วิริญจน์ หุตะสังกาศ
"แม่เลี้ยงเดี่ยว" คือแม่ที่รับบทผู้ปกครองให้ลูกเพียงผู้เดียว โดยไม่มีสามีหรือพ่อของเด็กร่วมเลี้ยงดูด้วย เป็นบทบาทที่อยู่คู่สังคมมนุษย์มานาน
ในนิทานพื้นบ้านเองก็ปรากฏภาพแม่เลี้ยงเดี่ยว อย่างในเรื่อง นางฟ้า (Les fées, 1697) ของชาร์ล แปร์โรต์ (Charles Perrault) ก็เล่าเรื่องแม่หม้ายคนหนึ่งอาศัยอยู่กับลูกสาวสองคน ลูกสาวคนโตมีหน้าตาและนิสัยคล้ายแม่ เป็นคนเย่อหยิ่งและไม่น่าคบหานัก ในขณะที่ลูกสาวคนเล็กมีหน้าตาและความอ่อนโยนเหมือนพ่อที่เสียชีวิตไป
ลูกสาวคนเล็กและนางฟ้า จากเรื่อง Les fées
ผู้เขียนเห็นด้วยว่าผู้หญิงคนเดียวดูแลครอบครัวได้ ทว่าต้องยอมรับว่ามีอุปสรรคอยู่บ้าง อาจเป็นด้านเศรษฐกิจหรือเวลา ที่อาจมีให้ครอบครัวไม่เพียงพอเนื่องจากต้องทำงานและดูแลครอบครัวไปพร้อมกัน
ในประเทศฝรั่งเศส ผู้ที่ได้รับสิทธิค่าแรงขั้นต่ำมีความเสี่ยงยากจนเพิ่มขึ้นในกรณีที่มีลูกที่ต้องเลี้ยงดูมากกว่า 2 คนขึ้นไป จึงมีหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนที่ช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ไม่เพียงพอ เช่น กองทุนสวัสดิการสนับสนุนครอบครัว (Caisse d'Allocations Familiales) สำนักงานสวัสดิการเพื่อเกษตรกร (Mutualité sociale agricole) และ สหพันธ์ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว (Fédération Syndicale des Familles Monoparentales) เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยนั้น มีหน่วยงานที่ดูแลอย่าง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือมูลนิธิเอกชนอื่น ๆ
วันนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมารู้จักเหล่าแม่เลี้ยงเดี่ยวในวรรณกรรมเยาวชนที่ไม่ใช่แม่ในอุดมคติ เป็นแม่ที่บกพร่องหลายอย่าง แต่ก็เป็นแม่ที่พยายามในทุก ๆ วัน ทุก ๆ แง่มุม เพื่อให้ลูก ๆ ของเธอมีความสุข
Les zinzins de l'assiette (ตัวป่วนเรื่องอาหาร) ของ Audren (ไม่มีแปลไทย)
นวนิยายเรื่อง Les zinzins de l'assiette (ตัวป่วนเรื่องอาหาร, 2011) โดย Audren เล่าถึงครอบครัวของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้มีลูกชายสี่คน เป็นหัวหน้าแผนกในบริษัทอเมริกันที่มาตั้งสาขาอยู่ในฝรั่งเศส เธอทำงานนอกบ้านเก่ง แต่งานในบ้านนั้นกลับไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย
เธอมีเวลาเพียงหนึ่งวันในการทำงานบ้านและซื้ออาหารสำหรับทั้งสัปดาห์ เนื่องจากวันธรรมดาไม่มีเวลาทำอาหาร รวมถึงเสน่ห์ปลายจวักก็ไม่มี เธอจึงซื้ออาหารแช่แข็งไว้ติดบ้าน กลับบ้านมาก็ตั้งโต๊ะ อุ่นอาหารให้ตนและลูกๆพร้อมรับประทานได้ทันที
ชีวิตเช่นนี้ดำเนินมาเรื่อย จนถึงวันที่ มิโล ลูกชายคนที่สอง ได้รับเชิญไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านของ อาร์โนลด์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท เขาได้ลิ้มรสอาหารที่คุณพ่อของอาร์โนลด์ทำ ทั้งขนมปังอบใหม่จากเตาทาเนยชิ้นหนา กราแต็ง (มันฝรั่งอบเนยแข็ง) ปรุงรสด้วยเครื่องเทศหลากสี ปิดท้ายด้วย เค้กกลาฟูตีเชอร์รี่โรยน้ำตาล
มิโลเปรียบเทียบอาหารของบ้านเมนเดลโซนและอาหารที่ตนได้กินที่บ้าน และอยากให้แม่ทำอาหารให้กินสักครั้ง ทว่าแม่กลับปฏิเสธเพราะเหนื่อยจากการทำงาน มิโลและพี่น้องจึงตัดสินใจหัดทำอาหารกันเอง ลองผิดลองถูกกันไป อาหารไม่สุกบ้าง ส่วนผสมบูดบ้าง เป็นเรื่องราวตลกสนุกสนานที่พบได้ตลอดทั้งเรื่อง
นิยายสั้นเล่มนี้เขียนให้เด็กอายุไม่เกิน 9 ขวบอ่าน เห็นได้ว่าประเทศฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการปลูกฝังเรื่องความแตกต่างมาก กล่าวคือ ครอบครัวมีได้หลายรูปแบบ และบทบาทของสมาชิกในครอบครัวเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แล้วแต่สมาชิกในครอบครัวตกลง อย่างในเรื่อง Les zinzins de l'assiette นี้ ผู้ที่เป็น "ผู้รู้ด้านการครัว" คือ พ่อของอาร์โนลด์ ผู้ดูแลทุกอย่างในบ้านด้วยเช่นกัน ซึ่งบทบาท "ผู้ดูแลบ้าน" ในยุคก่อนมักถูกผูกไว้กับเพศหญิงมากกว่า เช่นที่มีคำเรียกว่า "Femme au foyer" (แม่บ้าน) แต่คำว่า พ่อบ้าน (Homme au foyer) กลับไม่มีในพจนานุกรม
ส่วนแม่ของมิโลก็เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่พยายามทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดทั้งในบ้านและนอกบ้าน แม้เธอจะซื้ออาหารแช่แข็ง แต่ก็คำนึงเสมอว่าลูกต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ดังที่กล่าวกับมิโลและพี่น้องซึ่งกำลังเห่ออาหารทำเอง และไม่ยอมกินโยเกิร์ตว่า "แต่ยังไงลูก ๆ ก็ต้องกินแคลเซียม ต้องกินผลิตภัณฑ์จากนมบ้าง"
ถึงแม่เพี้ยน หนูก็รัก (The Illustrated Mum) ของ แจ๊กเกอลีน วิลสัน (สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์)
ข้ามมาทางประเทศอังกฤษบ้าง เรื่อง ถึงแม่เพี้ยน หนูก็รัก (The Illustrated Mum, 1999) เป็นนวนิยายที่เล่าเรื่องของ แมรี่โกลด์ และลูกสาวสองคนชื่อ สตาร์ และ ดอลฟิน ทั้งสองคนเกิดจากพ่อคนละคนกัน
แมรี่โกลด์มีรอยสักทั้งตัว บางเวลาเธอก็นิ่งเงียบเหมือนมีเกราะป้องกันไม่ให้ใครเข้าถึงได้ บางเวลาเธอก็โลดแล่นอยู่ในความสุข เธอไม่เคยวางแผนเรื่องเงินทอง มีเท่าไหร่ก็ใช้ ไม่มีก็พยายามหามาจนได้
สามแม่ลูกอาศัยอยู่ในแฟลตเคหะทรุดโทรมของรัฐ ประทังชีวิตด้วยเงินสนับสนุนของรัฐบาล ไม่มีเสื้อผ้าใหม่ ๆ สวย ๆ ใส่ สตาร์นั้นหน้าตาดีแต่เธอใจร้ายกับแม่บ่อยครั้งเพราะอับอายที่แม่ “ไม่ปกติ” เหมือนแม่คนอื่น ส่วนดอลฟินเป็นเด็กขี้อายแต่เธอก็ภูมิใจในความไม่เหมือนใครของแม่มากที่สุด
วันหนึ่ง แมรี่โกลด์ได้พบกับมิกกี้ คนรักเก่าที่เธอไม่เคยลืม และเขาคือพ่อของสตาร์ มิกกี้ดีใจที่รู้ว่าตัวเองมีลูกสาววัยรุ่น จึงมาเยี่ยมสตาร์บ้าง แต่เขาไม่ได้รักแมรี่โกลด์เลย มิกกี้จึงชวนสตาร์และดอลฟินไปอยู่กับเขาเพราะรู้ว่าแมรี่โกลด์ “ไม่ปกติ” สักเท่าไร
เมื่อสตาร์จากไป แมรี่โกลด์เสียใจมากจนเอาสีมาทาทับรอยสักเพราะสตาร์เกลียดรอยสักของเธอ เธอคิดว่าการลบรอยสักคือการกลับสู่ “ความปกติ” และสตาร์จะกลับมาหาเธอ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความรักที่มีให้ลูกก็มากกว่าความรักที่มีต่อรอยสักอันเป็นชีวิตและตัวตนของเธอเสมอ
บ้านเลี้ยงเดี่ยว ของ 'สองขา'
เรื่องสุดท้ายเป็นหนังสือภาพของคุณ “สองขา” นักเขียนที่ปลูกฝังเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายในสังคมผ่านหนังสือเด็กมาหลายเรื่อง
ในหนังสือภาพเรื่อง บ้านเลี้ยงเดี่ยว นี้ เราจะเห็นภาพครอบครัวที่มีแค่ “พ่อหรือแม่” แต่พยายามทำหน้าที่เป็น “พ่อและแม่” ได้ดีที่สุด ฉากที่ประทับใจ คือ ฉากงานวันพ่อ/วันแม่ที่โรงเรียน ที่มักเป็นประเด็นในสังคมปัจจุบันว่า ต้องมีเด็กร้องไห้ทุกครั้งที่ตัวเองไม่มีพ่อหรือแม่ หนังสือเล่มนี้ก็ช่วยหาคำอธิบายให้เด็ก ๆ ที่ต้องเจ็บปวดกับงานวันพ่อหรือวันแม่ได้ดีทีเดียว
น่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้ไม่มีวางขายแล้ว และผู้เขียนเองก็ได้ส่งต่อหนังสือเล่มนี้ให้ผู้อื่นไปแล้วเช่นกัน หวังว่าวันหนึ่งจะพิมพ์ซ้ำอีกสักรอบ
เด็ก ๆ และผู้ใหญ่ที่เติบโตมากับแม่เลี้ยงเดี่ยว (หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวด้วย) ก็จะเข้าใจความรักและความพยายามของแม่หรือพ่อมากขึ้น และได้รู้ว่าครอบครัวที่มีเพียงแม่หรือพ่อคนเดียว ก็เป็นครอบครัวที่อบอุ่นและมีสีสันได้
ทั้งนี้ แม่และพ่อเลี้ยงเดี่ยวในประเทศไทยคงไม่ต้องพยายามมากเท่าที่เป็นอยู่ หากประเทศไทยมีหน่วยงานรัฐและเอกชนที่สนับสนุนและช่วยเหลือมากขึ้น รวมถึงสังคมไทยเองก็ต้องใจดีกับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากกว่านี้ด้วยเช่นกัน
ไม่มีเด็กคนไหนอยากเห็นภาพเก้าอี้ที่ว่างเปล่าตรงหน้าในงานวันพ่อหรือแม่
ไม่มีเด็กคนไหนอยากได้ยินคำถามว่าพ่อหรือแม่ของหนูหายไปไหน
และไม่มีเด็กคนไหนอยากรู้สึกแตกต่างเพราะไม่มีพ่อหรือแม่
ขอเป็นกำลังใจให้แม่และพ่อเลี้ยงเดี่ยวทุกท่าน รวมถึงเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ที่เติบโตในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวค่ะ