Skip to main content

Repair Café คือ สถานที่พบปะสังสรรรค์ที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ โดยคุณจะพบกับเครื่องมือและวัสดุที่จำเป็นในการซ่อมแซม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จักรยาน ไปจนถึงของเล่น

การรู้วิธีการซ่อมแซมสิ่งของ ถือเป็นทักษะที่กำลังค่อยๆ หายไปอย่างรวดเร็ว และนี่อาจจะเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตที่ยั่งยืน ต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสุดขั้ว

ในแต่ละปี มนุษย์โยนทิ้งขยะจำนวนมากมายมหาศาล แม้แต่สิ่งของที่ต้องการการซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย ก็สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างปกติ ก็ถูกมนุษย์โยนทิ้งให้เป็นขยะไป เพียงเพราะพวกเขาไม่รู้วิธีการซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้ว่าต้องซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้อย่างไร จึงใช้ทางลัดที่ง่ายและรวดเร็ว คือ หากใช้งานไม่ได้แล้ว ก็จับโยนทิ้งให้เป็นขยะไปเสีย

นั่นคือสาเหตุว่าทำไม Repair Café ในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงเกิดขึ้น โดยกลุ่มอาสาสมัครจะมารวมตัวกันทุกบ่ายวันพุธ ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เพื่อใช้ทักษะการซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ของตัวเองในการคืนชีวิตให้กับเครื่องใช้ต่างๆ ที่ถูกนำมาที่คาเฟ่แห่งนี้ นอกจากนี้ อาสาสมัครเหล่านี้ยังทำงานร่วมกับทีมช่างผู้เชี่ยวชาญ เพื่อซ่อมแซมของใช้ที่ผุพังให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง โดยคาเฟ่แห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประหยัดเงินของลูกค้า และลดจำนวนขยะที่ไม่จำเป็น

ไม่เพียงเท่านั้น คนที่แวะเอาสิ่งของเครื่องใช้มาซ่อม ก็ยังได้เรียนรู้ทักษะการซ่อมแซมของใช้แบบง่ายๆ เพื่อเป็นทักษะติดตัว เอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เผื่อเกิดของใช้พังระหว่างใช้งานภายในบ้าน ก็สามารถใช้ทักษะที่ได้เรียนจากคาเฟ่แห่งนี้ในการซ่อมแซมเบื้องต้น

 

 

คงจะดีถ้าสิ่งของเครื่องใช้สามารถซ่อมแซมได้ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อของใหม่ ถ้าคุณมาที่คาเฟ่ของเรา คุณสามารถบริจาคเงินเพียง 1 ยูโรแลกกับเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องเก่าของคุณถูกซ่อมแซมให้กลับมาใช้ใหม่ได้ หรือคุณจะยอมจ่าย 60 ยูโร หรือ 100 ยูโร เพื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าอันใหม่” Kim Zuiver ผู้ดูแลคาเฟ่ กล่าว

สำหรับอาสาสมัครที่เป็นช่างซ่อมของคาเฟ่ ก็รู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์นี้ เพราะมันคือวิธีการหนึ่งในการช่วยเหลือเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่กำลังกลายเป็นเรื่องน่ากังวลและจำเป็นต้องได้รับการร่วมมือร่วมใจจากคนทุกภาคส่วน

“เราสามารถซ่อมสิ่งของเครื่องใช้ที่คนเอามาที่คาเฟ่ได้ประมาณ 80% ของทั้งหมด ซึ่งลูกค้าพึงพอใจมาก และพวกเราในฐานะช่างซ่อมก็ดีใจมากเช่นกัน สิ่งที่ดีที่สุดคือ ตอนกลับถึงบ้านและตระหนักได้ว่าพวกเราได้ช่วยเหลือผู้คนไปเยอะมาก พวกเรานี่แหละเป็นคนที่ทำให้พวกเขากลับบ้านไปอย่างมีความสุข” Edward Tonino หนึ่งในช่างซ่อมอาสาสมัคร กล่าว

โปรเจ็กต์ Repair Café เริ่มต้นขึ้นจาก Martine Postme ในปี 2007 เธอมุ่งมั่นที่จะสร้างความตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืนในระดับท้องถิ่น จึงเริ่มต้นทำ Repair Café แห่งแรกในอัมสเตอร์ดัม เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2009 และกลายเป็นคาเฟ่ที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในเวลาต่อมา นั่นทำให้ Martine ขยายโปรเจ็กต์ให้ใหญ่ขึ้น จนกระทั่งกลายเป็น Repair Café International Foundation องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ในปี 2011

ขณะนี้ Repair Café กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทั่วโลก ซึ่งมีร้านคาเฟ่อยู่ทั้งในประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา รวมทั้งอินเดียและญี่ปุ่น โดยพวกเขามุ่งมั่นจะรักษาทักษะการซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้ให้กับคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่สามารถซ่อมแซมได้ ไม่ใช่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

“หลังๆ มานี้คาเฟ่ค่อนข้างยุ่งเลยล่ะ ซึ่งเราคิดว่ามันเกี่ยวพันกับการที่ผู้คนจำนวนมากมีเงินน้อยลงหรือไม่มีเงินซื้อของใช้ใหม่ๆ และพวกเขาก็ยังอยากให้ของใช้ของพวกเขายังสามารถใช้งานได้ดีเหมือนเดิมนั่นเอง” Tonino กล่าวปิดท้าย

 

อ้างอิง
เว็บไซต์โปรเจ็กต์ Repair Café
Repair cafes: Instead of buying a new device this Christmas, take your current one to be fixed