Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

ในโลกปัจจุบัน คำว่า Crowdfunding ไม่ค่อยฮิตอีกแล้ว ก็เหมือนกระแสที่เคยผ่านมาแล้วหายไป และถ้าถามคน Gen Z ก็อาจไม่เคยได้ยินชื่อแฟลตฟอร์มแนวนี้ ที่เคยดังมากอย่าง Kickstarter ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี แฟลตฟอร์มแนวนี้ไม่ได้ตายหรือหายไปไหน และแพลตฟอร์มที่เป็นอันดับ 1 ในแนวนี้มาตั้งแต่ราวปี 2017 ถึงปัจจุบันก็ได้แก่ GoFundMe โดยกลางปี 2024 ทางแพลตฟอร์มได้ประกาศว่า นับแต่ตั้งแพลตฟอร์มมาในปี 2010 ได้มีการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มแล้วถึง 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จุดเริ่มของเรื่องราวก็คือ ในอดีตเมื่อทศวรรษ 2010 โซเชียลมีเดียค่อยๆ แพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ  คนเริ่มรู้เรื่องราวความลำบากของคนตัวเล็กๆ มากขึ้น และบางทีก็อยากจะช่วยเหลือ แต่ในสหรัฐอเมริการะบบโอนและชำระเงินไม่ได้รวมศูนย์เป็นระบบเดียว การโอนเงินให้คนที่มีบัญชีธนาคารคนละธนาคารไม่ใช่เรื่องง่าย เลยเปิดพื้นที่ให้เกิดแพลตฟอร์มในการรวบรวม "โครงการ" ต่างๆ และเป็นเจ้าภาพในการ "รวมเงิน" เอาไปให้คนที่ทำโครงการเหล่านั้น

โครงการที่ว่าเป็นได้หลากหลาย ตั้งแต่จะทำสินค้าใหม่มาขาย จะทำหนัง จะทำอัลบั้ม ฯลฯ แต่ไปๆ มาๆ "โครงการ" ที่สามารถทำให้คน "โอนเงินให้" อย่างยั่งยืนที่สุดกลับเป็นโครงการในแนว "รับเงินบริจาค" ซึ่งนำมาสู่ GoFundMe

GoFundMe เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นตัวการบริจาคเงินในอเมริกาที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2010 และดำเนินการต่อมาถึงปัจจุบัน โดยแรกๆ แพลตฟอร์มหักเงินบริจาค 5% แต่ในยุคหลังที่แพลตฟอร์มใหญ่มาก จึงไม่หักเงินอีกต่อไป แต่รับเงินบริจาคจากเจ้าของโครงการอีกทีเลย แค่นั้นก็อยู่ได้แล้ว เพราะเม็ดเงินบริจาคมันเยอะมาก

ความเด่นของ GoFundMe คือ มีโครงการบริจาคแบบสากกะเบือยันเรือรบ โดยแม้โครงสร้างมันจะคล้ายแพลตฟอร์มระดมทุนอื่นๆ แต่มันจะไปเน้นโครงการเชิง "การกุศล" และมีนโยบายที่จะมอบเงินให้คนระดมทุนเสมอ ไม่ว่าจะระดมทุนสำเร็จตามเป้าหรือไม่ นี่เลยทำให้บน GoFundMe มีตั้งแต่ระดมเงินค่าผ่าตัดหมาแมว ระดมเงินเป็นทุนการศึกษานักศึกษาปริญญาเอก ระดมเงินซ่อมบ้านที่พังหลังจากพายุเข้า ระดมเงินเป็นค่าเดินทางแข่งกีฬาให้เด็กผู้ชาย หรือค่าประกวดนางงามให้เด็กหญิง ระดมเงินช่วยเหลือครอบครัวเด็กที่ประสบอุบัติเหตุ ระดมเงินให้ครอบครัวที่ลำบากช่วง COVID-19 ระบาด ระดมทุนค่าต่อสู้คดี ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า GoFundMe มี "โครงการ" หลากหลายมากและก็มีคนบริจาคจริงๆ โดยเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ gofundme.com  เมื่อเข้าไปก็จะเห็นว่า หมวดหมู่แรกของโครงการพวกนี้ คือ หมวด "รักษาพยาบาล" และที่มันเป็นแบบนั้นก็เพราะแพลตฟอร์มนี้ มีคนมาระดมทุนเป็นค่ารักษาพยาบาลเยอะสุดแล้ว โดยโครงการ 1 ใน 3 บน GoFundMe คือโครงการระดมทุนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การรักษามะเร็ง ไปจนถึงการพักฟื้นจากการเจ็บป่วย

แน่นอน หลายคนอาจคุ้น "ความฉาว" ของ GoFundMe จากเรื่องอื่นๆ มากกว่า ตั้งแต่การระดมทุนเพื่อสิทธิในการเหยียดเพศ ระดมทุนเพื่อสร้างกำแพงระหว่างอเมริกากับเม็กซิโก รวมถึงระดมทุนเพื่อต่อต้านการฉีดวัคซีน แต่เรื่องพวกนี้อาจเป็นเรื่องที่เล็กน้อยมากถ้าเทียบกับ "หน้าที่หลัก" ของ GoFundMe ในการระดมทุนเพื่อค่ารักษาพยาบาลสำหรับคนทั่วไป จนถึงพวกอดีตคนดังที่ "หมดสภาพ" แล้ว

เราจะมองว่า GoFundMe ว่าเป็นความมหัศจรรย์ของระบบตลาดที่สร้างแพลตฟอร์มมา "อุดรูโหว่" ของระบบสาธารณสุขของอเมริกาก็ได้ แต่ในความเป็นจริงทุกๆ ปีคนอเมริกันเกิน 200,000 คน พยายามระดมทุนผ่าน GoFundMe เพื่อการ "รักษาพยาบาล" และเกือบ 90% ระดมทุนได้ไม่ตามเป้า และจริงๆ ปีๆ หนึ่งคนอเมริกันต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลกันเกิน 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนั่นหมายความว่า แค่ปีเดียว คนอเมริกันต้องจ่ายค่ารักษาพยายาลเยอะกว่าเงินที่ GoFundMe ระดมมาได้ทั้งหมดตั้งแต่เปิดแพลตฟอร์ม และสำหรับหลายๆ คน นี่คือเงินที่เยอะจริงๆ และความเป็นจริงคือคนอเมริกันที่ "ล้มละลาย" เกินครึ่งหนึ่ง ล้มละลายเพราะเจอบิลค่ารักษาพยาบาล

แต่ถ้าเราเป็นคนยุโรป ก็จะเห็นว่าอะไรพวกนี้มัน "วิปริต" มาก เพราะที่เราเห็นคือแพลตฟอร์มการกุศลอันดับ 1 ของโลกทำหน้าที่หลักๆ คือ ระดมทุนไปเป็นค่ารักษาพยาบาลให้กับคนอเมริกัน ซึ่งสำหรับคนยุโรป บริการพวกนี้มัน "ฟรี" หมด ภายใต้แนวคิด "ประกันสุขภาพถ้วนหน้า"

ถ้าหากไปดูระบบประกันสุขภาพของอเมริกัน ก็จะเห็นว่าระบบย่ำแย่มาก แบบที่เรียกว่า "แย่กว่าไทย" ได้เต็มปาก เพราะอเมริกาไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีแค่ระบบประกันสุขภาพเฉพาะสำหรับคนยากจน และคนสูงอายุ ซึ่งการประกันก็มีวงเงินจำกัดด้วย

นี่นำมาสู่ปัญหาของระบบสาธารณสุขอเมริกาที่อุตสาหกรรมการแพทย์และยา ทำเงินกันมหาศาลมาก โดยเป็นที่รู้กันว่า "ค่ายา" ต่างๆ ในอเมริกานั้นแพงกว่าประเทศอื่นเป็นเท่าตัว และจริงๆ คนอเมริกันที่อยู่แถบชายแดนแคนาดา ก็ข้ามไปแคนาดาเพื่อซื้อยาแบบปกติมากๆ

ทั้งหมดนี้ เลยทำให้ค่ารักษาพยาบาลเป็นปัญหาที่ใหญ่มากๆ ของคนอเมริกัน และตัวเลขคนป่วยหลักแสนที่เข้าไประดมทุนใน GoFundMe ต่อปี ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่น่าประหลาดใจอะไรเลย เพราะระบบสาธารณสุขของอเมริกา "ดี" ที่สุดหรือไม่ เราอาจไม่แน่ใจไม่ แต่มัน "แพง" ที่สุดน่าจะแน่นอน และคนอเมริกันก็ต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้เต็มๆ ยามเจ็บป่วย

ทั้งหมดก็เลยกลับมาสู่การที่มีคนเริ่มตั้งคำถามว่า GoFundMe นั้นดำรงอยู่เพื่ออะไรกันแน่? เพราะถ้าหน้าที่หลักที่สุดของแพลตฟอร์ม คือ การระดมทุนเพื่อให้คนอเมริกันมีค่ารักษาพยาบาล แพลตฟอร์มนี้ก็ดูจะไม่ใช่อะไรนอกจากมาแทนที่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งก็ทำหน้าที่แทนได้ไม่ดีเท่าไรด้วย

ถ้ามองให้ไกลไปมากกว่านั้น โครงการที่ต้อง "ระดมทุน" ส่วนใหญ่ใน GoFundMe ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนการศึกษา เรื่องการสนับสนุนการแข่งกีฬา เรื่องการบรรเทาภัยธรรมชาติ หรือกระทั่งระดมทุนเพื่อชดเชยการสูญเสียของครอบครัว รวมๆ แล้ว เรามองได้ว่า เกิดจากการที่สหรัฐอเมริกาขาดระบบ "ประกันสังคม" ที่เหมาะสม ทำให้ไม่สามารถจะโอบอุ้มสมาชิกสังคมยามที่ "ล้ม" ลงมาได้จากสาเหตุต่างๆ

นี่เลยทำให้เกิดคำถามสำคัญสำหรับหลายสังคมคือ เราต้องการแพลตฟอร์มแบบ GoFundMe ให้คนที่สิ้นหนทางชีวิตสามารถขอความช่วยเหลือทางการเงินจากคนที่ไม่รู้จักได้ หรือเราต้องการระบบประกันสังคมที่ดีที่รัฐจะลงมาช่วยคนที่ล้มเหลว และร่วงหล่นเองอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้ากันแน่?

แน่นอน ระบบหลัง “แพง” กว่าระบบแรกอยู่แล้ว และคำถามสำคัญก็คือ สังคมพร้อมจะจ่ายหรือไม่ และก็อย่าแปลกใจที่คนในหลายสังคมจะมองว่ามัน “แพงเกินไป” และรู้สึกว่าแค่มีระบบแบบ GoFundMe สำหรับประเทศตัวเองก็น่าจะเพียงพอแล้ว    


อ้างอิง
GoFundMe is a poor substitute for America’s tattered social safety net
Free Market Philanthropy: GoFundMe Is Changing The Way People Give To Causes Big And Small
Life And Debt: Stories From Inside America's GoFundMe Health Care System
GoFundMe
 


อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน