Skip to main content

 

กฎหมายใหม่ของสวีเดนที่เพิ่งมีผลบังคับในเดือนนี้ อนุญาตให้ปู่ย่าหรือตายายมีสิทธิลางานเพื่อมาช่วยลูกๆ เลี้ยงดูหลานตัวน้อยโดยที่ยังคงได้รับค่าแรง

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รัฐสภาของสวีเดนเห็นชอบกฎหมายใหม่ที่ให้สิทธิวันลางานแก่ปู่ย่าตายายเพื่อไปเลี้ยงหลาน โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ซึ่งคนที่เป็นพ่อแม่ลูกอ่อนสามารถโอนส่วนหนึ่งของวันลาเลี้ยงลูก ซึ่งมีอยู่รวมกัน 480 วัน ไปให้กับปู่ย่าหรือตายายได้ โดยกฎหมายกำหนดให้ลาหยุดได้ไม่เกิน 45 วัน หากกรณีที่เป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว กำหนดวันลาได้ไม่เกิน 90 วัน สิทธินี้จะใช้ได้กับปู่ย่าตายายโดยให้พิจารณาไปตามความเหมาะสม

สวีเดนให้สิทธิพ่อแม่ลาหยุดเพื่อเลี้ยงลูกได้ตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว และเป็นชาติสแกนดิเนเวียชาติชาติแรกที่กำหนดให้พ่อได้รับค่าจ้างระหว่างการลา ซึ่งสิทธิการลางานเพื่อเลี้ยงลูกในสวีเดน ขยายมาถึงพ่อเมื่อปี 1974 และใช้เวลายาวนานกว่าที่จะให้ผู้ชายมีบทบาทช่วยแบ่งเบาภาระนี้

ปรกติคุณพ่อชาวสวีเดนใช้วันลาเลี้ยงลูกราวร้อยละ 30 ขณะที่แม่จะใช้จำนวนวันลามากกว่า โดยวันลาที่เหลือสามารถมอบให้ปู่ย่าหรือตายาย หากพ่อแม่เลือกที่จะกลับไปทำงานก่อน  ในปี 2005 มีพ่อแม่ชาวสวีเดนเพียงร้อยละ 10 ที่แบ่งวันลาเท่าๆ กัน แต่ปัจจุบันสัดส่วนนี้กำลังเพิ่มขึ้น

สวีเดน เป็นที่รู้กันดีว่ามีสวัสดิการที่ดูแลประชาชนตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน รวมไปถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่มอบให้กับคนที่เป็นพ่อแม่ ซึ่งสวีเดนมีวันลางานเพื่อเลี้ยงดูลูกรวม 480 วัน หรือ 16 เดือนเต็มสำหรับลูก 1 คน พ่อแม่สามารถแบ่งวันลากันได้ โดยจะได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 390 วัน

สิทธิประโยชน์สำหรับพ่อแม่ชาวสวีเดนยังคงมีต่อเนื่องหลังสิ้นสุดวันลาหยุดเพื่อเลี้ยงลูก พ่อแม่สามารถลดชั่วโมงการทำงานลงจนกระทั่งลูกอายุ 8 ปี หากเป็นพนักงานรัฐจะได้รับสิทธินี้ไปจนลูกมีอายุ 12 ปี เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างฟินแลนด์ ให้สิทธิวันลาเลี้ยงลูกกับพ่อแม่นาน 7 เดือนโดยที่ยังได้ค้าจ้าง และกำหนดให้พ่อมีช่วงวันลาเลี้ยงลูกที่สั้นกว่า


ที่มา
Sweden Now Offers Grandparent Leave