Skip to main content

 

นักเรียนในเยอรมนี สามารถเข้าฝึกงานกับบริษัทได้ตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมต้น เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจริง และเป็นการค้นหาเส้นทางอาชีพของตัวเองในอนาคตได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

เนห์มาน ไฮม์ นักเรียนมัธยมวัย 16 ปี อาศัยอยู่ในเมืองโคโลญจ์ สองปีที่แล้ว เธอฝึกงานที่สำนักงานสถาปนิกอยู่ราว 2 สัปดาห์ จากนั้นก็เปลี่ยนไปฝึกงานที่โรงเรียนอนุบาล ซึ่งทำให้เธอเห็นเส้นทางอาชีพที่ชัดเจนว่า เธอต้องการที่จะเป็นครู

เนห์มานวางแผนที่จะทำงานในด้านการศึกษากับเด็กนักเรียนประถม หลังจบจากโรงเรียนเธอจะเข้าฝึกงานเป็นเวลา 1 ปีเพื่อยืนยันว่า การสอนเป็นอาชีพที่เธออยากทำ ก่อนจะเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยเทคนิค

เนห์มาน เข้าร่วมโครงการ Kein Abschluss ohne Anschluss (KAoA) ซึ่งมีอยู่ทั่วทั้งรัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย โครงการนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยนักเรียนวางแผนอนาคต โดยจะให้ความช่วยเหลือเรื่องการเขียนเรซูเม่และใบสมัครสำหรับการฝึกงาน ทั้งนี้ นักเรียนชั้นมัธยม 3 ในเยอรมนีสามารถฝึกงานกับบริษัทธุรกิจท้องถิ่นได้ โดยสามารถเลือกฝึกงานเป็นเวลา 1 ปี หรือทำงานสัปดาห์ละ 1 วันสำหรับนักเรียนมัธยมปีที่ 4

โครงการ KaoA กระจายตัวอยู่ทั่วโรงเรียนทั้ง 2,000 แห่งในรัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย นอกจากสนับสนุนเรื่องการฝึกงานให้กับนักเรียนแล้ว ยังช่วยเรื่องการเตรียมตัวเพื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยด้วย

ซอนยา กรีซิค ครูสอนภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ที่โรงเรียนเออร์ชูลา คูชร์ ที่เนห์มานเรียนอยู่บอกว่า 

“นักเรียนไม่มีทางได้เรียนเรื่องการทำงานจากที่โรงเรียนหรอก พวกเขาจะต้องออกไปหาประสบการณ์เอง”

เยอรมนีและประเทศยุโรปตะวันตกมีการจัดการเพื่อให้นักเรียนเข้าสู่เส้นทางอาชีพตั้งแต่อายุยังน้อย นักเรียนในเยอรมันสามารถเริ่มฝึกงานได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยเรียนทฤษฏีที่โรงเรียนและเรียนภาคปฏิบัติจากการเทรนที่บริษัท ก่อนจะเข้าเรียนในวิทยาลัยอีก 3 ปี แล้วจึงสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย

ที่โรงเรียนเออชูลา คูชร์ นักเรียนจะได้ไปดูงานเกี่ยวกับอาชีพที่หลากหลาย เช่น การดูงานที่สนามบินเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นพนักงานต้อนรับ งานดับเพลิง งานรักษาความลอดภัย หรือเรียนรู้เรื่องเครื่องยนต์ของอากาศยาน นอกจากนี้ ยังมีพนักงานจากบริษัทรถยนต์ฟอร์ด มาบรรยายเกี่ยวกับงานและอาชีพให้กับนักเรียนและผู้ปกครองถึงที่โรงเรียน

“เราพูดกันเสมอเกี่ยวกับงานต่างๆ ที่อาจจะเหมาะสมกับนักเรียน” ครูซอนยา กล่าว

ไมล์ กลีซิก นักเรียนอายุ 15 ปีของโรงเรียนเออซูลา คูชร์ ฝึกงานระยะยาวที่ร้านฮาร์ดแวร์เกี่ยวกับการเป็นพนักงานขาย เขาบอกว่า การได้ค่าจ้างขณะฝึกงานช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน และการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต

“ผมคิดว่ามันดีกว่า ถ้าคุณเริ่มเรียนรู้ว่าจะต้องทำยังไงกับเงินของคุณตั้งแต่ตอนที่อายุยังน้อยๆ” ไมล์บอก

เช่นเดียวกับ ทิม เบคเกอร์ อายุ 20 ปี กำลังฝึกงานกับบริษัทไอทีหลังจากสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขาหลงใหลในคอมพิวเตอร์ ทิมบอกว่า 

“ผมไม่ใช่คนประเภทที่จะมานั่งฟังเลคเชอร์ได้ทั้งวี่ทั้งวันที่มหาวิทยาลัย” ทิมบอกด้วยว่า มีเพื่อนบางคนดรอปเรียนเพื่อไปเป็นนักศึกษาฝึกงาน

ทิมกำลังจะสิ้นสุดการฝึกงานในเดือนกันยายนปีนี้ พร้อมกับความเชี่ยวชาญการให้บริการไอทีและความปลอดภัยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตลอดการฝึกงาน เขาได้รับค่าจ้าง 1,260 ยูโรต่อเดือน หรือราว 4.6 หมื่นบาท ซึ่งทำให้เขาไม่ต้องไปทำงานพาร์ทไทม์แบบเพื่อนๆ และงานนี้เหมาะกับเขามากกว่า เพราะจะได้อยู่ท่ามกลางคอมพิวเตอร์ที่เขาหลงรัก

ระบบการฝึกงานของเยอรมนี กลายเป็นที่สนใจในสหรัฐอเมริกาซึ่งให้ความสำคัญต่อใบปริญญาบัตรน้อยลง การฝึกงานของเยาวชนเริ่มเกิดขึ้นในหลายรัฐ และเกิดโครงการอาชีพเพิ่มมากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาระดับปริญญา

แต่กระนั้น ระบบการฝึกงานที่เก่าแก่นับร้อยปีของเยอรมันก็ต้องเผชิญกับแรงเสียดทาน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจ่ายค่าจ้างที่ต่ำให้กับนักเรียนฝึกงาน ทำให้นักเรียนและพ่อแม่ต่างลังเลเกี่ยวกับการฝึกงานระหว่างเรียน ขณะที่ตลาดแรงงานของเยอรมนีได้เปลี่ยนเป็นดิจิทัล และการระบาดใหญ่ของโควิดส่งผลกระทบต่อการฝึกงาน ทำให้โครงการจำนวนมากต้องปิดตัวลงเป็นเวลานาน

ปัจจัยเหล่านี้ นำไปสู่การที่นักเรียนเลือกที่จะสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยร้อยละ 50 เลือกเรียนสาขามนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติซึ่งเป็นสัดส่วนสูงกว่าที่เคยเป็นมา ทำให้บรรดาผู้จัดทำนโยบายสาธารณะต้องปรับรูปแบบการฝึกงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยให้นักศึกษามหาวิทยาลัยสามารถฝึกงานไปพร้อมๆ กับการเรียน นักศึกษาที่ผ่านการฝึกงานแล้วยังสามารถกลับไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับการหาประสบการณ์ทำงานควบคู่กับไปการเรียนที่กำลังเติบโตขึ้น

ธุรกิจต่างๆ ในเยอรมนีก็ดูจะกระตือรือร้นกับการเทรนนักเรียนฝึกงาน โดยสภาการค้าและอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนระหว่างบริษัทกับโรงเรียน และช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กในเรื่องความพร้อมสำหรับการฝึกงานของนักเรียน

“การเสนอให้มีการอบรมทั้งในชั้นเรียนและที่ทำงาน ระบบนี้จะทำให้นักเรียนมีโอกาสที่ดีกว่าในการหางานที่มั่นคงและมีรายได้ดี” เลโอนาร์ด กีเยอร์ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยและนโยบายรัฐสวัสดิการยุโรปกล่าว


ที่มา
How Schools in Germany Are Preparing Students for Flexible Futures