สำหรับชาวไทย การที่ Victoria Kjær Theilvig ได้เป็น มิสยูนิเวิร์สประจำปี 2024 อาจเป็นสิ่งที่ค้านสายตานิดหน่อย เพราะตามประสาคนไทยก็ย่อมเชียร์นางงามไทยอย่าง "โอปอล" อยู่แล้ว และแม้ว่าจะตอบคำถามได้ดีแค่ไหน สุดท้ายนางงามชาวไทยก็ได้เพียงตำแหน่งรองอันดับ 3 ส่วน Theilvig ที่ได้อันดับ 1 นั้น กลายเป็น "นางงามจักรวาล" คนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศเดนมาร์ก
เรื่องราวอาจจบเท่านี้สำหรับคอการประกวดนางงาม แต่สิ่งที่ตามมาซึ่งน่าสนใจมากๆ ก็คือเรื่องราวที่ตามมาหลังจากนั้น
หลังจากผลการประกวดออกมา ก็มีคนเริ่มนำมาเป็นประเด็นทาง “การเมือง” ทันที และคนถึงกับ "แซว" ว่า ในที่สุด "หญิงแท้โดยกำเนิด" ก็ได้เป็นนางงามสักที หรือบางคนก็บอกว่านี่เป็นการประกาศความตายของลัทธิ Woke กันเลยทีเดียว
แน่นอนว่านี่เป็นการกล่าวที่เกินจริง เพราะในประวัติศาสตร์ยังไม่เคยมีหญิงข้ามเพศคนไหนได้เป็น "นางงามจักรวาล" เลยสักครั้งเดียว แต่อีกด้านมีข้อสังเกตว่า การประกวดนางงามคราวนี้เป็นการประกาศความตายของลัทธิ Woke แม้ว่าจะเกิดจริง แต่ก็มีประเด็น
มีใครจำได้บ้างว่า ครั้งสุดท้ายที่ "ผู้หญิงผมทอง ตาสีฟ้า" ได้ตำแหน่งนางงามจักรวาลคือเมื่อไร?
เอาเข้าจริง แม้แต่ "คอนางงาม" ก็ยังไม่น่าจะจำได้เลย ซึ่งความเป็นจริง คือ สาวผมทอง คนก่อนหน้าที่ได้ตำแหน่งนางงามจักรวาล คือ Jennifer Hawkins ของออสเตรเลีย เมื่อปี 2004 ส่วนสาวตาสีฟ้าที่ได้ตำแหน่งนางงามจักรวาลก่อนหน้านี้ คือ Natalie Glebova สาวรัสเซียสัญชาติแคนาดาที่ได้ตำแหน่ง "นางงามจักรวาล" ในปี 2005 ที่จัดประกวดที่ประเทศไทยพอดี (เธอเลยลงหลักปักฐานทำมาหากินที่ไทยในภายหลัง)
ในแง่นี้ จะเห็นเลยว่า 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีสาวผมทองหรือสาวตาสีฟ้าได้ตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สเลยแม้แต่คนเดียว ดังนั้นในปี 2024 การที่สาวผมทองตาสีฟ้าที่มี "เชื้อสายไวกิ้ง" ได้เป็นมิสยูนิเวิร์ส เลยทำให้ฝ่ายขวาจัดที่เชื่อว่า คนขาวคือเผ่าพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคึกคักเลยทีเดียว (แม้ว่าปกติพวกนี้น่าจะไม่ดูประกวดนางงามก็ตามที)
แต่ถ้าจะย้อนไป คำถามที่น่าสนใจก็คือ เออ แล้วมันมี "คนขาว" เยอะแค่ไหนที่ชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ? หรืออีกคำถามที่ตรงกว่าก็คือ มิสยูนิเวิร์ส เป็น "เวทีของความหลากหลาย" ตั้งแต่เมื่อไร?
ตอบเร็วๆ คือ เวทีนี้มีความหลากหลายมานานกว่าคำว่า Political Correctness (ไม่ต้องพูดถึงคำว่า Woke ด้วยซ้ำ)
ต้องเข้าใจก่อนว่าเวทีมิสยูนิเวิร์ส 5 ปีแรกที่จัดประกวดในต้นศวรรษ 1950 มีแต่ "คนขาว" ที่ได้ตำแหน่ง โดยในปีแรกสุด นางงามที่ได้คือ นางงามฟินแลนด์ อย่างไรก็ดี ในการแข่งปีที่ 6 ในปี 1957 นางงามเปรูก็ได้มงกุฎไปและเป็นคนลาตินอเมริกาคนแรกที่ได้ และปีต่อมาก็เป็นนางงามจากโคลอมเบีย ก่อนที่ปี 1959 นางงามญี่ปุ่นจะกลายมาเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้มงกุฎนี้ ซึ่งคนเอเชียคนต่อมาที่ได้ก็คือ ชาวไทยอย่าง อาภัสรา หงสกุล ตอนปี 1965
หลังจากนั้น "ความหลากหลาย" ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในปี 1977 สาวจากตรินิแดดและโตเบโก เป็น "คนดำ" คนแรกที่ได้มงกุฎ ในปี 1994 นางงามจากอินเดียก็ได้มงกุฎนี้เป็นครั้งแรก ปี 1999 นางงามจากบอตสวานา เป็นคนดำจากทวีปแอฟริกาคนแรกได้มงกุฎนี้ไปครอง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจก็คือ "คนขาว" ที่ค่อยๆ หายไปจากการได้มงกุฎ
ว่ากันง่ายๆ ถ้ากลับไปดู "นางงามจักรวาล" ในทศวรรษ 1980 เราจะเห็นว่า นางงามครึ่งหนึ่งที่ได้มงกุฎเป็น "หน้าฝรั่งผมทอง" ทั้งนั้น หรือพูดง่ายๆ คือ ความงามของสาวคนขาวผมทองเป็นมาตรฐานความงามยุคโน้น และนี่เลยทำให้ในปี 1988 ตอนที่สาวไทยอย่าง "ปุ๋ย" ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก คว้ามงกุฎนางงามจักรวาลไปครอง จึงเป็นเรื่องที่ "ช็อคโลก" พอสมควร

ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ได้ตำแหน่งนางงามจักรวาล ปี 1988
ความน่าสนก็คือ หลังจากนั้นบรรดาสาวฝรั่งแบบ "ตาสีฟ้าผมทอง" ก็ค่อยๆ หายไปจากการเป็น "นางงามจักรวาล" โดยถ้าเรากลับไปดู "นางงามจักรวาล" ในทศวรรษ 1990 เราจะพบ "ความหลากหลาย” ยิ่งกว่าซีรีส์ Netflix เพราะทศวรรษนี้ไม่มีคนยุโรปได้มงกุฎเลย คนขาวผมทองตาสีฟ้าที่ได้มงกุฎมาจากนามิเบีย สาวคนดำจากประเทศที่ต่างกัน 3 ประเทศได้มงกุฎไปในทศวรรษนี้ สาวฮาวายพื้นเมืองและสาวจากอินเดียเป็นตัวแทนของเผ่าพันธุ์ตัวเองคนแรกที่ได้เป็นนางงามจักรวาล และก็แน่นอนสาวจากลาตินอเมริกันสองคนก็ได้มงกฎไปตามระเบียบ
พูดง่ายๆ สิ่งที่ค่อยๆ เกิดมานานแล้วก็คือ "ความหลากหลาย" แบบสมัยก่อนนี่หลากหลายจริงๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปีหลังตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา การที่ "คนขาว ผมทอง ตาสีฟ้า" หายไปจากการครองมงกุฎ จึงไม่แปลกเลยที่หลายคนจะตั้งข้อสังเกตว่า การที่ Victoria Kjær Theilvig ที่หน้าตาเป็นสาวยุโรปเหนือแท้ๆ ได้มงกุฎ เลยดูเหมือนเป็นสัญญาณว่า ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปอีกรอบแล้ว
ส่วนจะเปลี่ยนไปแบบไหนก็อาจต้องดูกันต่อไป เพราะถ้าการประกวดครั้งต่อๆ ไป มีนางงามชาติและเชื้อชาติอื่นๆ กลับมาได้มงกุฎ มันก็คือการกลับไปหา "ความหลากหลาย" จริงๆ ในแบบยุคที่ "คนขาว" ถูกรวมในความหลากหลายนี้ด้วย แต่ถ้าสาวตาสีฟ้าผมทองได้มงกฎรัวๆ ต่อจากนี้ มันก็เหมือนว่าเรากลับไปในทศวรรษ 1980 อีกครั้่งในเรื่องของมาตรฐานความงาม
แต่ทั้งนี้ ถ้าใครสังเกต จีน คือชาติที่ไม่เคยได้เป็น "นางงามจักรวาล" เลย ทั้งที่ส่งนางงามมาประกวดตั้งแต่ปี 2002 เกาหลีใต้ก็ไม่เคยได้เช่นกัน ดังนั้น จะบอกว่านางงามยุคที่ผ่านมามีความ "หลากหลาย" เราก็อาจต้องคิดดีๆ กันนิดหน่อย เพราะนี่อาจเป็น "ความหลากหลาย" สไตล์ Netflix ที่เต็มไปด้วยคนดำ คนอินเดีย และคนลาตินอเมริกัน ซึ่งหลายครั้งโควต้าของ "คนเอเชีย" ยกให้คนอินเดียหมด และไม่เหลือให้คนเชื้อสายเอเชียตะวันออกเท่าไร ไม่ว่านั่นจะเป็นเวทีนางงามจักรวาล หรือการแคสติ้งในซีรีส์ Netflix
อ้างอิง
'Return to normalcy!' Miss Universe fans stunned after biological woman wins beauty pageant
List of Miss Universe titleholders