หากวันหนึ่ง เมื่อตื่นนอนขึ้นมาในตอนเช้าแล้วส่องกระจกพบว่า คุณดู “แก่ลง” แบบฉับพลัน นั่นอาจเกิดจากสิ่งที่คุณไม่เคยคาดคิดมาก่อน
ล่าสุด งานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลที่เกี่ยวเนื่องกับวัย พบว่า ร่างกายของมนุษย์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันรุนแรง 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 40 กลางๆ และอีกครั้งที่ตอนอายุ 60 ต้นๆ
มิเชล ชไนเดอร์ นักพันธุกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเพื่อนร่วมทีมวิจัย ทำการสืบสวนทางชีววิทยาเกี่ยวกับวัย เพื่อทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ที่มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การบรรเทาและรักษาอาการเจ็บป่วยที่ดีขึ้น
ทีมวิจัยทำการติดตามคนวัยผู้ใหญ่จำนวน 108 คน ที่บริจาคตัวอย่างทางชีวภาพให้ในทุกๆ 2 ถึง 3 เดือน เป็นระยะหลายปีที่ผ่านมา
“ร่างกายของเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแบบช้าๆ ไปตามระยะเวลา แต่มีบางช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันและรุนแรงด้วย โดยจะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 40 กลางๆ และจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันอีกครั้งในตอนอายุ 60 ต้นๆ” ชไนเดอร์ กล่าว
ทีมวิจัยเผยว่า การป่วยเป็นอัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือดหัวใจ ความเสี่ยงไม่ได้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา แต่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากถึงช่วงวัย นักวิจัยจึงต้องการเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่า ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของอายุ เพื่อดูว่าจะสามารถบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ได้หรือไม่
การศึกษาบางชิ้นก่อนหน้านี้ พบการเปลี่ยนแปลงแบบไม่คงที่ในโมเลกุล ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับความแก่ของหนูและมนุษย์
การศึกษาของชไนเดอร์และทีมวิจัย พบข้อสังเกตว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในโมเลกุลต่างชนิดกันในร่างกายมนุษย์ที่ต่างกันชัดเจนใน 2 ช่วง โดยราวร้อยละ 81 ของโมเลกุลทั้งหมด แสดงการเปลี่ยนแปลงในระหว่าง 1 หรือทั้ง 2 ช่วงเวลา โดยการเปลี่ยนแปลงช่วงแรกอยู่ในจุดสูงสุดที่อายุระหว่าง 40 ถึง 50 ปี และอีกครั้งช่วงต้นอายุ 60 ปี
การเปลี่ยนแปลงสูงสุดของโมเลกุลในช่วงระหว่างอายุ 40 ถึง 50 ปี เกี่ยวข้องกับระบบการเผาผลาญไขมัน คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ โรคหลอดเลืออดหัวใจ และการทำหน้าที่ที่ผิดไปจากเดิมของผิวหนังและกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดขึ้นกับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
ส่วนการเปลี่ยนแปลงสูงสุดของโมเลกุลในช่วงต้นอายุ 60 ปี เกี่ยวกับระบบการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและคาเฟอีน โรคหลอดเลือดหัวใจ ผิวหนังและกล้ามเนื้อ ภูมิคุ้มกันร่างกาย และการทำงานของไต
อย่างไรก็ดี นักวิจัยย้ำว่า การวิจัยนี้เป็นการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่ค่อนข้างเล็ก โดยศึกษาคนในช่วงอายุระหว่าง 25 ถึง 70 ปี สำหรับการวิจัยต่อไปในอนาคต ทีมวิจัยจะเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของปรากฏการณ์นี้ และขยายขอบเขตของช่วงอายุที่ศึกษาให้กว้างขึ้น เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในร่างกายมนุษย์
ที่มา
Study Finds Humans Age Faster at 2 Sharp Peaks – Here's When They Hit