ในอเมริกา หลายคนน่าจะเคยได้ยินเทรนด์การ "ซื้อบ้านร่วมกับเพื่อน" ซึ่งคนไทยอาจงงว่าทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ แต่ในทางเทคนิคเป็นสิ่งที่ทำได้แน่นอน ปีๆ หนึ่ง มีคนทำแบบนี้เป็นแสนคน และพวกสำนักกฎหมายก็มีบริการมาตรฐานทำให้การ "กู้ร่วม" ในรูปแบบนี้ เป็นไปได้อย่างสะดวกและชัดเจน
ซึ่งเอาจริงๆ ในอเมริกามีการเก็บสถิติเอาไว้ และพบว่า "การซื้อบ้านร่วมกันโดยคนที่มีนามสกุลต่างกัน" นั้นสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ช่วงปี 2021-2022 โดยสองปีนี้ ยอดของการซื้อบ้านรูปแบบดังกล่าวมีเกินกว่า 1 ล้านครั้งทั้งสองปี ก่อนที่ปีต่อมายอดจะลดลง โดยคาดกันว่า เกิดจากการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา เลยทำให้พฤติกรรม "ซื้อบ้านร่วมกับเพื่อน" มีน้อยลง เพราะการที่ดอกเบี้ยลด ทำให้หลายๆ คนตัดสินใจที่จะกู้เงินซื้อบ้านเองแบบ "ดอกเบี้ยคงที่" ในช่วงดอกเบี้ยต่ำ เพราะนี่น่าจะเป็นจังหวะเดียวที่ทำแบบนี้ได้ในรอบหลายสิบปี
ดังนั้น การ "ซื้อบ้านร่วมกับเพื่อน" เลยเป็นอดีตไปแล้วในอเมริกาปัจจุบัน แต่ "ผล" ของมันยังอยู่ และน่าสนใจที่จะเรียนรู้ เพราะจริงๆ ไม่ใช่แค่ในอเมริกา ไอเดียแบบ "แก่ไปซื้อบ้านอยู่กับเพื่อน" เป็นสิ่งที่แพร่หลายในสังคมเอเชีย แต่ก่อนที่จะทำแบบนั้น บางทีการเรียนรู้จากอเมริกาก็น่าจะเป็นบทเรียนที่ดี
บทเรียน ‘กู้เงินร่วม’ ซื้อบ้านในอเมริกา
ในอเมริกา คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัย 30 ต้นๆ ถึงกลางๆ คือเป็นวัยที่จะเริ่มมีเงินซื้อบ้านแล้ว แต่ในหลายๆ เมืองเงินเดือนคนเดียวซื้อบ้านไม่ไหว ก็เลยมีการหุ้นกับเพื่อน สามคนบ้าง สี่คนบ้าง บางทีก็เป็นสองคู่ สองครอบครัวซื้อบ้านใหญ่ๆ ร่วมกัน ซึ่งก็แน่นอน คนที่จะกู้ร่วมกัน ทั่วๆ ไปก็คือ เป็นเพื่อนที่สนิทกันพอสมควรในระดับที่ไว้ใจกันที่จะมีชื่อร่วมกันเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ชิ้นใหญ่นี้
แน่นอน ทั้งหมดดูจะเป็นสิ่งที่เป็นได้อย่างราบรื่น แต่ปัญหาที่ทุกคนน่าจะคาดเดาได้ก็คือ ถ้าอยู่ดีๆ มีคนใดคนหนึ่งไม่อยากอยู่บ้านแล้ว อยาก "ขายหุ้น" และถอนชื่อตัวเองออกจะเกิดอะไรขึ้น?
คำตอบคือ ปัจจุบันได้เกิดขึ้นแล้ว เหตุผลก็ง่ายๆ หลายคนอยากขยับขยาย มีครอบครัวและต้องการแยกมาอยู่ส่วนตัวบ้าง บางคนก็อยากย้ายงานย้ายเมืองตามสไตล์อเมริกัน ฯลฯ คำถาม คือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?
หลักๆ ถ้าโดดไป "ตอนจบ" เลย จะมี 2 กรณี กรณีแรกก็ง่ายๆ ตกลงกันขายบ้าน แล้วเอาเงินมาแบ่งกัน ให้ทุกคนได้เงินส่วนที่ตัวเองดาวน์และผ่อนไปคืน พร้อมได้ "กำไร" จากราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม อันนี้ง่ายๆ ตรงไปตรงมาก และหลายๆ บ้านที่เริ่มจากการร่วมกันซื้อในหมู่เพื่อนๆ ก็ไปจบแบบนี้
แต่กรณีที่สอง สมมติว่ามีคนไม่อยากผ่อนและเป็นเจ้าของต่อแล้ว แต่คนอื่นๆ ยังอยาก "ไปต่อ" อยู่แล้วจะยังไง?
ว่ากันตรงๆ เนื่องจากเป็น "เพื่อน" กัน ทั่วๆ ไป ก็จะไม่มีการเอามูลค่าบ้านปัจจุบันมาคำนวณว่าต้อง "คืน" เงินเท่าไรแบบ "รวมราคาบ้านที่แพงขึ้น" ด้วย คือ จะให้คนที่เหลือค่อยๆ "ผ่อน" คืนส่วนของคนที่ออกไปได้จ่ายเงินไปนั่นแหละ เช่น นาย A, B และ C ร่วมกันซื้อบ้าน นาย A ดาวน์ไป 100,000 เหรียญ ผ่อนไป 30 เดือน เดือนละ 1,000 เหรียญ แล้วนาย A อยากออก สิ่งที่จะเกิดคือ นาย B และ C ก็จะค่อยๆ ผ่อนเงินคืนนาย A รายเดือนในจำนวนที่ตกลงกัน จนสุดท้ายครบยอด 130,000 เหรียญ ที่นาย A ได้ลงเงินไป โดยแน่นอน จะไม่มี "ดอกเบี้ย" ด้วย เพราะนี่คือดีลแบบ "เพื่อนกัน"
จะเห็นว่าจริงๆ มันก็อาจไม่ได้ "ปวดหัว" แบบที่คิด มันมีวิธีจัดการที่ง่ายๆ และตรงไปตรงมา 2 แบบอย่างที่ว่า คือถ้าตกลงว่าจะขายแล้วเอาเงินมาแบ่งกันได้ก็ง่ายเลย ส่วนถ้าคนนึงจะออก แล้วให้คนที่เหลือค่อยๆ ผ่อนเงินคืน ก็ต้องว่ากันไปเป็นกรณีไป
ดังนั้น เอาจริงๆ การกู้บ้านร่วมกับเพื่อนมันไม่ได้ซับซ้อนและนำไปสู่ทางตันอะไร อยากแยกย้าย ทางออกมันมีและมันก็ไม่ได้ยากอะไร และจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรเลยถ้าทำในตอนที่ตลาดบ้านค่อนข้างร้อนแรง อย่างบางเมืองในอเมริกา จะทำให้การเคลียร์ขายทำได้เร็ว และทุกคนก็แฮปปี้เพราะขายก็ได้กำไรเอามาแบ่งกันอะไรแบบนั้น
อย่างไรก็ดี ถ้าคนคิดจะทำแบบนี้ตอนแก่ แบบไปปลูกบ้านต่างจังหวัดอยู่กับเพื่อนๆ อันนี้อาจยุ่งหน่อยเพราะมันจะขายยาก และถ้ามีใครสักคนตายไปก่อน "ทายาท" ของคนนั้นที่จะมาเป็น "เจ้าของร่วม" ต่อก็อาจเป็นปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเอายังไงกับบ้านต่อดี
ซึ่งก็ไม่ต้องห่วง ยังไงทางออกมันต้องมีอยู่แล้ว แค่เรายังอาจนึกไม่ออกเพราะกรณีแบบนี้ยังมีไม่มาก ประเด็นคือ เราไม่ต้องห่วงเลยว่าจะไม่มีทางออก เพราะพวกบริษัทกฎหมายและอสังหาถ้าเห็นกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ พวกเค้าจะเสนอ "โซลูชั่น" มาให้แน่นอน
อ้างอิง
They Bought Homes With Their Friends—and Now They Want Out