ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุที่คนแก่อายุยืนมากๆ นั่นไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่อายุยืน แต่หมาก็เช่นกัน
ผลสำรวจจากสมาคมอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งชาติในปี 2023 ระบุว่านับแต่ปี 2010 หมาในญี่ปุ่นมีอายุยืนขึ้นราวๆ 0.75 ปี แต่อายุที่ยืนขึ้นนั้นไม่ได้น่าประหลาดใจเท่าอายุเพราะปัจจุบัน อายุหมาในญี่ปุ่นคือ 15 ปีกันเป็นปกติ โดยที่ทั่วๆ ไปในโลกนี้หมาจะอายุ 10-13 ปีเท่านั้น
ตรงนี้หลายคนก็คงจะรู้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่มี "หมาข้างถนน" เพราะญี่ปุ่นมีระบบการจัดการเอาเข้าสถานพักพิงหมด ซึ่งถ้ารู้อีก สถานพักพิงหมาในญี่ปุ่นมีอัตราการรับอุปการะเพียง 10% ต่ำว่าค่าเฉลี่ยของโลกเยอะมากซึ่งอยู่ที่ 50% นั่นหมายถึงโดยเฉลี่ย หมาญี่ปุ่นที่เข้าไปสถานพักพิงจะไม่ได้ออกมา และถูกการุณยฆาตด้วยการรมแก๊ส ซึ่งในญี่ปุ่นก็มีเคมเปญจริงจังไม่ให้คนทิ้งหมา เพราะจุดจบของพวกมันจะเศร้ามากถ้าไม่มีคนเลี้ยง
ที่นี้ ตัดภาพกลับมาญี่ปุ่นปัจจุบันที่หมาอายุยืนยาวขึ้น เจ้าของก็เช่นกัน ซึ่งมันนำไปสู่ปัญหาหลายประการ
หลายคนอาจเข้าใจว่าหมาที่อายุยืนยาวขึ้นจะทำให้พวกมันอายุเกินเจ้าของ แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น หมาอายุยืนขึ้นไม่ได้มากเท่ามนุษย์ แต่ปัญหาจริงๆ ก็คือถ้ามนุษย์แก่ถึงจุดหนึ่ง จะดูแลตัวเองก็ยังลำบากเลย ดูแลหมาก็ไม่ไหว และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่น มีหมาที่อยู่ตามสถานพักพังทั่วไปถึง 1 ใน 3 ซึ่งเกิดจากภาวะที่เจ้าของแก่จนไม่สามารถจะดูแลพวกมันต่อได้ และจำใจต้องยกให้สถานพักพิง ซึ่งทั่วๆ ไปมันก็จะจบที่ห้องรมแก๊สอย่างที่เล่า และจริงๆ สถิติก็ชี้ไปแบบนั้น เพราะหมาแทบทั้งหมดของพวกสถานพักพิงที่เข้าห้องรมแก๊สคือหมาแก่ เพราะหมาพวกนี้โดยรวมๆ ไม่มีใครอยากจะรับอุปการะ
แต่ที่นี้ "ทางออก" ก็ค่อยๆ โผล่มาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
ในปี 2014 มีข่าวว่าในญี่ปุ่นเริ่มมีการเปิดบริการ "บ้านพักสุนัขชรา" แบบเหมือนบ้านพักคนชราของมนุษย์เลย โดยมีค่าบริการตกเดือนละประมาณ 40,000-50,000 บาท ซึ่งอธิบายง่ายๆ ก็คือ นี่เป็น "ทางออก" สำหรับคนที่มีเงิน แต่เลี้ยงหมาต่อไม่ไหวแล้ว และไม่อยากส่งมันเข้าห้องรมแก๊สทางอ้อม
แต่ก็แน่นอนไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะมีเงินเยอะขนาดนั้น คนเค้าเลยมองว่าจริงๆ แก้ปัญหาทางอื่นได้ และปัญหาที่ว่ามันเป็นเรื่อง "ระเบียบ"
คนแก่ญี่ปุ่นที่แก่จนเลี้ยงหมาไม่ไหว ส่วนหนึ่งคือต้องไปอยู่บ้านพักคนชรา และสถานที่เหล่านี้เค้าไม่ให้เลี้ยงสัตว์ ในปี 2018 เลยเริ่มมีบ้านพักคนชราที่เอาสัตว์เลี้ยงไปเลี้ยงด้วยได้ โดยเค้าก็จะมีระเบียบ แต่ข้อเท็จจริงคือเอาไปเลี้ยงได้ ซึ่งก็เป็นการมอบชีวิตบั้นปลายที่ดีขึ้นกับทั้งคนเลี้ยงและสุนัข
แต่ปัญหาที่มากกว่านั้น คือปัญหาของสถานพักพิงเอง
สถานพักพิงโดยทั่วไปเลย จะไม่ให้คนอายุเกิน 60 ปีรับอุปการะสุนัข ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าเค้ากลัวคนเลี้ยงจะตายก่อนหมา และสถานอุปการะก็ต้องรับมันกลับมาอีก อย่างไรก็ดี ปัญหาของระเบียบแบบนี้ก็คือ สถานพักพิงเต็มไปด้วยหมาแก่ๆ ที่คนหนุ่มสาวไม่อยากรับไปเลี้ยง และคนที่จะใจดีกับหมาแก่ๆ ที่สุดก็คือคนแก่ แต่ระเบียบดันไม่ให้คนแก่รับพวกมันไปอุปการะ
นี่เลยทำให้ในปี 2019 มีสถานพักพิงสุนัขแนวใหม่โผล่ขึ้นมา เพื่อรับแต่สุนัขสูงวัย แต่เค้ามีแนวว่า จะส่งต่อให้มนุษย์ที่เป็นคนแก่ไปอุปการะพวกมันได้ และถ้าคนเอาไปเลี้ยงตายก่อนก็ไม่เป็นไร พวกมันกลับมาที่สถานพักพิงได้เสมอ และที่เค้าทำแบบนี้ เพราะเค้ารู้ว่าถ้าไม่ทำ ปลายทางของหมาแก่ๆ พวกนี้คือห้องรมแก๊สสถานเดียว
การทำสถานพักพิงและโครงการรับอุปการะแนวนี้ ก็คือการให้โอกาสพวกหมาแก่ๆ อีกครั้งหนึ่งกับเจ้าของใหม่ ที่มักจะเป็นคนแก่เหงาๆ ที่อยากอุปการะสุนัข แต่สถานพักพิงอื่นๆ ไม่ยอมให้โอกาสพวกเค้าเพราะมองว่าสูงวัยเกิน
ทั้งหมดดูจะเป็นสิ่งที่คลี่คลายไปในทางที่ดีในสังคมที่ทั้งคนและหมาอายุมากขึ้นทุกวันนี้ ซึ่งจริงๆ มันอาจจะทำให้คนญี่ปุ่นมีสุขภาพดีไปยาวๆ ในอายุที่มากขึ้นไปได้ เพราะผลวิจัยจากญี่ปุ่นเองในปี 2022 ชี้ว่าคนที่เลี้ยงหมาจะสุขภาพดีแบบยืนยาวกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยง ซึ่งแน่นอนว่าหมาก็ได้ประโยชน์ เพราะเอาจริงๆ ตัวเลขหมาที่ถูกการุญฆาตก็ลดลง จากราว 200,000 ตัวต่อปีในปี 2008 ปัจจุบันเหลือปีละไม่ถึง 40,000 ตัวแล้ว
อ้างอิง
Dog lifespan in Japan up by 0.75 years since 2010; owners face 'elderly pet care' hurdles
Japan: The rising popularity of old dog care centres
Japan Is Opening A Nursing Home For Elderly Dogs
Dogged by old age, owners put their aging pets in care
A Home Where Old People Can Live Together with Their Pets
In Japan's fast-aging society, older people and older pooches are helping each other
Older Japanese dog owners may face lower risk of disability than non-dog owners, study finds