Skip to main content

 

ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า การทำอาหารส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารให้คนอื่นรับประทานหรือทำกินเอง ก็ล้วนมีส่วนช่วยให้คนปรุงเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย

การทำอาหาร เป็นทักษะที่มีทั้งคนที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยมและยอดแย่ แต่การเข้าครัวเพื่อลงมือทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการทำให้คนอื่นกินหรือทำให้ตัวเองกินคนเดียว ล้วนมีส่วนช่วยให้คนทำอาหารรู้สึกผ่อนคลาย

รายงานจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษางานวิจัยทั้งหมด 11 ชิ้น และพบว่า การทำอาหารส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของผู้ทำอาหารได้จริง โดยพบว่า คนที่ทำอาหารจะเกิดความภูมิใจในตัวเองมากขึ้น และเกิดสภาวะอารมณ์เชิงบวกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งระบุว่า “การอบขนม” ช่วยทำให้คนเรารู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเช่นกัน

ข้อมูลงานวิจัยที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ได้จุดประกายการรักษาอาการป่วยทางใจรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า “การบำบัดด้วยการทำอาหาร” ซึ่งงานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง ชี้ว่า “ช่วยส่งเสริมให้มีสมาธิ พร้อมใหัโอกาสในการแสดงออกถึงความเป็นตัวเองและการสนับสนุนทางสังคม”

ฮิลลารี แอมมอน นักจิตวิทยาคลินิกแห่งศูนย์ความวิตกกังวลและสุขภาวะทางอารมณ์ของผู้หญิง อธิบายว่า การบำบัดด้วยการทำอาหารมีหลากหลายรูปแบบ แต่การทำกิจกรรมนี้ จะทำให้คนที่มีอาการวิตกกังวลรู้สึกผ่อนคลาย และมีส่วนร่วมกับการสนทนามากขึ้น

“นอกเหนือจากการจัดการกับความท้าทายด้านสุขภาพจิตแล้ว การบำบัดด้วยการทำอาหารจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วย ซึ่งอาจทำให้พวกเขาสามารถสร้างกิจวัตรประจำวันใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารให้กับตัวเอง หรือช่วยกระตุ้นให้พวกเขากินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และท้ายที่สุดก็จะทำให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีขึ้น” ฮิลลารีกล่าว

ฮิลลารี ระบุว่า การทำอาหารสามารถเป็นงานอดิเรกที่ทำให้คนทำอาหารมีเป้าหมาย และรู้สึกเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการบำบัดรักษาภาวะซึมเศร้าที่กิจกรรมต่างๆ ต้องทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีเป้าหมายและรู้สึกพึงพอใจ 

ขณะที่ แพทย์หญิงนิโคล ฟาร์มเมอร์ หัวหน้าแผนกพฤติกรรมการบริโภคอาหารและสุขภาพจิตแห่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ อธิบายว่าการทำอาหารจะทำให้เกิดกระบวนการทางระบบประสาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางแผน หรือการต้องทำตามขั้นตอนต่างๆ โดยกระบวนการเหล่านี้สามารถช่วยควบคุมอารมณ์ของคนที่กำลังทำอาหารได้

นอกจากนี้ แพทย์หญิงอีเว็ตต์ เชลิน จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ยังชี้ว่า การทำอาหารจะช่วยหยุดความรู้สึกวิตกกังวลได้ โดยขณะกำลังทำอาหาร สมองของคนๆ นั้นจะหยุดคิดเรื่องที่ทำให้พวกเขารู้สึกวิตกกังวล

อย่างไรก็ตาม การทำอาหารอาจไม่ใช่วิธีการรับมือกับอาการป่วยทางใจของอีกหลายคน หากพบว่า การทำอาหารทำให้ตัวเองรู้สึกเครียดมากกว่าเดิม โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้มองหากิจกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลาย  เพราะการมองหางานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบ ถือเป็นวิธีการจัดการกับความเครียดและก่อให้เกิดผลดีกับสุขภาพจิตของตัวเองมากที่สุด


อ้างอิง
Yes, Cooking Can Help Improve Your Mental Health — Here’s What Health Professionals Have to Say About It
Psychosocial Benefits of Cooking Interventions: A Systematic Review
‘Baking Gives You Confidence’: Users' Views of Engaging in the Occupation of Baking