Skip to main content

ฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ทำโครงการเกษตรกรรมที่สนับสนุนโดยชุมชน (CSA) โดยมี 80 ครอบครัวในชุมชนช่วยดูแลค่าใช้จ่ายของฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ แลกกับผลผลิตสดใหม่จากฟาร์ม

เมื่อคิดถึงการทำฟาร์ม หลายคนอาจไม่คิดว่าลูกค้าจะเข้ามาแบ่งปันความเสี่ยง แต่ไม่ใช่กับที่ฟาร์ม “เอคโค่วัลเลย์” เพราะ แรนดัลกับจวนนิต้า บรีน ผู้ก่อตั้งฟาร์มแห่งนี้ ใช้ระบบ โครงการเกษตรกรรมที่ขอการสนับสนุนจากชุมชน (Community Supported Agriculture หรือ CSA) ซึ่งเป็นรูปแบบการทำฟาร์มที่จะแจกจ่ายผลผลิตทางการเกษตรให้กับสมาชิก เพื่อแลกกับการสนับสนุนทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ โดยคนในชุมชนสมัครเป็นสมาชิกเป็นระยะเวลา 6 ถึง 12 เดือน เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนทางการเงินกับฟาร์มแห่งนี้ ไม่ว่าจะเผชิญสถานการณ์หรือเจอความเสี่ยงใดๆ

แรนดัล และจวนนิต้า บรีน ผู้ก่อตั้งฟาร์มเอคโค่วัลเลย์ ที่มา : เฟสบุ๊ก  Echo Valley Farms 

 

แรนดัล และจวนนิต้า ไม่มีประสบการณ์ด้านเกษตรกรรมเลย เมื่อพวกเขาตัดสินใจทิ้งทุกอย่างและลาออกจากงานประจำ เพื่อมาก่อตั้ง “ฟาร์มเอคโค่วัลเลย์” ในปี 2014 แต่ปัจจุบันนี้ ฟาร์มของพวกเขาทำหน้าที่ผลิตผลิตผลทางการเกษตรที่สดใหม่เพื่อมอบให้กับ 80 ครอบครัวทุกสัปดาห์

“ก่อนเราจะตัดสินใจมาทำฟาร์มตรงนี้ เราถามตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำ มันดีต่อสัตว์ ที่ดิน เกษตรกร และคนทั่วไปหรือไม่” แรนดัลกล่าว

เกษตรกรรุ่นแรกของครอบครัวอย่างแรนดัลและจวนนิต้า วางแผนล่วงหน้า 100 ปี เพื่อฟื้นฟูผืนดินที่ขาดพืชพันธุ์ในรัฐควีนส์แลนด์ โดยทำการปลูกต้นไม้และพืชพันธุ์ต่างๆ และใช้วิธีที่ปลอดสารเคมีในการฟื้นชีวิตให้กับดิน รวมถึงเลี้ยงสัตว์ที่ช่วยในการดูแลรักษาผืนดินของพวกเขาด้วย

 

ที่มา : เฟสบุ๊ก  Echo Valley Farms 

 

ในปี 2019 ออสเตรเลียเกิดภัยแล้งรุนแรง สมาชิกเลือกที่จะขอลดปริมาณไข่ เนื้อหมู และเนื้อวัวที่ได้รับ แต่ยังคงจ่ายเงินสนับสนุนฟาร์มในจำนวนเท่าเดิม ซึ่งช่วยให้สถานการณ์ของฟาร์มเอคโค่วัลเลย์ไม่ย่ำแย่จนเกินไป และสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งเมื่อถึงฤดูฝน

อย่างไรก็ตาม แรนดัลระบุว่า “ตอนที่ยากลำบากพวกเขาไม่ทิ้งเรา เมื่อถึงฤดูกาลแห่งความอุดมสมบูรณ์ เราได้ผลผลิตมากมาย สมาชิกก็จะได้รับผลผลิตที่มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน”

แนวคิดนี้ถูกใจ สก็อตต์ ทรัดเก็ตต์ อย่างมาก จนทำให้เขาตัดสินใจขับรถเป็นเวลาสองชั่วโมงเพื่อไปเยี่ยมชมฟาร์มของแรนดัลและจวนนิต้า และสมัครเป็นสมาชิกที่ให้การช่วยเหลือฟาร์มแห่งนี้อย่างสม่ำเสมอ  ทรัดเก็ตต์เล่าว่า ครอบครัวของเขามีสมาชิกทั้งหมด 6 คน และส่วนใหญ่พวกเขาจะซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตราคาประหยัด แต่หลังจากสมัครเป็นสมาชิกของฟาร์มแล้ว พวกเขาจะได้รับเนื้อและไข่ที่ส่งตรงจากฟาร์มทุกเดือน

“การได้รับอาหารสดจากฟาร์มโดยตรงทุกเดือนเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะเรารู้ว่ามันคืออาหารที่มีคุณภาพ และเราก็สามารถขับรถไปดูฟาร์มที่ผลิตอาหารให้กับพวกเราได้” ทรัดเก็ตต์กล่าว

 

ที่มา : เฟสบุ๊ก  Echo Valley Farms 

 

ที่มา : เฟสบุ๊ก  Echo Valley Farms 

 

โครงการเกษตรกรรมที่สนับสนุนโดยชุมชน (CSA) ถือเป็นธุรกรรมที่มีคุณค่าระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค ในรูปแบบที่ห่วงโซ่อุปทานเชิงพาณิชย์ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมันคือการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตอาหาร การจำหน่าย และการบริโภค แทนที่จะมองว่าขั้นตอนเหล่านี้เป็นธุรกรรมทางการตลาดเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ การทำเกษตรในรูปแบบนี้ ยังสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพของสัตว์ แม้จะไม่ได้ทำให้มีกำไรมากนัก แต่มันจะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถปลูกพืชที่พวกเขาชื่นชอบและสนใจ พร้อมได้อยู่ในพื้นที่ที่พวกเขาเป็นคนดูแลจริงๆ

แม้ตอนนี้ปัจจัยเรื่องราคาจะยังเป็นอุปสรรคสำหรับหลายคน เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรที่สมาชิกได้รับอาจยังมีราคาแพง เมื่อเทียบกับราคาสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ราคาที่สูงก็สะท้อนให้ถึงต้นทุนในการผลิตผลผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และถือเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยอย่างยุติธรรม


อ้างอิง
Community-supported agriculture helping first-generation farmers heal their land
‘We call it our farm’: meet the Australians swapping supermarket shopping for farm shares