นแรงงานในตลาดแรงงาน

ทั้งนี้ ในอเมริกาก็มีการคำนวณกันว่า เอาจริงๆ แล้ว แนวทางการให้ที่พักอาศัยกับคนไร้บ้านนั้นรวมๆ ทำให้ "ต้นทุน" ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการบริหารจัดการคนไร้บ้านของสังคมลดลงประมาณครึ่งหนึ่งเป็นอย่างต่ำ ดังนั้น แนวทางแบบนี้จึงพึงประสงค์กว่าการปล่อยให้คนไร้บ้านเร่ร่อนไปเรื่อยๆ  แน่ๆ ในสายตาของรัฐ

แต่ก็แน่นอน "ทางออก" แบบนี้ก็อาจใช้ไม่ได้ในทุกเมือง เพราะคนไร้บ้านไม่น้อยถ้าไร้บ้านนานๆ ก็จะรู้สึกว่าเป็น "ไลฟ์สไตล์" ที่ไม่อยากเปลี่ยน ซึ่งก็ต้องเข้าใจอีกว่าตามธรรมชาติคนอเมริกัน "ไม่ไว้ใจรัฐ" อยู่แล้ว การที่รัฐเข้าไปจัดการคนไร้บ้าน มันไม่ใช่การ "ให้แบบไม่มีเงื่อนไข" แน่ๆ และนี่ก็ทำให้คนไร้บ้านจำนวนมากมีความกังขาและลังเลจะรับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐด้วยซ้ำ
    
อ้างอิง
Gimme shelter
Hospitality Studios
Homelessness rate, 2023
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน