ในวันจดทะเบียนการเกิดสากลปีนี้ ยูนิเซฟ หรือ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ และ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ร่วมกันเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการจดทะเบียนการเกิด ซึ่งถือเป็นการรับรองตัวตนทางกฎหมายลำดับแรกของเด็ก และเป็นรากฐานสำคัญของการมีสถานะทางกฎหมายของบุคคลทุกคน
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติมากที่สุดในโลก ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย ณ เดือนมิถุนายน 2567 ระบุว่ามีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ขึ้นทะเบียนกว่า 592,340 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กประมาณ 169,241 คน
การจดทะเบียนการเกิดถือเป็นก้าวแรกในการยืนยันตัวตนทางกฎหมายของเด็ก และเป็นหลักฐานสำคัญในการขอสัญชาติ หากไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด เด็กอาจกลายเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งทำให้พวกเขามีความเสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ
ในประเทศไทย การจดทะเบียนการเกิดเพียงอย่างเดียวไม่ได้รับรองว่าเด็กจะได้รับสัญชาติไทย หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนการเกิดมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการบันทึกข้อมูลสำคัญ เช่น สัญชาติของบิดามารดา ซึ่งจำเป็นต่อการขอสัญชาติในลำดับต่อไป
คยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า "การจดทะเบียนการเกิดไม่ใช่แค่การดำเนินการที่เป็นทางการเท่านั้น แต่เป็นกุญแจสำคัญที่เปิดโอกาสให้เด็กมีตัวตนทางกฎหมายและเข้าถึงสิทธิอื่น ๆ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล และการคุ้มครอง การไม่มีสูติบัตรทำให้เด็กกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนในสายตาของรัฐ และอาจกลายเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ถูกตัดสิทธิ์จากสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้สุขภาพกายและใจ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กตกอยู่ในความเสี่ยง และทำให้พวกเขาไม่สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน หรือประเทศได้อย่างเต็มที่ การยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเด็กและประเทศไทย ซึ่งยูนิเซฟยังคงมุ่งมั่นทำงานร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตรอย่าง UNHCR ต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญนี้"
กฎหมายไทยให้สิทธิเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยได้รับการจดทะเบียนการเกิดและมีสูติบัตร ไม่ว่าพ่อแม่จะถือสัญชาติไทยหรือไม่ หรือมีสถานะทางกฎหมายประเภทใด อย่างไรก็ดี ยังมีเด็กจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะเด็กในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ยังคงไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด เนื่องจากครอบครัวอาจขาดความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ หรือไม่สามารถเดินทางไปที่อำเภอเพื่อทำการจดทะเบียนการเกิดได้ ทั้งนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้อีกครั้ง โดยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรระดับโลกเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ (Global Alliance to End Statelessness) ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ปฏิรูปกฎหมายสัญชาติและกฎหมายการทะเบียนราษฎรอย่างมีนัยสำคัญ โดยสร้างกรอบกฎหมายที่เปิดโอกาสให้บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติสามารถขอสัญชาติได้โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม การนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติยังคงเป็นไปอย่างล่าช้าทำให้มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่ได้รับสัญชาติหรือสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายที่นำมาซึ่งสิทธิที่จะสามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นการถาวรได้
แทมมี่ ชาร์ป ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "รัฐบาลมีอำนาจในการออกกฎหมายและนโยบายที่ช่วยให้บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศของตนได้รับสัญชาติ UNHCR ชื่นชมความก้าวหน้าที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ และขอสนับสนุนให้รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยผ่านระบบการทะเบียนราษฎรที่มีประสิทธิภาพ”
การศึกษาเรื่อง Revision of Nationality Procedures in Thailand: Bottlenecks Analysis and Recommendations ซึ่งจัดทำโดย UNHCR ในปี 2564 ได้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยพบว่าอุปสรรคหลักมาจากกระบวนการที่ซับซ้อน การขาดความตระหนักรู้ของพ่อแม่และความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ การขาดทรัพยากรในระดับท้องถิ่น อุปสรรคทางภูมิศาสตร์ และทัศนคติเชิงลบของเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ
ที่มา: องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย