องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA เผยแพร่ภาพแผนที่จักรวาลสามมิติ ที่บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด (Euclid) ซึ่งประกอบไปด้วยกาแล็กซีจำนวน 14 ล้านแห่ง และดาวฤกษ์กว่า 100 ล้านดวง
แผนที่ดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของจักรวาลทั้งหมด บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด ขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ซึ่งเริ่มต้นภารกิจเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2023 แผนที่ประกอบไปด้วยภาพถ่ายจำนวน 260 ภาพ ที่ถูกบันทึกในช่วง 2 สัปดาห์ ระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน 2024 จากท้องฟ้าด้านทิศใต้ โดยแผนที่นี้มีความละเอียดสูงถึง 208 กิกะพิกเซล
ที่มา European Space Agency's (ESA)
กล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด ถูกออกแบบให้รวบรวมภาพมุมกว้าง เพื่อช่วยนักวิทยาศาสตร์ตามล่า 2 องค์ประกอบที่ลึกลับที่สุดของจักรวาล คือ สสารมืด (dark matter) และ พลังงานมืด (dark energy)
ตามความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ จักรวาลประกอบไปด้วยสสารมืดและพลังงานมืดรวมกันเป็นสัดส่วนราว 95 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากมันไม่ทำปฏิกิริยากับแสง จึงไม่สามารถถูกตรวจจับได้โดยตรง
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาองค์ประกอบลี้ลับทั้งสองโดยการสังเกตวิธีที่พวกมันมีปฏิกิริยากับวัตถุที่มองเห็นได้ในอวกาศ สสารมืด สามารถสังเกตได้จากการกระเพื่อมของแรงโน้มถ่วงในกาแล็กซี และพลังงานมืด คือ หลักฐานการเคลื่อนที่ของจักรวาลที่ขยายใหญ่ขึ้น
ในแผนที่ ประกอบด้วยแหล่งกำเนิดแสงราว 100 ล้านแห่ง ซึ่งเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ชิ้นเดียวในการต่อจิ๊กซอว์ของจักรวาลทั้งหมดที่จะประกอบขึ้นโดยยูคลิด และหากเสร็จสมบูรณ์ มีความเป็นไปได้ว่าเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ก็จะสามารถไขปริศนาเรื่องของสสารมืดและพลังงานมืดได้
“ภาพที่น่าตะลึงนี้ เป็นผลงานชิ้นแรกของการทำแผนที่จักรวาล และภายในเวลา 6 ปีจากนี้ จะสามารถเผยแพร่แผนที่จักรวาลได้มากกว่า 1 ใน 3 ของจักรวาล และจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีใหม่ในการอธิบายถึงจักรวาล” วาเลเรีย เพทโทริโน นักวิทยาศาสตร์โครงการยูคลิดกล่าว
ถึงขณะนี้ ภารกิจยูคลิดลุล่วงไปแล้ว 12 เปอร์เซ็นต์ และมีแผนที่จะการแสดงภาพของห้วงอวกาศลึกในเดือนมีนาคม 2025 รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลของภารกิจปีแรกในปี 2026