Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเพิ่มสวัสดิการค้ำประกันผ่าตัด จัดงานศพ และทำพินัยกรรมให้ “คนแก่ไร้ญาติที่อยู่คนเดียว" หลังคนกลุ่มนี้ขยายตัวต่อเนื่อง

ในยุคปัจจุบัน การแก่ตัวลงอย่างโดดเดี่ยวในสังคมผู้สูงอายุ ดูจะเป็นสัจธรรมของผู้คนจำนวนมาก เพราะถึงแม้คนจะมีคู่ชีวิตแต่ไม่มีลูก ปลายทางนั้นคนใดคนหนึ่งก็น่าจะต้องเหลือคนเดียว ถ้าอีกคนจากไปก่อน ดังนั้น ยังไงก็จะต้องมีคนอยู่และตายไปเพียงลำพังอยู่ดี

แม้ว่าหลายๆ คนจะรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่ตนยอมรับได้และเลือกแล้ว แต่ความเป็นจริงมันไม่ง่ายดายแบบนั้นเมื่อแก่ไปจริงๆ ไม่ว่าจะสำหรับตัวเองหรือรัฐ และทุกวันนี้ญี่ปุ่นอันเป็นชาติที่ประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุหนักที่สุดในโลก ก็ประสบปัญหาพวกนี้อย่างหนัก

การพร้อมจะแก่ชราไปโดยลำพังอย่างมีจิตใจที่เข้มแข็งเป็นสิ่งที่น่านับถือ แต่ปัญหาในระดับชีวิตประจำวันและการบริหารจัดการก็มีมากมาย ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างเช่น ถ้ามีเหตุฉุกเฉินใครจะพาไปโรงพยาบาล? ถ้าสถานพยาบาลต้องการคนเซ็นค้ำประกันการรักษาพยาบาล ใครจะเป็นคนเซ็นให้? ถ้าไม่ได้สติแล้วใครจะเป็นคนเซ็นยินยอมให้ทำการรักษาต่างๆ? ถ้าเสียชีวิตไปแล้วจะเอายังไงกับงานศพ? และจะจัดการทรัพย์สินอย่างไร?

นี่อาจเป็นเรื่องที่คนหนุ่มสาวนึกไม่ถึง แต่ญี่ปุ่นประสบปัญหาแบบนี้ตลอด คนแก่ตายโดยลำพังในบ้านเป็นเรื่องปกติของสังคมที่อาจทำให้หลายคนนึกสยอง แต่อยากให้ลองนึกภาพว่า รัฐจะปวดหัวแค่ไหนถ้ามีเคสแบบนี้เป็นหมื่นเป็นแสนเคสต่อปี และด้วยสถิติ มันก็จะเป็นแบบนั้นแน่ๆ ในที่สุด ถ้ายังไม่มีวิธีจัดการบางอย่างอย่างเป็นระบบ

จริงๆ แล้วญี่ปุ่นมีบริการเอกชนในการจัดการเรื่องทำนองนี้ ซึ่งเค้าเรียกรวมๆ ว่า  "บริการสนับสนุนตลอดชีวิต" (Lifelong Support Service) ซึ่งสมัยก่อนบริการแบบนี้จะคิดแบบ "เหมาจ่าย" เช่น คู่สามีภรรยาอาจเซ็นสัญญากับบริษัทเอกชนให้บริษัทเอกชนมีบทบาทเป็น "ผู้ค้ำประกัน" ไปตลอดชีวิต ซึ่ง "บริการ" ของบริษัทก็คือ จะคอยเซ็นค้ำประกันตอนเข้าบ้านพักคนชราหรือตอนเข้าผ่าตัด (ซึ่งบางที่ไม่เซ็น เค้าก็จะไม่รับเข้า หรือไม่รับรักษา) รวมถึงจัดงานศพและจัดการมรดกให้ให้ถ้าเสียชีวิต ซึ่งในระหว่างมีชีวิตเค้าก็จะจัดการดูแลให้หมดตั้งวางแผนแพคเกจงานศพ และจัดหาทนายมาทำพินัยกรรมให้ ทั้งหมดเป็นบริการที่จะได้เมื่อจ่ายเงินประมาณ 300,000-400,000 บาทต่อคนแบบเหมาจ่ายทีเดียวจบ

อย่างไรก็ดี ปัญหาก็คือพวกบริษัทพวกนี้ บางทีก็เอาเงินไปหมุนจน "ล้มละลาย" (เช่น Nihon Life Kyokai ที่ล้มละลายไปในปี 2020) และผลก็คือ คนแก่จำนวนมากที่จ่ายเงินไปแล้วก็เสียเงินไปเปล่าๆ เลย (ให้ตรงคือ ก็ได้เงินทดแทนหลังบริษัทล้มละลายและทรัพย์สินถูกขายทอดตลาด แต่อาจได้กลับมาไม่เกิน 100,000 บาท อะไรแบบนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ใช้บริการอะไรเลย)

นี่ทำให้หลังๆ บริษัทพวกนี้เริ่มเปลี่ยนแพคเกจเป็นทำนองเก็บเงินแบบเหมาจ่ายแค่ปีละไม่เกิน 100,000 บาท แต่คิดค่าสมาชิกปีละ 10,000-20,000 บาทเป็นต้น ซึ่งก็สมเหตุสมผลกับเหล่าคนแก่มากกว่า

แต่วิธีนี้ ก็ทำให้มีแค่คนแก่ที่มีฐานะเท่านั้น ที่จะเข้าถึงบริการแบบนี้ คนแก่ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นเข้าไม่ถึงบริการแบบนี้ และปัญหาที่เล่ามาตอนต้นก็วนมาอีก

นี่เลยทำให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2024 กระทรวงสวัสดิการของญี่ปุ่นเสนอแผนให้มี "ผู้ประสานงาน" ของรัฐทำหน้าที่เป็น "ผู้ค้ำประกัน" ของคนแก่ที่อยู่อาศัยคนเดียวในกรณีต่างๆ ซึ่งถามว่า "บริการ" นั้นทำอะไร คำตอบคือก็ บริการเหมือน "ผู้ค้ำประกัน" เอกชนที่ว่าทั้งหมด คือ ดูคอยดูแลเซ็นเอกสารค้ำประกันให้ในการเข้าบ้านพักคนชราหรือการผ่าตัด คอยประสานงานแผนงานศพไว้ตอนยังมีชีวิตและเตรียมจัดตามนั้น รวมถึงการจัดหาทนายมาทำพินัยกรรมและคอยจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามพินัยกรรมด้วย

จริงๆ โครงการพวกนี้เริ่มมีโครงการนำร่องในหลายเขตเทศบาลแล้ว ณ ปี 2024 ถ้ามันไม่มีปัญหาอะไร ก็น่าจะเป็นโครงการระดับชาติในไม่ช้า สำหรับรัฐบาลญี่ปุ่น การจัดการแบบนี้นอกจากจะเป็นการไม่ทอดทิ้งคนแก่แล้ว มันก็ยังเป็นการลดปัญหาที่รัฐต้องจัดการสิ่งต่างๆ ของ "คนแก่ไร้ญาติที่ตายโดยลำพัง" ด้วย เพราะในทางเทคนิคมันวุ่นวายสุดๆ

 

อ้างอิง
Japan plans new support system for elderly people with no relatives
How companies are addressing workforce shortages and employee satisfaction with senior employment in Japan
Complaints surge over lifelong support services for the elderly
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน