Skip to main content

Libertus Machinus
 

 

แม้ว่าหมาและแมวจะอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคแรกของอารยธรรม เช่นเดียวกับที่หมาและแมวจรก็มีมาตลอดประวัติศาสตร์ แต่หมาและแมวจรกลายมาเป็นปัญหาสังคมในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อเมืองใหญ่ขยายตัว ผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เกิดโรคระบาดง่ายขึ้น สัตว์เหล่านี้เลยกลายเป็นพาหะของโรคที่ทำให้มนุษย์ถึงตายอย่าง "พิษสุนัขบ้า" และ "การกวาดล้าง" หมาและแมวจรออกจากถนนก็เลยเริ่มขึ้นนับแต่นั้น

ทุกวันนี้ในบางประเทศเราจะเห็นว่า ท้องถนนไม่มีหมาแมวจรเลย เหตุผลก็คือ เค้ามีมาตรการจับหมาแมวจรเข้า สถานพักพิง (Shelter) หมดเพื่อรอคนรับไปอุปการะ ซึ่งทั่วๆ ไปจะมีโควตาว่า อยู่ได้นานเท่าไรก่อนจะถูกเอาไป "กำจัด" เพื่อให้โอกาสหมาแมวจรรุ่นต่อไป  ซึ่งแน่นอน นี่คือความโหดร้ายอยู่ในเงามืดที่เราไม่ได้เห็นในชีวิตประจำวันแน่ๆ แต่มันก็เป็นความลับที่ทำให้หลายประเทศมี "ท้องถนนอันสะอาดเอี่ยม" เช่น ญี่ปุ่นที่ถนนสะอาดปราศจากหมาจร

เบื้องหลังคือ ญี่ปุ่นต้องทำการกำจัดหมาแมวจรปีละกว่า 200,000 ตัวจากสถานอุปการะ เพราะคนญี่ปุ่นเป็นชาติที่อุปการะสัตว์พวกนี้น้อยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เลยทำให้ตัวเลของการ "กำจัด" หมาจรของญี่ปุ่นสูงระดับท็อปของโลกเช่นกัน

แต่ก่อนจะเศร้ากันไปใหญ่ นี่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเล่าใหัฟังในวันนี้ แต่เราจะเล่าถึงวิธีจัดการกับหมาแมวจรอีกแบบที่ "มีมนุษยธรรม" กว่าญี่ปุ่น ที่ เอาหมาไปรมแก๊ส (ใช่ครับ วิธีกำจัดสัตว์จรจัดของญี่ปุ่นคือเอาไปรมแก๊ส)


แมวจรหูแหว่ง หมาจรติด Tag

 

ถ้าไปเที่ยวตุรกี เราอาจเห็นหมาจรติด Tag ที่หูแบบเสื้อผ้าตามร้านเสื้อผ้า  หรือถ้าไปเที่ยวเกาหลีใต้ หรือในหลายประเทศก็อาจเห็นแมวจรปลายหูแหว่ง ซึ่งเราอาจไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่จริงๆ แล้วสิ่งนี้มี "ความหมาย" และอาจเป็น "ความหวัง" ของคนรักหมาแมวจร

เราอยากเริ่มจากเรื่องของแมวก่อน

วิธีจัดการแมวจร ในหลายประเทศเค้าไม่ปราบปรามเหมือนหมา เพราะทั่วๆ  ไปมันไม่กัดคนและแพร่พิษสุนัขบ้าเท่าไร แต่ในหลายประเทศ พอไม่ทำอะไรแมวจรจัดก็ขยายตัวมากๆ และสร้างปัญหาให้กับผู้คน ไม่ว่าจะกัดกันบนหลังคาบ้านยามดึก หรือแอบมาขับถ่ายในบริเวณบ้าน จนมีเสียงเรียกร้องให้รัฐทำอะไรสักอย่าง

ครั้นรัฐจะจัดการขั้นเด็ดขาด เหล่าพวกองค์กรสิทธิสัตว์ก็โวยวาย พวกคนไม่รักแมวก็โวยว่า ต้องทำอะไรสักอย่าง และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ โครงการที่เค้าเรียกรวมๆ ว่า Trap, Neuter and Return ซึ่งเรียกย่อๆ ว่า TNR โดยความหมายก็ตามนั้น คือ จับแมวจรจัดมาทำหมัน และปล่อยมันไป

ปัญหาของแมวจรจัดคือ มันขยายพันธุ์เก่ง ดังนั้น วิธีแก้คือจับทำหมันก็จบ ระยะยาวพวกมันจะน้อยลง พวกคนที่รำคาญก็พอใจ พวกคนรักแมวก็พอใจเพราะแนวทางแบบนี้ก็ไม่ต้องมีการฆ่าแกงแมวจรใดๆ

แต่ที่นี้คำถามสำคัญคือ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าแมวทำหมันแล้ว นี่เลยนำมาสู่สิ่งที่เป็น "สัญลักษณ์สากล" ของแมวจรที่ถูกจับไปทำหมันแล้ว ซึ่งคือการ "ตัดปลายหู" (Ear-Tipping) ซึ่งกระบวนการก็คือ การตัดปลายหูซ้ายของแมวออกประมาณ 1 ซม. ตอนที่มันยังสลบตอนทำหมัน และทำแผลให้เสร็จสรรพ ซึ่งเค้าก็ว่ากันว่าจะไม่เจ็บปวดอะไร ใช้ชีวิตได้ตามปกติทันที และนี่ก็เป็นแค่การสะกิดเท่านั้นของสิ่งที่ได้ชื่อว่ามี 9 ชีวิต

เทคนิคแบบนี้เราพบได้ทั้งในอเมริกา อังกฤษ ไปจนถึงเกาหลีใต้ มันเป็นเทคนิคสากลในการบริหารจัดการแมวจร ซึ่งก็ต้องเข้าใจอีกว่าโดยทั่วไป การจับสัตว์พวกนี้ไปสถานพักพิงมันไม่เวิร์ค เพราะมันต้องใช้เงินดูแล และส่วนใหญ่คนก็ไม่รับอุปการะ ดังนั้น การจับมันไปทำหมันแล้วปล่อยให้มันใช้ชีวิตไปตามปรกติเป็นสิ่งที่ประหยัดทรัพยากรกว่า 

แต่ละประเทศก็จะมีวิธีจัดการต่างๆ กัน รัฐลงมาทำบ้าง บางประเทศก็ใช้อาสาสมัครช่วยกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ แมวผ่านกระบวนการ TNR แล้วปลายหูซ้ายจะแหว่ง และเราไปที่ไหนพบแมวหูแหว่งเยอะๆ สิ่งที่เราจะเข้าใจได้คือที่นั่นเค้ามีระบบจัดการแมวจรที่ดีมากๆ

ต่อมาในกรณีของหมา

หมาต่างจากแมว คือหมาจรจับไปทำหมันยังไม่พอที่จะให้พวกมันใช้ชีวิตข้างถนนได้ รัฐส่วนใหญ่ก็ยังมองว่า พวกมันเป็นพาหะโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ ดังนั้นการทำให้หูแหว่งจึงไม่พอ คือพวกนี้ต้องผ่านการฉีดวัคซีคอยู่เรื่อยๆ แบบต้องมีการบันทึกเอาไว้ หรือพูดง่ายๆ คือถ้าจะทำให้ปลอดภัยจริงๆ พวกหมาจรก็ต้องมีการขึ้นทะเบียนแบบหมามีเจ้าของ

ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเข้าใจอีกว่า เอาจริงๆ ในทางเทคนิค การ "ตัดหูหมา" (Ear-Cropping) มันต่างจากการ "ตัดหูแมว" คือการตัดหูหมา ในอดีตที่ผ่านมาหลายร้อยปี มันทำกันเพื่อเสริมความงามไม่ได้ต่างจากการตัดหางหมา ซึ่งพวกองค์กรสิทธิสัตว์ก็สู้กันมายายาวนาน ก่อนที่ชาติตะวันตกแทบทั้งหมดจะค่อยๆ แบนการ "ตัดหูหมา" ในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ถึงต้น 2010

พูดง่ายๆ คือถึงจะแค่จับหมาจรมาทำหมัน เราก็ "ตัดหู" พวกมันแบบแมวไม่ได้อยู่ดี เพราะชาติส่วนใหญ่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายไปแล้ว ดังนั้นมันเลยต้องมีการ "ทำสัญลักษณ์" กับหมาแบบอื่นที่ยอมรับกันได้ในแบบสากล

มีการเสนอกันหลายวิธี ไม่ว่านั่นจะเป็นการสักหรือฝังชิป เพื่อให้ง่ายต่อการสืบประวัติ แต่ในความเป็นจริงอะไรพวกนี้ดูไกลๆ มันไม่เห็น และทำให้จัดการยากขึ้นไปอีก เพราะไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรืออาสาสมัครก็ไม่อยากเสี่ยงโดนหมาจรกัดเพียงแค่ว่าจะไปเช็คว่า ตัวนี้มันทำหมันและฉีดวัคซีนไปรึยัง

สุดท้าย ไอเดียที่เค้าเสนอ ซึ่ง "ชนะ" ทุกไอเดีย คือ การติด Tag ที่หูหมาจร  ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กับพวกปศุสัตว์มาช้านานแล้ว ติดไปมันก็ไม่เจ็บปวด ใช้ชีวิตได้ปกติ และที่สำคัญคือ สามารถทำสัญลักษณ์แบบนี้ โดยที่ "ไม่ต้องวางยาสลบ" เพราะในกรณีของหมา มันมีพวกยาฉีดให้เป็นหมันเลยแบบไม่ต้องวางยาสลบแล้วผ่าตัดเล็ก ซึ่งในทางปฏิบัติคือ การจับหมาจรมาฉีดยาให้เป็นหมัน และฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า แล้วติด Tag ที่หู ก็จะถือว่าจบเลย คนผ่านไปผ่านมาเห็นก็จะเห็นมันได้ชัดว่านี่คือหมาจรที่ "ผ่านกระบวนการ" เรียบร้อยแล้ว และรู้ว่ามัน "ปลอดภัย"

หมาต่างจากแมว ซึ่งหลายๆ ชาติไม่ได้ "ใจดี" กับพวกมันสักเท่าไร ชะตากรรมมันก็จะคล้ายๆ ที่ญี่ปุ่น คือโดนจับเข้าสถานพักพิง และสุดท้ายพอไม่มีใครรับอุปการะในช่วงเวลาที่กำหนดก็จะถูก "จัดการ" ดังนั้น ชาติที่แมวหูแหว่งจึงมีเยอะมาก แต่ชาติที่หมามีติด Tag ที่หูมีน้อย

พูดให้ตรงคือ ในโลกนี้ก็มีแต่หมาในเมืองอิสตันบูลของตุรกีนี่แหละที่มีแบบนี้ แต่จริงๆ ในหลายๆ เมืองในอเมริกา พวกองค์กรพิทักษ์หมาก็พยายามจะทำแบบเดียวกัน แต่โครงการมันสเกลเล็กกว่าอิสตันบูลมาก


ทำไมหมาจรอิสตันบูลติด Tag ได้เยอะกว่าที่อื่น

 

ทำไมอิสตันบูลถึงเป็นแบบนี้? คำถามสั้นๆ แต่ถ้าจะตอบกันจริงๆ คงต้องตอบยาวเป็นบทความ เพราะจริงๆ มันเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยหมาจรมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว และแม้ว่ามันจะมีประวัติการจัดการหมาจรหลายรอบ แต่พอกำจัดที เมืองก็จะประสบเคราะห์บางอย่างเสมอ ทำให้พวกคนรักหมาบอกว่านั่นไง "สวรรค์ลงโทษ"

สำหรับคนรักหมาจำนวนมาก เค้าอธิบายว่า ที่จักรวรรดิออตโตมันล่มสลายไปในตอนต้นศตวรรษที่ 20 ก็เพราะจักรวรรดิมีมาตรการเอาเหล่าหมาจรไป "ปล่อยเกาะ" ให้พวกมันอดตาย

สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ รัฐบาลของไตยิป แอร์โดอัน ผู้นำตุรกี เพิ่งผ่านกฎหมาย "จัดการ" หมาจรไปในเดือนพฤษภาคม 2024 ไปสดๆ ร้อนๆ ไอเดียก็คือ เค้ามองว่าอิสตันบูลมีหมาจรเยอะไปแล้ว ต้องจับพวกมันเข้า "สถานพักพิง" แบบเดียวกับประเทศอื่น และมาตรการคือ ถ้าไม่มีคนมารับอุปการะภายใน 30 วัน ก็จะ "กำจัด" ซึ่งนี่นำเรากลับไปตอนแรก ซึ่งเราเล่าให้ฟังเรื่องญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นก็จัดการหมาจรในรูปแบบนี้

แต่เคสของตุรกีอาจต่างออกไป เพราะถ้านโยบายนี้สำเร็จ และหมาจรตุรกีนั้นถูกกำจัดไปจากท้องถนนเช่นเดียวกับชาติอื่นจริง แน่นอนผู้คนคงทำอะไรไม่ได้ แต่สุดท้ายถ้าวันหนึ่งไตยิป แอร์โดอัน ต้องมีอันเป็นไปในทางการเมือง คนรักหมาทั่วตุรกีก็คงจะจดจำว่า การล่มสลายของชายผู้ครองตุรกีมาเป็นทศวรรษผู้นี้ มันไม่ใช่เรื่องการเมืองอะไรหรอก แต่เค้าโดน "สวรรค์ลงโทษ" จากการไปจัดการกับหมาจรอันเป็นที่รักของชาวอิสตันบูลนี่เอง


อ้างอิง
Cropping (animal)
Why do some cats have an ear tip missing? 
What Does It Mean If a Cat has a Clipped Ear?
Solo volunteers manage stray cat population through TNR
Dogs and Cats of Istanbul – A Canadian pet photographer’s experience
‘They see them as fellow citizens’: How Istanbul’s street dogs have found a place in society
Netizen Shares How Stray Dogs Are Treated in Turkey & It’s Really Heartwarming
Why you must watch out for the telltale notch in a dog’s ear
  

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน