เด็กนักเรียนสิงคโปร์ ได้ที่ 1 ของโลกในการทดสอบ “ความคิดสร้างสรรค์” หรือ “การคิดนอกกรอบ” โดยเอาชนะนักเรียนจากอีก 63 ประเทศ
ใน การทดสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ที่จัดขึ้นโดย องค์กรความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้บรรจุการทดสอบเรื่องความคิดสร้างสรรค์เอาไว้ด้วย ในรายงานผลการทดสอบ PISA ปี 2022 ที่เพิ่งมีการเผยแพร่เมื่อปลายปี 2023 เผยว่า นักเรียนสิงคโปร์ได้คะแนนอันดับ 1 ในการทดสอบคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดยรวมถึงเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ด้วย
นักเรียนอายุ 15 ปีของสิงคโปร์ จากโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ 149 แห่ง ที่เข้าร่วมการทดสอบ สามารถทำคะแนนด้านความคิดสร้างสรรค์ได้ 41 คะแนน ขณะที่นักเรียนในกลุ่มประเทศ OECD อีกหลายประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ แคนาดา นิวซีแลนด์ เอสโตเนีย และฟินแลนด์ สามารถทำคะแนนได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ซึ่งอยู่ที่ 33 คะแนน
รายงานระบุว่า นักเรียนสิงคโปร์ 6 ใน 10 คนที่เข้าร่วมการทดสอบ ทำคะแนนได้สูงสุดในเรื่องความสามารถในการริเริ่มสร้างสรรค์ และมีความคิดที่หลากหลายในการแก้ปัญหาหรือจัดการกับภารกิจในบริบทที่ต้องการการแสดงออกและจินตนาการ ซึ่งผลคะแนนดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนในประเทศสมาชิก OECD มากกว่า 2 เท่า ทั้งยังเป็นคะแนนสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่เข้าร่วมทดสอบทั้งหมด 64 ประเทศ
รายงานของ OECD ระบุว่า เกณฑ์การวัดเรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้นแตกต่างจากการทดสอบหลัก เช่น การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการมุ่งสนใจที่ความคิดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่มากกว่าการนำความรู้ที่มีอยู่มาประยุกต์ นักเรียนจะถูกท้าทายด้วยคำถามแบบเปิด มากกว่าการตอบให้ถูกต้องหรือเลือกคำตอบที่เหมาะสมที่สุด
เวลา 1 ชั่วโมงที่ใช้ในการทดสอบ นักเรียนจะได้รับโจทย์ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความสามารถในการประเมินและการปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อจัดการภารกิจให้ลุล่วง โดยการให้คะแนนจะให้กับความคิดใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ความคิดในการแก้ปัญหาแบบปรกติทั่วไป เช่น นักเรียนสิงคโปร์เสนอการใช้ทางขึ้นลงแบบบันไดเวียนในการแก้ปัญหาการเข้าถึงห้องสมุดของคนที่ใช้วีลแชร์ หรือเสนอให้ทำการทดลองเพื่อหาสาเหตุของปัญหาประชากรกบในแม่น้ำ และเสนอความคิดเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์เรื่องหุ่นยนต์อัจฉริยะในรูปร่างของมนุษย์
8 ใน 10 ของนักเรียนสิงคโปร์บอกว่า ครูของพวกเขากระตุ้นให้นักเรียนเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองในการทำงานที่สร้างสรรค์ ราว 3 ใน 4 ของนักเรียนมีมุมมองว่า ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้จำกัดไว้แค่ในงานศิลปะเท่านั้น และราวครึ่งหนึ่งของนักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ที่เติบโตมากขึ้น และเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ คือ ความคิดที่ยืดหยุ่น ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้
รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาของสิงคโปร์ กล่าวว่า นักเรียนที่มีพื้นเพทางเศรษฐกิจสังคมที่ด้อยกว่า สามารถทำคะแนนความคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่านักเรียนที่เรียนในโรงเรียนนานาชาติถึงร้อยละ 25
หลิว เว่ย ลี่ ผู้อำนวยการการศึกษาพื้นฐานของสิงคโปร์กล่าวว่า
“ในยุคไฮเทคที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงความรู้ได้ นักเรียนสิงคโปร์จำเป็นต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีคุณค่าความหมายอย่างต่อเนื่องให้กับโลก”
ที่มา
Singapore’s 15-year-old students score top marks in OECD’s creative thinking test