คำถามที่คลาสสิคมากคำถามหนึ่งของชาวไทยที่หัวก้าวหน้าหน่อยก็คือ “ไทย” มีอะไรที่ดีในระดับมาตรฐานสากลบ้าง? ซึ่งก็แน่นอนว่า อะไรพวกนี้ต้องตัดความดีงามที่ผูกพันกับมิติทางวัฒนธรรม อย่างเรื่องอาหารรวมไปถึงสังคมวัฒนธรรมออกไป
คำตอบที่หลายคนอาจนึกได้เร็วๆ ว่า เป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาประเทศไทยก็คือ “บริการด้านสุขภาพ” เพราะหลายคนคงเคยได้ยินว่า โครงการ "30 บาทรักษาทุกโรค" หรือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของไทย ดีเยี่ยมระดับที่หลายๆ ประเทศมาดูงานเลย และอีกด้านหลายคนก็อาจเคยได้ยินว่า จริงๆ แม้แต่บริการด้านการแพทย์ของเอกชนของไทย ก็เรียกว่า "ถูกและดี" จนคนต้องบินมาใช้บริการ โดยเฉพาะถ้าเป็นการผ่าตัดที่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล เพราะค่าบริการทางการแพทย์ในไทยถูกกว่าผ่าตัดในประเทศตัวเองเกินครึ่ง
แน่นอน เราได้ยินเรื่องพวกนี้ แต่มันตอบเราไม่ได้ว่า สรุปแล้วบริการด้านสุขภาพของไทยดีจริงหรือไม่ ซึ่งด้านหนึ่งมันมีการ "จัดอันดับ" บริการด้านสุขภาพ แต่นั่นก็ทำให้เห็นภาพบางส่วนเท่านั้น เพราะสุดท้ายลักษณะบริการด้านสุขภาพในแต่ละประเทศมีความต่างกันในรายละเอียดที่ต้องอธิบาย
อยากจะเริ่มต้นก่อนว่า เราใช้การจัดอันดับของ Numbeo เพราะเป็นการจัดอันดับโดยคนทั่วไป และคำนวณดัชนีจากคะแนนในทุกมิติ ไม่ได้คำนวณแค่ "คุณภาพ" ของบริการด้านสุขภาพ แต่เอามิติ "ราคา" มาคำนวณด้วย ซึ่งก็จะเห็นว่า “ไทย” เป็นชาติที่อยู่อันดับสูงมาก แบบติด Top 10 ของโลกเลย (ในอันดับมีเกือบ 100 ประเทศ) ซึ่งเหตุผลหลักก็น่าจะไม่ใช่ว่าตัว "คุณภาพ" บริการด้านสุขภาพของเราสูงลิบ เท่ากับว่าถ้า "เทียบกับราคา" คุณภาพบริการด้านสุขภาพของเราถือว่า “ดีมาก” ซึ่งถ้ายิ่งมองว่า ผู้ใช้ Numbeo ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มีประสบการณ์ในหลายประเทศ เราก็จะยิ่งเห็นเลยว่า "เทียบกับแล้วของเราดี" จริงๆ
แต่จบแบบนี้มันก็จะง่ายไปหน่อย เพราะมันมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่น่าสนใจด้วยโดยเฉพาะถ้าเราเอาข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลกมาดูเปรียบเทียบ โดยตรงนี้เราเอาข้อมูลมา 2 ตัว ซึ่งคือส่วนของข้อมูลสัดส่วนของงบประมาณด้านสุขภาพจากงบประมาณรัฐทั้งหมด และข้อมูลสัดส่วนของค่าใช้จ่ายของเอกชนต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด
ข้อมูลตัวแรก โดยทั่วไป เค้าจะใช้วัดว่าประเทศมีการแบ่งงบประมาณรัฐมาให้เป็นบริการด้านสาธารณสุขเพียงพอหรือไม่ ส่วนข้อมูลตัวหลัง จะเป็นตัวชี้ทางอ้อมว่า บริการด้านสาธารณสุขของรัฐดีพอหรือไม่ในสายตาประชาชน ซึ่งพูดง่ายๆ ถ้าตัวเลขนี้เยอะ แสดงว่าประชาชนมองว่าบริการสาธารณสุขของรัฐไม่ดีหรือไม่ครอบคลุมพอ และยอมควักกระเป๋าตัวเองจ่ายเงินไปเพื่อให้ได้บริการที่ดีกว่าที่รัฐจัดสรรสวัสดิการให้
อยากให้สังเกตว่า ประเทศที่มีบริการด้านสาธารณสุขถ้วนหน้าแบบฟรี ตัวเลขของงบประมาณรัฐนั้นจะอยู่ราวๆ 10-20% ของงบประมาณทั้งหมดต่อปี และโดยทั่วไป ประเทศที่รัฐมีบริการให้ฟรี ประชาชนก็จะไม่ค่อยไปรับบริการเอกชนและส่งผลให้ตัวเลขสัดส่วนบริการด้านสาธารณสุขเอกชนที่ประชาชนจ่ายเองจะอยู่ไม่เกิน 30% ของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขทั้งประเทศ
ในแง่นี้ เราก็จะเห็นเลยว่า ไทย ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และซาอุดิอาระเบียจะมีโครงสร้างรายจ่ายพวกนี้คล้ายกันหมด แต่ถ้าวัดกันที่คุณภาพและความคุ้ม ไทยจะเป็นรองแค่ฝรั่งเศส ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเข้าใจว่า ฝรั่งเศสเป็นชาติที่ถือว่าบริการด้านสาธารณสุขดีมากๆ ระดับท็อปของยุโรปเลย ซึ่งทางยุโรปก็ยอมรับกันว่าบริการด้านการแพทย์ฝรั่งเศสนี่รวมๆ ดีกว่าพวกรัฐสวัสดิการนอร์ดิกด้วยซ้ำ
ตรงนี้คือ สิ่งที่เราก็ควรจะภูมิใจว่า เออ ของเรานี่ดีจริง และบอกเลยว่า ส่วนหนึ่งที่เราเจ๋ง คือ งบด้านสาธารณสุขเราซึ่งไม่ได้เยอะ แต่สิ่งที่เราสร้างมา คือ คุณภาพดีมากๆ
นี่คือเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งที่ชาวต่างชาติแก่ๆ นิยมมาไทย คือ เค้าไม่ได้สนใจ "ของราคาถูก" อื่นๆ เท่านั้น แต่สิ่งที่ "คนแก่" สนใจคือ บริการด้านสุขภาพ ซึ่งของไทยถูกและได้มาตรฐานจริง หลายๆ อย่างที่คนไทยอาจรู้สึกว่าแพง "ฝรั่ง" อาจรู้สึกว่าถูกแบบบ้าบอ โดยเฉพาะถ้าเค้ามาจากประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา
ตรงนี้ก็เป็นโอกาสดีที่จะพูดถึงประเทศที่เราดูสถิติอาจงงๆ แต่มันมีคำอธิบายหมด อย่างอเมริกา เราจะเห็นเลยว่าจริงๆ รัฐใช้งบประมาณสูงมากกับบริการด้านสาธารณสุข และหลายคนก็อาจงง เพราะอเมริกาไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยซ้ำ แต่อเมริกากลับใช้เงินมากกว่าพวกชาติยุโรปอีก และถ้าสังเกตดู คนอเมริกาก็ควักกระเป๋าตัวเองจ่ายให้ระบบสาธารณสุขมหาศาลด้วย
มันเกิดอะไรขึ้น? เอาง่ายๆ อเมริกาเป็นประเทศที่แทบไม่มีการกำกับดูแลด้านราคาของบริการด้านสาธารณสุข ดังนั้น ด้านหนึ่งพวกยาใหม่ๆ มันเกิดที่อเมริกาหมด แต่ยาพวกนี้ราคาแพงแบบบ้าคลั่งมาก จริงๆ ยาทั่วไปในอเมริกาก็แพง ยาใหม่ๆ ก็ยิ่งแพง และนั่นคือคำตอบว่า งบประมาณด้านสาธารณสุขของรัฐและเงินค่าหมอของคนอเมริกันมันไปไหน คำตอบ คือ ยา และนี่ไม่แปลกที่อุตสาหกรรมยาในสหรัฐอเมริกาจะใหญ่โตมาก เอาง่ายๆ รายได้ของอุตสาหกรรมยาทั้งโลก ประมาณ 45% เกิดจากยอดขายยาในอเมริกา และนี่น่าจะอธิบายว่า ทำไมทั้งรัฐบาลและคนอเมริกันต้องเสียเงินมากมายขนาดนั้นแถมยังได้บริการทางการแพทย์ที่ไม่ดี
ต่อมา หลายคนอาจงงกับเกาหลีใต้นิดหน่อย เราเลยต้องอธิบาย คือ ทั่วๆ ไปถ้านับแค่ "ประเทศ" ที่ยอมรับกับแบบสากล บริการด้านสาธารณสุขเกาหลีใต้ คือ อันดับ 1 (แต่ถ้ารวมไต้หวันด้วยจะแพ้ไต้หวันแบบฉิวเฉียด) ซึ่งเกาหลีใต้มีประกันสุขภาพถ้วนหน้า (คล้ายไทย คือ มีประบบประกันสุขภาพที่ผูกกับประกันสังคมของมนุษย์เงินเดือน แต่คนอยู่นอกระบบนี้ ก็จะมีระบบประกันสุขภาพฟรีแยกได้แบบ "สิทธิ์บัตรทอง" ของไทย)
แต่ที่น่าสงสัยก็คือ ในขณะที่เกาหลีใต้มีระบบประกันสุขภาพที่ดี ทำไมประชาชนถึงมีรายจ่ายสุขภาพสูงถึงเกือบ 40% ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งระบบ
บางคนลองนึกหน่อยอาจ “อ๋อ” แล้ว ใช่แล้วครับ ที่คนเกาหลีมีรายจ่ายด้านสุขภาพเอกชนสูง หลักๆ มันคือ เงินค่า “ศัลยกรรม” ครับ เป็นเรื่องค่านิยมที่คนทำศัลยกรรมกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งรัฐไม่จ่ายให้อยู่แล้ว แต่ค่าใช้จ่ายพวกนี้มันรวมไปในค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ทั้งระบบด้วย ตัวเลขมันเลยออกมาสูง และจริงๆ นี่เป็นคำอธิบายเช่นกันว่า ทำไมตัวเลขรายจ่ายด้านสุขภาพเอกชนของบราซิลสูง เพราะบราซิลนี่ก็มีประกันสุขภาพถ้วนหน้านะครับ แต่ประชาชนบ้าศัลยกรรมมายาวนานกว่าเกาหลีใต้อีก และเป็นประเทศที่ผลิตนวัตกรรมด้านศัลยกรรมมาช้านาน ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่รายจ่ายด้านสุขภาพของเอกชนจะสูง เพราะส่วนใหญ่มันคือเงินที่คนทำศัลยกรรมนี่แหละ
กลับมาที่ไทย ก็เป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งที่รายจ่ายด้านสุขภาพเอกชนเราดูสูง ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากการทำศัลยกรรมที่แพร่หลายอยู่ในทุกวันนี้ แต่ใดๆ ก็ตาม ถ้าตัดเรื่องพวกนี้ออกไป เราจะเห็นว่า ทั้งซาอุดิอาระเบียและรัสเซียนั้นล้วนใช้สัดส่วนงบประมาณรัฐกับบริการด้านสาธารณสุขพอๆ กับเรา ซึ่งสองประเทศนี้รวยกว่าเรา งบด้านสาธารณสุขเยอะกว่าเราแน่ๆ แต่สุดท้ายในการจัดอันดับ บริการด้านการแพทย์ของสองชาตินี้ สู้เราไม่ได้เลย
ดังนั้น ในแง่นี้ คือ ถ้าไม่ภูมิใจด้านบริการสาธารณสุขของไทย ก็ภูมิใจเถอะครับ เพราะนี่น่าจะเป็นหนึ่งใน "ของดี" ของชาติเราในระดับสากลจริงๆ ที่อวดได้อย่างไม่ต้องอาย และไม่ต้องกลับข้อครหาในเชิง "ชาตินิยม" เลย เพราะบริการด้านสาธารณสุขของไทยมันไม่ได้มี "ความเป็นไทย" ใดๆ ในนั้น (แบบพวกอาหาร การท่องเที่ยว สังคมวัฒนธรรม ฯลฯ) แต่มันก็ "ดีมาก" อยู่ดีในสายตาต่างชาติ
อ้างอิง
Domestic general government health expenditure (GGHE-D) as percentage of general government expenditure (GGE) (%)
Domestic private health expenditure (PVT-D) as percentage of current health expenditure (CHE) (%)
Health Care Index by Country 2024 Mid-Year