Skip to main content

กัปปิยนารถ วรรณสิริวิไล

 

นักธุรกิจ นายธนาคาร หรือวิศวกร อาจเป็นกลุ่มอาชีพที่ผู้คนนึกถึงเมื่อพูดถึงคนสิงคโปร์ แต่ชนชั้นรากหญ้า คนหาเช้ากินค่ำก็มีอยู่ทั่วไป และพวกเขาเหล่านี้ก็เป็นรากฐานความเจริญทางเศรษฐกิจ เบื้องหลังความรุ่งโรจน์และรุ่งเรืองของเกาะแห่งนี้เช่นกัน

ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในสิงคโปร์มีจำนวน 25% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคนไทยก็เป็นกลุ่มแรงงามข้ามชาติขนาดใหญ่ มีจำนวนมากกว่า 50,000 คน ตามข้อมูลของ สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์  ในจำนวนนี้สามารถแบ่งได้ 3 ประเภทหลัก ๆ คือ ผู้ทำงานบริการ-ก่อสร้าง, พนักงานออฟฟิศ, และผู้ที่แต่งงานกับคนสิงคโปร์ ซึ่งประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่นกัน

ในบทความนี้ “อ้อย” (นามสมมติ) ตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ที่แต่งงานกับชาวสิงคโปร์ จะพาทุกท่านไปสัมผัสชีวิตอีกด้านหนึ่งของสิงคโปร์

 

  • สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ 

เป็นหน่วยงานไทยในสถานเอกอัครทูตไทย ณ สิงคโปร์ จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2527 เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2528 โดยแรกเริ่มได้รับมอบหมายให้ดูแลแรงงานไทยในสิงคโปร์และมาเลเซีย


จุดเริ่มต้นสู่เกาะสิงคโปร์

 

เมื่อปี 2553 "อ้อย" หญิงไทยวัย 23 ปี ได้รับการชักชวนมาทำงานร้านอาหารไทยที่สิงคโปร์จากคนรู้จัก ในตอนแรกอ้อยกลัวว่าจะโดนหลอกมาขายบริการ แต่เธอก็มองว่าคุ้มค่าที่จะเสี่ยง เพราะงานที่สิงคโปร์รายได้ดีและมีที่พักให้ อ้อยจึงตัดสินใจเดินทางมาสิงคโปร์ เมื่อเดินทางมาถึงก็ได้ทำงานที่ร้านอาหารไทยจริง ๆ เจ้าของร้านเป็นคนไทย ช่วยออกใบอนุญาตทำงานให้ 2 ปี และพนักงานในร้านทุกคนก็เป็นคนไทย จึงทำให้การเป็นอยู่ในช่วงแรกค่อนข้างราบรื่น ไม่เงียบเหงา ไม่มีปัญหาด้านภาษา สามารถทำงานหาเงินได้เดือนละหลายหมื่นบาท มีเงินเก็บ และส่งเงินให้ครอบครัวที่ไทยได้

เมื่อทำงานครบ 2 ปี ก็ได้เวลาต่อวีซ่าทำงานใหม่ รอบนี้เจ้าของร้านอาหารที่ทำงานด้วยไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เนื่องจากธุรกิจเริ่มติดขัด แต่อ้อยยังอยากทำงานที่สิงคโปร์ต่อ เพราะเธอเป็นเสาหลักของครอบครัวและเธอก็ชอบชีวิตที่สิงคโปร์ อ้อยจึงเริ่มมองหางานอื่นทำ พยายามเดินถามตามร้านอาหารต่าง ๆ ถามคนรู้จัก ถามสถานทูต และกลุ่มหางานในกลุ่มเฟสบุ๊ก

แต่งานที่สิงคโปร์หายากมากหากไม่มีใบอนุญาตทำงานและนายจ้างไม่มีโควตาจ้างลูกจ้างต่างชาติ กระนั้น งานที่เปิดรับส่วนมากคือ “สาวนั่งดริ๊ง” ในสถานบันเทิง ซึ่งเจ้าของร้านสามารถออกใบอนุญาตทำงาน 6 เดือนให้ได้ทันที และรายได้ก็ดีกว่าทำงานร้านอาหาร แต่อ้อยไม่อยากทำงานลักษณะนี้ ประกอบกับความคิดที่ว่าตนเองไม่สวย เธอจึงดั้นด้นหาวิธีอื่นต่อไป

 

  • สาวนั่งดริ๊ง

หญิงสาวที่ทำหน้าที่สร้างความบันเทิง เช่น เต้น ร้องเพลง นั่งคุย นั่งดื่มกับแขกที่มาเที่ยวสถานบันเทิง อีกนัยหนึ่งคือหญิงที่ขายบริการทางเพศในสถานบันเทิง

การแต่งงานกับคนสิงคโปร์เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เพื่อนคนไทยที่นั่นแนะนำ  ซึ่งเธอไม่รู้สึกลำบากใจแต่อย่างใดกับการคบหาดูใจคนต่างชาติในระยะเวลาสั้น ๆ และแต่งงานกันในที่สุด เพราะเธอเองก็ต้องการที่พึ่ง เพื่อเริ่มต้นสร้างครอบครัวและสร้างเนื้อสร้างตัวไปด้วยกันบนเกาะแห่งนี้

แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ อ้อยไม่สามารถหา ‘ว่าที่สามี’ ได้ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เธอจึงมุ่งมั่นทำงานเก็บเงินอย่างเดียว ไม่ได้สนใจเวลามีคนเข้ามาสานสัมพันธ์เลย ค่าจ้าง บริษัทหาคู่ ก็ค่อนข้างแพง แต่สุดท้ายเธอก็ได้ทำความรู้จักกับสามีผ่านการแนะนำของเพื่อน และได้แต่งงานกันในปี 2555 อ้อยใช้ชีวิตอยู่ในสิงคโปร์ด้วยการถือบัตร LTVP+  โดยมีสามีเป็นสปอนเซอร์เรื่อยมา ช่วงแรกก็คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่อ้อยก็พยายามไปเรียนภาษาอังกฤษฟรีที่โบสถ์ คุยกับครอบครัวสามีทุกวัน ปัจจุบันอ้อยสามารถคุยได้ทั้งภาษาอังกฤษ จีนกลาง และจีนฮกเกี้ยน

 

  • บริษัทหาคู่ 

หรือตัวแทนจัดหาเจ้าสาวเพื่อแต่งงานกับชายสิงคโปร์ เป็นบริการที่ได้รับความนิยมมากในทศวรรษ  1970 ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีอยู่มาก ในปี 2014 คู่แต่งงาน 4 ใน 10 คู่ เป็นการแต่งงานระหว่างชาวสิงคโปร์กับชาวต่างชาติ โดยชาติที่ได้รับความนิยม คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เนื่องจากผู้คนจากสองประเทศนี้สามารถสื่อสารได้หลายภาษาและต้องการอพยพเข้ามาทำงานในสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก

  • บัตร LTVP+ (Long-Term Visit Pass Plus) 

วีซ่าสำหรับผู้อยู่อาศัยในสิงคโปร์ระยะยาว รัฐบาลออกแบบมาเพื่อคู่สมรสชาวต่างชาติของชาวสิงคโปร์ที่กำลังรอพิจารณาสถานะ PR (Permanent Rescidency) โดยมีสามี/ภรรยาชาวสิงคโปร์เป็นสปอนเซอร์ให้ วีซ่านี้สามารถสมัครงานทั่วไปได้ และมีสิทธิประโยชน์ทางสังคมบางประการ แต่ต้องทำการต่ออายุบัตรทุก 2 ปี

  • โบสถ์คริสต์ 

มักจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีนให้แก่ชาวต่างชาติโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเพื่อสังคมและเชิญชวนให้คนสนใจเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ โบสถ์ไทยทรูเวย์คือหนึ่งในโบสถ์ที่สอนภาษาให้แก่คนไทยฟรีทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00 - 16.00 น. และวันอังคาร เวลา 10.30 - 12.00 น. หลังเลิกเรียนมีกิจกรรมสังสรรค์เพื่อให้คนไทยในสิงคโปร์ได้รู้จักกัน


หญิงไทยในสายตาคนสิงคโปร์

 

สามีของอ้อยอายุมากกว่าเธอถึง 10 ปี และไม่เคยแต่งงานมาก่อน มีอาชีพดูแลสายพานการผลิตในบริษัทเคมีภัณฑ์ และ อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ใน HDB ขนาด 3 ห้องนอนย่าน Woodland อ้อยเผยว่า สามีของเธอชอบผู้หญิงไทย เพราะเคยไปเที่ยวเมืองไทยและพบว่าหญิงไทยสุภาพ อ่อนหวาน และเมื่อรู้จักกับอ้อยก็รู้สึกว่าเธอใจดี ยิ้มเก่ง

แม้ตอนนั้นยังพูดกันไม่เข้าใจก็มั่นใจว่าเธอจะเป็นภรรยาที่ดี ด้านอ้อยก็มองว่าสามีมีงานที่มั่นคง “ดูเป็นคนดี ขยันทำงาน ฝากผีฝากไข้ได้” เธอบอก ทั้งสองจึงตัดสินใจแต่งงานกัน

 

  • ลูกอาศัยอยู่กับพ่อแม่

แม้ว่าลูกจะมีงานทำแล้ว หรืออยู่ในวัยสร้างครอบครัว เป็นเรื่องปกติในสังคมสิงคโปร์ เพราะอสังหาริมทรัพย์มีราคาแพง และมีเงื่อนไขเฉพาะจึงจะมีสิทธิจองและซื้อห้องพักของรัฐบาลในราคาถูกกว่าปกติ เช่น ต้องแต่งงานกันเตรียมตัวสร้างครอบครัว หรือ อายุ 35 ปี ขึ้นไป

  • HDB 

ย่อมาจาก Housing and Development Board โครงการที่อยู่อาศัยของรัฐบาลในรูปแบบอพาร์ทเม้นต์หลากหลายขนาด ช่วยเหลือให้พลเมืองสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในราคาที่เอื้อมถึงได้

 

ปีแรก ๆ ของชีวิตแต่งงาน อ้อยไม่มีความสุขเลย เพราะเธอสัมผัสได้ถึงการดูแคลนและเลือกปฏิบัติจากพ่อแม่สามี ทั้งการเมินเหมือนเธอไม่มีตัวตน คำพูดกระแนะกระแหน ไม่ร่วมโต๊ะกินข้าว ขอร้องให้สามีเลิกกับเธอเพราะอายที่มีลูกสะใภ้เป็นคนไทย

อ้อยรู้สึกท้อแท้และโดดเดี่ยว ไม่สามารถคุยกับใครได้เลย สามีก็ช่วยอะไรไม่ได้ แต่เมื่ออดทนใช้ความขยันและจริงใจเข้าสู้ เธอก็สามารถเอาชนะอคติของพ่อแม่สามีได้

อ้อยเล่าว่า พ่อแม่สามีคิดว่าคนไทยอัธยาศัยดี ยิ้มแย้ม ทำอาหารอร่อย แต่ผู้หญิงไทยที่มาทำงานต่างประเทศส่วนมากมักเป็นหญิงขายบริการ ชอบมาปอกลอกคนสิงคโปร์ และเป็นต้นเหตุให้ครอบครัวแตกแยก ตอนนั้นพวกเขาจึงไม่ชอบอ้อย คิดว่าเธอคบหากับสามีเพื่อเงิน ใช้มนต์ดำทำให้หลงรัก พ่อแม่พูดอะไรลูกชายก็ไม่เชื่อฟังเหมือนเมื่อก่อน ประกอบกับอยากให้ลูกชายแต่งงานกับคนสิงคโปร์ด้วยกัน หรืออย่างน้อยก็คนมาเลเซียเชื้อสายจีน เพราะมีวัฒนธรรมร่วมกันและ สถานะทางสังคม ที่ทัดเทียมกัน

 

  • สถานะทางสังคม

คนต่างชาติโดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักมาทำงานใช้แรงงานหรืองานบริการในสิงคโปร์ เช่น คนงานก่อสร้าง พนักงานบริการ พนักงานทำความสะอาด พี่เลี้ยงเด็ก เป็นต้น คนสิงคโปร์บางคนจึงมองว่าแรงงานต่างชาติเหล่านี้ยากจนและมีสถานะที่ต่ำกว่า

 

ถึง อาชีพขายบริการ จะไม่ผิดกฎหมาย และผู้หญิงไทยก็ไม่ได้ขายบริการทุกคน แต่ภาพจำของหญิงไทยในฐานะ sex worker จอมเจ้าเล่ห์ ยังคงเป็นอคติที่ฝังลึกในใจของคนสิงคโปร์รุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่บางส่วนเรื่อยมา อาจเป็นเพราะจำนวนหญิงขายบริการชาวไทยที่มีมากกว่าชาติอื่น หากไปเดินย่าน red light อย่าง Geylang, Flanders Square, Keong Saik Street และถนน Desker ก็จะได้ยินเสียงภาษาไทยเจื้อยแจ้วราวกับอยู่ประเทศไทยเลยทีเดียว

 

  • การขายบริการทางเพศ

การขายบริการทางเพศไม่ผิดกฎหมายในสิงคโปร์ หากลงทะเบียนและทำงานกับสถานขายบริการที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้ขายบริการจะต้องมีสัญชาติจีน, ไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย หรือ สิงคโปร์ อายุระหว่าง 21 - 35 ปี และถือบัตรสีเหลือง (Yellow Card System) ซึ่งมีอายุ 2 ปี ทำงาน 6-7 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีสวัสดิการทางการแพทย์ และต้องขออนุญาตเมื่อต้องการออกนอกอาณาเขตสถานบริการ เมื่อทำงานครบ 2 ปีจะถูกห้ามไม่ให้เข้าสิงคโปร์ตลอดชีวิต ดังนั้นผู้ขายบริการทางเพศจึงนิยมขายบริการอย่างผิดกฎหมายในร้านนวด สถานบันเทิง หรือริมถนน

 

อ้อยไม่คิดว่างานขายบริการทางเพศเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เพราะเพื่อน ๆ คนไทยหลายคนที่ทำงานนี้ก็เป็นคนปกติ อัธยาศัยดี สะอาดสะอ้าน และตั้งใจทำงานเก็บเงิน

“ไม่มีใครอยากมาทำงานนี้” อ้อยกล่าว ไม่มีใครอยากเสี่ยงโดนจับ ไม่มีใครอยากเสี่ยงติดโรค และไม่มีใครอยากโดนสังคมตราหน้า หญิงขายบริการมากมายยอมมาทำงานที่สังคมมองว่าไม่สุจริต ขายศักดิ์ศรี ก็เพราะพวกเธอต้องแบกรับภาระมากมายในชีวิต และจำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพในสังคมอันโหดร้าย

ส่วนผู้คนในสังคมการทำงานของอ้อย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้านชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน อินเดีย มาเลย์ หรือชาติอื่น ๆ ต่างก็ปฏิบัติกับอ้อยอย่างเป็นมิตรเมื่ออ้อยไปทำความสะอาด อาจเพราะอาชีพของเธอที่ไม่ต้องสร้างความผูกพันกับใคร และไม่มีใครสนใจว่าแม่บ้านที่มาทำความสะอาดบ้านของพวกเขามีสัญชาติอะไร แต่คนไทยก็มีชื่อเสียงในวงการเมด แม่บ้าน พี่เลี้ยง ว่าทำงานละเอียด สะอาด สุภาพ และไว้ใจได้ และครั้งที่อ้อยยังทำงานในร้านอาหารไทย ลูกค้าส่วนมากก็มีฟีดแบคที่ดีว่าพนักงานคนไทยสุภาพ บริการดี และเป็นมิตร คำชมเหล่านี้นับเป็นขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจในการทำงานของอ้อยและคนไทยทุกคนในสายงานบริการ
 

‘ดอกหญ้าในเกาะปูน’ อีกด้านของความเจริญผ่านสายตาหญิงไทยในสิงคโปร์ ตอน 2

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน