นักวิจัยค้นพบว่า ความสัมพันธ์ที่อบอุ่นแน่นแฟ้นของพี่น้องในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น สามารถคาดการณ์ได้ว่า ช่วงชีวิตตอนแก่จะมีความสุขมากขึ้น จะมีความรู้สึกเหงา กังวล และมีแนวโน้มของการเป็นโรคซึมเศร้าน้อยลง
วัยเด็กสำหรับหลายคน “พี่น้อง” อาจถือเป็นศัตรูอันดับหนึ่งในบ้าน ถ้าได้คุยหรือพบหน้ากันเมื่อไร มีต้องลงท้ายด้วยการถกเถียง หรือลามไปถึงขั้นวางมวยกันแทบจะทุกครั้ง ขณะที่สายสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องของหลายคนอาจแน่นแฟ้นอบอุ่นเมื่ออายุมากขึ้น แต่กับอีกหลายคนก็กลายเป็นสายสัมพันธ์ที่ไม่อยากกล่าวถึง
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยค้นพบว่าสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของพี่น้องในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น จะทำให้ช่วงชีวิตยามแก่ของคนๆ นั้นมีความสุขมากขึ้น รู้สึกเหงาและกังวลน้อยลง ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าลดน้อยลงด้วย
เมแกน กิลลิแกน รองศาสตราจารย์ด้านการพัฒนามนุษย์และวิทยาศาสตร์ครอบครัว จากมหาวิทยาลัยมิสซูรี และเพื่อนนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจจากผู้เข้าร่วมหลายร้อยคนในโครงการ Family Transitions ซึ่งเป็นโครงการศึกษาความสัมพันธ์ในครอบครัว
ทีมนักวิจัยพบว่า ผู้ที่มีความสัมพันธ์อบอุ่นแน่นแฟ้นกับพี่น้องอย่างมากในช่วงอายุประมาณ 23 ปี จะมีระดับความกังวลและอาการซึมเศร้าลดน้องลงเมื่อพวกเขาอายุ 41 ปี
ในการวิจัย ยังพบสิ่งที่ตรงที่ข้ามกัน กิลลิแกน ระบุว่า คนที่มีความขัดแย้งหรือไม่ลงรอยกับพี่น้องเมื่อตอนอายุ 23 ปี มีแนวโน้มที่จะมีความวิตกกังวลและอารมณ์เชิงลบอื่นๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ของพี่น้องมีแนวโน้มที่จะมีจุดเปลี่ยนที่ตอนอายุประมาณ 23 ปี หากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็มีแนวโน้มว่าความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องจะมั่นคงมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากมีเรื่องผิดใจกันในช่วงเวลานี้ ก็มีแนวโน้มที่ึความสัมพันธ์จะแปรเปลี่ยนเป็นความไม่สนิทชิดเชื้อกัน
มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่สำคัญกับผู้คนที่หลากหลายตลอดชีวิต ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ คนรัก ลูก เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน แต่ความสัมพันธ์แบบพี่น้องเป็นความสัมพันธ์ที่มักจะถูกมองข้าม ซึ่งกิลลิแกนชี้ว่า รูปแบบที่ชัดเจนจากการวิจัยของเธอ แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของพี่น้องในช่วงผู้ใหญ่ตอนต้นมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตในวัยกลางคนและวัยชรา พร้อมอธิบายว่าความขัดแย้งระหว่างพี่น้องเชื่อมโยงกับความรู้สึกซึมเศร้า วิตกกังวล และความเหงา
การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่พิสูจน์ว่าความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของพี่น้องในวัยชรามีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดี โดยนักวิจัยได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุจำนวน 608 คน และมีอายุเฉลี่ย 65 ปี พบว่าผู้ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพี่น้องจะมีความรู้สึกเหงาน้อยลง
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า พี่สาวกับน้องสาวจะมีความสัมพันธ์ที่อบอุ่นแน่นแฟ้นมากกว่า เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างพี่ชายกับน้องชาย พี่ชายกับน้องสาว หรือพี่สาวกับน้องชาย
อ้างอิง
Got brothers or sisters? Warm sibling bonds help boost happiness as you age
The influence of sibling relationship quality on emotional distress from adolescence to early midlife.
Family Transitions Project
Sibling Relationships in Older Adulthood: Links with Loneliness and Well-being