Skip to main content

 

การศึกษาล่าสุดขององค์การยูนิเซฟและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า มีเด็กจากครัวเรือนยากจนราว ร้อยละ 34 ไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนตามสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

งานวิจัยนี้ชี้ว่า เงินอุดหนุนมีประโยชน์อย่างมากต่อทั้งสุขภาพและโภชนาการของเด็ก แต่เนื่องจากยังมีครอบครัวที่ตกหล่นอีกเป็นจำนวนมาก ประกอบกับจำนวนเงินช่วยเหลือรายเดือนที่น้อย ทำให้โครงการไม่สามารถลดความยากจนได้เท่าที่ควร

โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเริ่มต้นในปี 2558 และขยายจำนวนเงินต่อเดือนและความครอบคลุมจำนวนเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม การศึกษาชี้ว่า จำนวนเงินอุดหนุนปัจจุบันที่ 600 บาทต่อเดือนนั้น ไม่เพียงพอความต้องการขั้นพื้นฐานของเด็ก

“รัฐบาลไทยสามารถขจัดปัญหาการตกหล่นได้ด้วยการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 7 พันล้านบาท เพื่อให้เข้าถึงเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีอีก 1 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ในโครงการ ส่วนใหญ่เป็นเด็กจากครัวเรือนยากจน ซึ่งจะทำให้งบประมาณทั้งหมดของโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 23,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของจีดีพี นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะเด็กคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศ” ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงของทีดีอาร์ไอ กล่าว

ดร. สมชัยกล่าวว่า มีหลักฐานจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า ปัญหาการตกหล่นเกิดขึ้นเสมอกับโครงการที่เน้นให้สิทธิ์เฉพาะประชากรบางกลุ่ม ซึ่งมักเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนการคัดกรองและการลงทะเบียนเพื่อตรวจคุณสมบัติครอบครัวว่าเข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งข้อมูลใหม่ชี้ว่าโครงการนี้ยังขาดประสิทธิภาพเนื่องจากยังมีอัตราการตกหล่นที่สูง

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยสวนดุสิตโพลช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 81 ของผู้ตอบแบบสำรวจสนับสนุนให้ขยายโครงการนี้เป็นแบบถ้วนหน้า เนื่องจากเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือครอบครัวที่มีเด็ก และช่วยลดความยากจน รวมถึงช่วยเติมเต็มสิทธิของเด็กในการมีวัยเด็กที่มีคุณภาพ

เช่นเดียวกับยูนิเซฟ ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมเด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาครัวเรือนตกหล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยมีอัตราการเกิดที่ต่ำ และมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “การลงทุนในช่วงปีแรกของชีวิตคือการลงทุนที่ฉลาดที่สุดในการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยมีงบประมาณเพียงพอที่จะทำได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลัง ตามการคาดการณ์ของยูนิเซฟและทีดีอาร์ไอ ช่วงหกปีแรกของชีวิต คือ โอกาสสำคัญในการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เพื่อให้เด็กมีสุขภาพดี เรียนรู้เต็มที่ มีอาชีพที่ดี และมีส่วนร่วมในสังคม ในทางกลับกัน การไม่ลงทุนในช่วงนี้อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของประเทศไทยโดยรวมในอนาคต”