หลังจากที่ออกจากงาน แอนน์ โธมัส-คาร์เตอร์ ในวัย 63 ปี รู้สึกสูญเสียเป้าหมายในชีวิตไป ภายหลังปรึกษากับเพื่อนๆ เธอจึงเริ่มไปเป็นอาสาสมัครที่บ้านพักคนชรา โดยทำงานแบบพาร์ไทม์วันละ 6 ชม. ซึ่งนั่นทำให้เธอค้นพบเส้นทางใหม่ของชีวิต และต่อมา เธอกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุที่ความจำเสื่อมของบ้านพักคนชราแห่งนั้น
ก่อนหน้านี้แอนน์ เคยทำงานเป็นพนักงานที่แผนกขายยาของร้านบูทส์มาตลอดเกือบทั้งชีวิต ซึ่งเธอบอกว่ามันเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเธอ แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในงานที่ทำ เธอจึงตัดสินใจที่จะเกษียณตัวเองและลาออกจากงาน
“ฉันคิดว่า ควรจะเริ่มต้นใช้เวลาทำเรื่องไม่มีสาระอะไรแถวรอบๆ สวน แต่แค่ไม่กี่สัปดาห์ที่ไม่ได้ทำงาน ฉันก็เริ่มรู้สึกว่า ไม่น่าลาออกจากงานเลย” แอนน์กล่าว
แอนน์บอกกับเพื่อนๆ และอดีตเพื่อนร่วมงานว่า หลังออกจากงาน เธอรู้สึกว่าขาดเป้าหมายในชีวิต เพื่อนบางคนจึงแนะนำให้เธอลองไปทำงานเป็นอาสาสมัครที่บ้านพักคนชราชื่อ “ฟรามแลนด์” ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรการกุศลที่ชื่อ Pilgrims’ Friend Society แอนน์ เล่าว่า ทันทีที่ก้าวเข้าสู่บ้านักคนชราฟรามแลนด์ เธอรู้สึกงงงวย
“มันดูไม่เหมือนบ้านพักคนชราเลย มันเป็นบ้านของขุนนางเก่าที่สวยงามในชนบทของอ็อกฟอร์ดเชียร์ แต่ขาดการดูแล และมีคนอยู่เพียง 21 คน” แอนน์กล่าว
แอนน์เล่าว่า เธอเริ่มงานอาสาสมัครวันแรกในปี 2017 โดยที่ทุกคนให้การต้อนรับอย่างดีมาก เธอไม่เคยดูแลใครเลยนอกจากพ่อแม่ที่ป่วยด้วยมะเร็ง ทำให้เธอนึกไม่ออกว่าจะคาดหวังอะไรกับงานใหม่ แต่เธอรู้สึกตื่นเต้นที่ไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหนึ่งชั่วโมงหลังจากนี้ และจะเกิดอะไรขึ้นในชั่วโมงต่อๆ ไป ทำให้เวลา 6 ชั่วโมงผ่านไปไวเหมือน 6 นาที
แอนน์ทำงานแบบพาร์ทไทม์ และเรียนรู้การดูแลคนแก่ได้อย่างรวดเร็ว เธอยังสมัครเรียนประกาศนีบัตรวิชาชีพหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุด้วย
“รู้สึกว่า ที่นี่เหมือนครอบครัวใหญ่ โดยเฉพาะมีการเรียกทุกคนที่มาอยู่ว่า สมาชิกครอบครัว ฉันรู้สึกว่าเข้ากับที่นี่ได้ดีเลย ฉันรู้สึกสนุกที่ได้เรียนหลายอย่างมากๆ ในวัยนี้ รวมถึงเรื่องกฎหมายและสาธารณสุข และอีกไม่นาน ฉันเชื่อว่าจะสนุกกับการช่วยเหลือคนที่เป็นโรคสมองเสื่อม” แอนน์กล่าว
ปัจจุบัน แอนน์อายุ 70 ปีแล้ว เธอเป็นทั้งสมาชิกครอบครัวและผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ซึ่งเธอบอกว่า ต้องมีความอดทนมากๆ ต่อคนที่สมองเสื่อม เพราะพวกเขาจะพูดจาซ้ำๆ วนไปวนมาและโกรธง่าย แต่เธอบอกว่า งานของเธอทำให้เธอรู้สึกถึงความพิเศษของการเป็นผู้สูงวัยที่สามารถเข้าใจผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง
“ฉันไม่ตัดสินหนังสือจากหน้าปกอยู่แล้ว เหมือนกับที่คุณไม่รู้หรอกว่าคนอื่นๆ ผ่านชีวิตมาอย่างไร หรือรู้สึกยังไง บางครั้งฉันเห็นบางคนเอาแต่ถามซ้ำๆ ว่าวันนี้วันอะไร จากนั้นพวกเขาเผยออกมาให้เห็นว่าความจำที่ดีเยี่ยมแค่ไหน แม้เรื่องราวเหล่านั้นจะผ่านมา 60 ถึง 70 ปีแล้ว” แอนน์บอก
การเว้นระยะห่างและการล็อกดาวน์ในช่วงการระบาดของโควิด เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างแท้จริงของบ้านพักชราฟรามแลนด์ เพราะนอกจากเจ้าหน้าที่ต้องอยู่ในชุดพีพีอีแล้ว คนชราในบ้านพักยังกังวลกับการรับมือกับไวรัส รวมถึงการห้ามไม่ให้ญาติหรือเพื่อนๆ มาเยี่ยม
ปัจจุบัน แอนน์ กลายเป็นสมาชิกที่อายุมากที่สุดของทีมฟาร์มแลนด์ แต่เธอบอกว่า จะยังไม่หยุดทำงานในเร็ววันนี้
“เท่าที่ฉันยังทำงานได้ดี ฉันก็จะทำงานต่อไป ฉันทำงานกับกลุ่มคนที่ยอดเยี่ยมที่อายุเกิน 65 และพวกเรามีสิ่งต่างๆ ที่จะมอบและแบ่งปันให้กับสมาชิกของทีมที่เป็นคนหนุ่มสาวด้วย อายุก็แค่ตัวเลข และหากเราอายุยืนยาว เราจำเป็นต้องมีการดูแลมากขึ้น ฉันรู้สึกมีความสุขมากๆ ที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นในตอนที่ยังมีเรี่ยวแรงทำไหว” แอนน์กล่าว
ที่มา
A new start after 60: I became a ‘hummingbird’ for people with dementia