ในช่วงปีที่ผ่่านมา 1 ใน 6 ของพนักงานรุ่นใหม่ตามบริษัทต่างๆ ที่ประเทศญี่ปุ่น ใช้บริการบริษัทให้ความช่วยเหลือเรื่องการลาออก เนื่องจากเผชิญแรงกดดันมหาศาลจากนายจ้าง หลังจากพยายามลาออกด้วยตัวเอง
ปัญหาวิกฤตขาดแคลนคนวัยแรงงานของญี่ปุ่นจากอัตราการเกิดใหม่ที่ลดต่ำลงต่อเนื่อง ทำให้นายจ้างและบริษัทต่างๆ พยายามรักษาพนักงานของตัวเองเอาไว้ ส่งผลให้พนักงานที่พยายามขอลาออกต้องเผชิญแรงกดดันมหาศาลจากนายจ้าง ถึงขั้นบังคับข่มขู่ให้พนักงานอยู่ต่อ บางกรณีนายจ้างบังคับให้พนักงานหาคนมาทำงานให้ได้ ก่อนที่จะยอมรับใบลาออก หรือไม่ก็ฉีกใบลาออกต่อหน้าพนักงานก็มี
ความยากลำบากและแรงกดดันที่พนักงานต้องเผชิญเมื่อต้องการลาออกจากงาน ส่งผลให้พนักงานรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นตัดสินใจเลือกใช้บริการบริษัทให้ความช่วยเหลือเรื่องการลาออก โดย Mynavi บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลการจ้างงาน เผยผลสำรวจล่าสุด พบว่า 1 ใน 6 ของพนักงานบริษัทในญี่ปุ่นใช้บริการบริษัทช่วยลาออกเป็นตัวแทนในการยื่นใบลาออกกับบริษัท ซึ่งมากกว่าร้อยละ 18.6 ของผู้ใช้บริการเป็นพนักงานบริษัทที่มีอายุอยู่ในช่วงวัย 20 ปี
สอดคล้องกับข้อมูลของบริษัท Momuri ผู้ให้บริการช่วยลาออกแห่งหนึ่ง ที่ระบุว่า กลุ่มลูกค้าของพวกเขามากกว่าร้อยละ 60 คือ กลุ่มพนักงานบริษัทที่มีอายุระหว่าง 20 - 30 ปี
ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทให้ความช่วยเหลือเรื่องการลาออกเริ่มได้รับความนิยมในหมู่พนักงานญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้มีบริษัทที่ให้บริการในลักษณะคล้ายกันนี้มากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ โดย Momuri เพียงบริษัทเดียว ได้ให้คำปรึกษาออนไลน์กับผู้สนใจไปแล้วมากกว่า 350,000 ครั้ง และช่วยให้คนลาออกได้สำเร็จกว่า 20,000 คน
หลังจากลูกค้าติดต่อไปยังบริษัท พวกเขาจะต้องกรอกแบบสอบถาม เซ็นสัญญา และชำระค่าธรรมเนียมที่ตกประมาณ 22,000 เยน หรือราว 5,000 บาท จากนั้นพนักงานของบริษัทช่วยลาออกจะทำการติดต่อนายจ้างของลูกค้า เพื่อพูดคุยหารือเรื่องการลาออกของบุคคลนั้นๆ ซึ่งใช้เวลาเพียง 20 ถึง 30 นาที ทั้งนี้ บริษัทช่วยลาออกจะเตรียมทนายความเอาไว้ด้วย เพื่อจัดการกับข้อพิพาททางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น
ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรม “ทำงานหนักเกิน” มานาน โดยการทำงานหนักเกินไปส่งผลให้มีคนเสียชีวิตมีมานานหลายทศวรรษ มีรายงานว่า มีลูกจ้างในหลายภาคส่วนของธุรกิจที่ถูกลงโทษด้วยชั่วโมงการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนั้น ลูกจ้างยังถูกกดดันจากหัวหน้างาน และต้องเชื่อฟังบริษัท ซึ่งบริษัทที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้ถูกเรียกว่าเป็น "บริษัทสีดำ" และจะถูกขึ้นบัญชีดำจากรัฐบาล เพื่อทำให้การรับสมัครคนเข้าทำงานหยุดชะงัก
ฮิโรชิ โอโนะ ศาสตราจารย์ด้านทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจฮิโตสึบาชิ ในโตเกียว เตือนว่า คนที่กำลังมองหางานจะต้องระวังอันตรายจากนายจ้างกลุ่มนี้ เนื่องจากจะต้องพบกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย ไม่มีความปลอดภัยทางด้านจิตใจแล้ว ยังต้องเผชิญการข่มขู่จากนายจ้าง นับจากปี 2017 มีบริษัทมากกว่า 370 แห่งถูกขึ้นบัญชีดำโดยกระทรวงแรงงาน
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า แนวโน้มการลาออกของคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่น เกิดจากทัศนคติต่อการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละรุ่น การหยุดชะงักของการจ้างงานและวิถีชีวิตแบบใหม่หลังโควิด ทำให้หลายคนหันกลับมาพิจารณาความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานของตัวเองใหม่ ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็เลือกที่จะไม่เผชิญหน้า จึงทำให้พวกเขาเลือกใช้บริการบริษัทช่วยลาออกเพื่อช่วยให้ตัวเองไม่ต้องเจรจาขอลาออกกับเจ้านายโดยตรง
ชิโอริ คาวามาตะ ผู้จัดการฝ่ายอำนวยการของ Momuri แนะนำว่า การเข้าไปพูดคุยกับนายจ้างด้วยตัวเองเป็นวิธีที่ดีกว่าในการลาออก และบริการช่วยลาออกควรจะหายไปจากสังคมญี่ปุ่น
“เราคิดว่าจะดีที่สุดหากพนักงานสามารถขอลาออกกับเจ้านายของพวกเขาได้ แต่เมื่อได้ฟังเรื่องราวสุดสยองของลูกค้าของเรา ผมก็ไม่คิดว่าบริการช่วยลาออกจะหายไปในเร็วๆ นี้แน่” ชิโอริ กล่าว
อ้างอิง
One in 6 workers in Japan use resignation agencies to change jobs
Why Are Japanese Workers Paying Agencies To Quit Their Jobs?
Workers in Japan can’t quit their jobs. They hire resignation experts to help
‘They refused to let me go’: Japanese workers turn to resignation agencies to quit jobs